พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ปฐมนิททสสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39512
อ่าน  432

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 99

ปฐมปัณณาสก์

เทวตาวรรคที่ ๔

๑๑. ปฐมนิททสสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 99

๑๑. ปฐมนิททสสูตร

[๓๙] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นท่านคิดว่าเราจะเที่ยวไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถีก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีควรจะเรียกว่าภิกษุผู้นิททสะ ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้ว ลุกจากที่นั่งหลีกไปด้วยตั้งใจว่าเราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้วกลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัตเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์คิดว่าเราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ลำดับนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 100

ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีควรเรียกว่าภิกษุผู้นิททสะ แต่ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่าเราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อทรงบัญญัติภิกษุนิททสะด้วยเหตุเพียง การนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร จะไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้ ดูก่อนสารีบุตร วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว นิททสะวัตถุ ๗ ประการเป็นไฉน ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีฉันทะกล้าในการสมาทานสิกขา และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการสมาทานสิกขาต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการฟังธรรม และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการฟังธรรมต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการกำจัดความอยาก และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการกำจัดความอยากต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการหลีกออกเร้น และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการหลีกออกเร้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 101

ต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการปรารภความเพียร และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการปรารภความเพียรต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในสติเครื่องรักษาตัว และมีความรักอย่างลึกซึ้งในสติเครื่องรักษาตัวต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป ๑ ดูก่อนสารีบุตร วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ควรจะเรียกได้ว่าภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ก็ดี ... ๓๖ ปีก็ดี ... ๔๘ ปีก็ดี ก็ควรจะเรียกได้ว่าภิกษุนิททสะ.

จบ ปฐมนิททสสูตรที่ ๑๑