พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สังโยคสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39522
อ่าน  351

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 136

ปฐมปัณณาสก์

มหายัญญวรรคที่ ๕

๘. สังโยคสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 136

๘. สังโยคสูตร

[๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายอันเป็นสังโยคะทั้งวิสังโยคะแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระผู้มีภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมบรรยายอันเป็นสังโยคะทั้งวิสังโยคะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็หญิง ย่อมสนใจสภาพแห่งหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง เขาย่อมยินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ เขายินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย ย่อมยินดีพอใจในสภาพของชายนั้นๆ เขายินดีพอใจในสภาพของชายนั้นๆ แล้ว ย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับชายและสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชายเป็นเหตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งหญิงก็ถึงความเกี่ยวข้องในชายด้วยอาการอย่างนี้แล หญิงจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งหญิงไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมสนใจสภาพแห่งชายในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาย่อมยินดีพอใจในสภาพของตน เขายินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของหญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง ย่อมยินดีพอใจในสภาพของหญิงนั้นๆ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 137

แล้วย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับหญิงและสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับหญิงเป็นเหตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะแห่งชายก็ถึงความเกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แลชายจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกี่ยวข้องย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนความไม่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมไม่สนใจในสภาพของหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ย่อมไม่สนใจถึงสภาพแห่งชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับแห่งชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับชายในภายนอกและสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิงก็ถึงความไม่เกี่ยวข้องในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แลหญิงจึงล่วงพ้นสภาพแห่งหญิงไปได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมไม่สนใจในสภาพแห่งชาย กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่สนใจถึงสภาพแห่งหญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิงนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับหญิงในภายนอกและสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมนั้นเป็นเหตุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 138

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่พอใจในสภาพแห่งชายก็ถึงความไม่เกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้องย่อมมีอาการอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลชื่อว่าธรรมบรรยายอันเป็นทั้งสังโยคะและวิสังโยคะ.

จบ สังโยคสูตรที่ ๘

อรรถกถาสังโยคสูตรที่ ๘

สังโยคสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สญฺโยควิสญฺโยคํ ความว่า ได้แก่การทำการประกอบและการไม่ประกอบให้สำเร็จ. บทว่า ธมฺมปริยายํ ได้แก่ เหตุแห่งธรรม บทว่า อชฺฌตฺตํ อิตฺถินฺทริยํ ได้แก่ ความเป็นหญิงภายในของตน. บทว่า อิตฺถีกุฏฺฏํ ได้แก่ กิริยาของหญิง. บทว่า อิตฺถากปฺปํ ได้แก่ มารยาทของหญิงมีการนุ่งและการห่มเป็นต้น. บทว่า อิตฺถีวิธํ ได้แก่ การไว้ตัวของหญิง. บทว่า อิตฺถิจฺฉนฺทํ ได้แก่ ความพอใจอัธยาศัยของหญิง. บทว่า อิตฺถิสฺสรํ แปลว่า เสียงของหญิง. บทว่า อิตฺถาลงฺการํ ได้แก่ เครื่องประดับของหญิง แม้ในปุริสินทรีย์ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า พหิทฺธาสํโยคํ ได้แก่ สมาคมกับบุรุษ บทว่า อติวตฺตติ สัตว์ล่วงพ้น (ความเป็นหญิงความเป็นชาย) เพราะได้บรรลุอริยมรรคด้วยวิปัสสนามีกำลังที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่าไม่ยินดียิ่ง. ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

จบ อรรถกถาสังโยคสูตรที่ ๘