พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. นิพพานสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39489
อ่าน  501

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 38

ปฐมปัณณาสก์

อนุสยวรรคที่ ๒

๙. นิพพานสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 38

๙. นิพพานสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๗ จำพวกเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นความเป็นสุข สำคัญว่าสุข ทั้งรู้ว่าเป็นสุข ในนิพพาน ตั้งใจมั่นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย มีปัญญาหยั่งทราบ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้เป็นบุคคลที่ ๑ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะความสิ้นอาสวะสู่ความสิ้นชีวิตของท่านนั้นไม่ก่อนไม่หลังกัน นี้เป็นบุคคลที่ ๒ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพานในระหว่าง นี้เป็นบุคคลที่ ๓ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 39

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพานในเมื่ออายุเลยกึ่ง นี้เป็นบุคคลที่ ๔ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก นี้เป็นบุคคลที่ ๕ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางตนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จักปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง นี้เป็นบุคคลที่ ๖ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลบางตนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าเป็นสุข ... มีปัญญาหยั่งทราบ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ นี้เป็นบุคคลที่ ๗ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

จบ นิพพานสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 40

อรรถกถานิพพานสูตรที่ ๙

นิพพานสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สุขานุปสฺสี ได้แก่ บุคคลผู้ตามเห็นด้วยญาณ (ปัญญา) อย่างนี้ว่า พระนิพพานเป็นสุข.

จบ อรรถกถานิพพานสูตรที่ ๙