พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39508
อ่าน  451

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 95

ปฐมปัณณาสก์

เทวตาวรรคที่ ๔

๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 95

๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร

[๓๕] ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ พึงกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ต่อการไม่นานเลย ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่าจิตของเราหดหู่ จิตท้อแท้ในภายใน ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่าจิตของเราท้อแท้ในภายใน หรือจิตฟุ้งซ่านไปภายนอก ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่าจิตของเราฟุ้งซ่านไปภายนอก เวทนาย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นทราบแล้ว สัญญาย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นทราบแล้ว วิตกย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ ไม่ได้ ภิกษุนั้นทราบแล้ว อนึ่ง นิมิตในธรรมเป็นที่สบาย ไม่เป็นที่สบาย เลว ประณีต ดำ ขาว และเป็นปฏิภาคกัน อันภิกษุนั้นเรียนดีแล้ว มนสิการดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล พึงกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย.

จบ ปฐมปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 96

อรรถกถาปฐมปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๗

ปฐมปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อิทมฺเม เจตโส ลีนตฺตํ ความว่า เมื่อจิตหดหู่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุย่อมรู้ตามสภาวะความเป็นจริงว่าจิตของเรานี้หดหู่ จิตไปตามถีนมิทธะชื่อว่าจิตหดหู่ในภายใน จิตที่กวัดแกว่งไปในกามคุณ ๕ ชื่อว่าจิตฟุ้งไปในภายนอก บทว่า เวทนา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยอำนาจมูลแห่งธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า. ด้วยว่าเวทนาเป็นมูลแห่งตัณหา เพราะตัณหาเกิดขึ้นด้วยอำนาจความสุข สัญญาเป็นมูลของทิฏฐิ เพราะทิฏฐิเกิดขึ้นในอวิภูตารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง วิตกเป็นมูลแห่งมานะ เพราะอัสมิมานะเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิตก. บทว่า สปฺปายา สมฺปาเยสุ ได้แก่ ที่เป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะ. บทว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ เหตุ. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๗