พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ทุติยอัคคิสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39518
อ่าน  409

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 113

ปฐมปัณณาสก์

มหายัญญวรรคที่ ๕

๔. ทุติยอัคคิสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 113

๔. ทุติยอัคคิสูตร

[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์ตระเตรียมมหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่าการก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ อุคคตสรีรพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

พ. ก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อความทั้งหมดของข้าพระองค์สมกันกับข้อความของท่านพระโคดม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 114

เมื่ออุคคตสรีรพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอุคคตสรีรพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ท่านควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด ลำดับนั้นอุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอท่านพระโคดมโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นย่อมเงื้อศาตรา ๓ ชนิดอันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ศาตรา ๓ ชนิดเป็นไฉน คือ ศาตราทางกาย ๑ ศาตราทางวาจา ๑ ศาตราทางใจ ๑ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาคิดว่าจะทำบุญแต่กลับทำบาป คิดว่าจะทำกุศลกลับทำอกุศล คิดว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 115

เงื้อศาตราทางใจข้อที่ ๑ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก.

อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมกล่าววาจา (สั่ง) อย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาสั่งว่าจะทำบุญกลับทำบาป เขาสั่งว่าจะทำกุศลกลับทำอกุศล เขาสั่งว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อบุคคลจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางวาจาข้อที่ ๒ นี้อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก.

อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมลงมือด้วยตนเองก่อน คือ ต้องฆ่าโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ แกะ เพื่อบูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญกลับทำบาป ลงมือว่าจะทำกุศลกลับทำอกุศล ลงมือว่าจะแสวงหาทางสุคติกลับแสวงหาทางทุคติ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางกายข้อที่ ๓ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตรา ๓ อย่างนี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึง เสพไฟ ๓ กองนี้ ๓ กองเป็นไฉน ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ก็เพราะเหตุไรจึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 116

เสพไฟคือราคะนี้ เพราะบุคคลผู้กำหนัดอันราคะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้ ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือผู้โกรธอันโทสะ ครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ โทสะนี้ เพราะบุคคลครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโทสะนี้ ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้ เพราะบุคคลผู้หลงอันโมหะครอบงำ ย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้แล ดูก่อนพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ๓ กองเป็นไฉน คือ ไฟคืออาหุไนยบุคคล ๑ ไฟคือคหบดี ๑ ไฟคือทักขิไณยบุคคล ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ก็ไฟคืออาหุไนยบุคคลเป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ คนในโลกนี้ คือ มารดาหรือบิดาเรียกว่าไฟคืออาหุไนยบุคคล ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะบุคคลเกิดมาแต่มารดาบิดานี้ ฉะนั้น ไฟคืออาหุไนยบุคคลจึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ก็ไฟคือคหบดีเป็นไฉน คนในโลกนี้คือ บุตร ภรรยา ทาส หรือคนใช้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 117

นี้เรียกว่าไฟคือคหบดี ฉะนั้น ไฟคือคหบดีจึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ก็ไฟคือทักขิไณยบุคคลเป็นไฉน สมณพราหมณ์ในโลกนี้ งดเว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนจิตใจให้สงบ ดับร้อนได้เป็นเอก นี้เรียกว่าไฟคือทักขิไณยบุคคล ฉะนั้น ไฟคือทักขิไณยบุคคลนี้จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ดูก่อนพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้แลควรสักการะ เคารพนับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ส่วนไฟที่เกิดแต่ไม้พึงก่อให้โพลงขึ้น พึงเพ่งดู พึงดับ พึงเก็บไว้ตามกาลที่สมควร.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จะปล่อยโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ให้ชีวิตมัน พวกมันจะได้พากันไปกินหญ้าอันเขียวสด ดื่มน้ำเย็นสะอาด และ รับลมอันเย็นสดชื่น.

จบ อคคิสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 118

อรรถกถาอัคคิสูตรที่ ๔

ทุติยอัคคิสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า อคฺคตสรีรสฺส ความว่า ได้ยินว่าพราหมณ์มหาศาลนั้นเป็นผู้สูงโดยอัตตภาพ ถึงสารสมบัติโดยโภคะ เพราะเหตุนั้นจึงปรากฏชื่อว่าพราหมณ์ผู้มีตัวสูง. บทว่า อุปกฺขโฏ ได้แก่ ตระเตรียม. บทว่า ถูณูปนีตานิ ได้แก่ นำเข้าไปสู่เสา กล่าวคือ หลักการกระทำบูชายัญ. บทว่า ยญฺยตฺถาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การฆ่าบูชายัญ บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่าพราหมณ์นั้นจัดเตรียมเครื่องประกอบยัญทั้งหมดนั้นแล้วคิดว่า ได้ยินว่าพระสมณะโคดมเป็นผู้มีปัญญามาก พระองค์จักตรัสสรรเสริญยัญของเราหรือหนอ หรือว่าตรัสติเตียน เราจักทูลถามจึงจะรู้ ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บทว่า อคฺคิสฺส อาธานํ ความว่า การก่อไฟอันเป็นมงคล ๙ ประการเพื่อบูชายัญ. ด้วยบทว่า สพฺเพน สพฺพํ นี้ อุคคตสรีรพราหมณ์แสดงว่าสูตรทั้งหมดที่เราฟังมาแล้ว ย่อมเทียบเคียงกันได้ ย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับสูตรทั้งหมด.

บทว่า สตฺถานิ ความว่า ที่ชื่อว่าศาสตร์เพราะเป็นเหมือนสัตราโดยอรรถว่าเป็นเครื่องเบียดเบียน.

บทว่า สยํ ปมํ สมารภติ ความว่า เริ่มด้วยตนเองก่อนทีเดียว. บทว่า หญฺนฺตุ แปลว่า จงฆ่า. บทว่า ปริหาตพฺพา แปลว่า พึงปริหาร. บทว่า อิโต หยํ ตัดเป็น อิโต หิ มาตาปิติโต อยํ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 119

แปลว่า ผู้นี้เป็นฝ่ายมารดาและบิดา. บทว่า อาหุโต แปลว่า มาแล้ว. บทว่า สมฺภูโต แปลว่า เกิดขึ้นแล้ว. บทว่า อยํ วุจฺจติ พฺราหฺมณ คหปตคฺคิ ความว่า หมู่บุตรและภรรยาเป็นต้นท่านเรียกว่า คหปตัคคิ เพราะเป็นเหมือนคหบดี เป็นเหมือนเจ้าเรือนเที่ยวไป. บทว่า อตฺตานํ ได้แก่ จิต. บทว่า ทเมนฺติ ได้เก่ ย่อมฝึกด้วยการฝึกอินทรีย์. บทว่า สเมนฺติ ได้แก่ สงบด้วยการสงบราคะเป็นต้น. อธิบาย ย่อมดับกิเลสด้วยการให้กิเลสมีราคะเป็นต้นดับสนิทไป. บทว่า นิกฺขิปิตพฺโพ ความว่า พึงวางไว้โดยประการที่จะไม่เสียหาย บทว่า อุปวายตํ ความว่า จงฟุ้งขจรไป. ก็แลพราหมณ์ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้วจึงมอบชีวิตแก่สัตว์ทั้งหมดนั้น แล้วทำลายโรงยัญ ประหนึ่งบ่อน้ำในศาสนาของพระศาสดาแล.

จบ อรรถกถาทุติยอัคคิสูตรที่ ๔