พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. ทุติยนิททสสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39513
อ่าน  375

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 102

ปฐมปัณณาสก์

เทวตาวรรคที่ ๔

๑๒. ทุติยนิททสสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 102

๑๒. ทุติยนิททสสูตร

[๔๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ครั้งนั้นท่านคิดว่าเราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพีก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านมีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีควรจะเรียกว่าภิกษุผู้นิททสะ ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่าเราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัตเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ข้าพระองค์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 103

ได้คิดว่าเราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงโกสัมพีก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ลำดับนั้น ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีควรเรียกว่าภิกษุผู้นิททสะ แต่ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่าเราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความของภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อทรงบัญญัติภิกษุนิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้ ดูก่อนอานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว นิททสะวัตถุ ๗ ประการเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ดูก่อนอานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ดูก่อนอานนท์ ภิกษุผู้ประกอบ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 104

ด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่าภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปีก็ดี ... ๓๖ปีก็ดี ... ๔๘ ปีก็ดี ก็ควรจะเรียกได้ว่าภิกษุผู้นิททสะ.

จบ ทุติยนิททสสูตรที่ ๑๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัปปมาทสูตร ๒. หิรีมาสูตร ๓. ปฐมสุวจสูตร ๔. ทุติยสุวจสุตร ๕. ปฐมสขาสูตร ๖. ทุติยสขาสูตร ๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร ๘. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร ๙. ปฐมวสสูตร ๑๐. ทุติยวสสูตร ๑๑. ปฐมนิททสสูตร ๑๒. ทุติยนิททสสูตร.

จบ เทวตาวรรที่ ๔