พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. มาตาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39524
อ่าน  525

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 146

ปฐมปัณณาสก์

มหายัญญวรรคที่ ๕

๑๐. มาตาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 146

๑๐. มาตาสูตร

[๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะจาริกไปในทักษิณาคีรีชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล นันทมารดาอุบาสิกาชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ ประทับรอฟังจนจบ ขณะนั้น นันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบแล้วนิ่งอยู่ ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบว่ากถาของนันทมารดาอุบาสิกาจบแล้ว จึงทรงอนุโมทนาว่า สาธุ น้องหญิง สาธุ น้องหญิง นันทมารดาอุบาสิกาถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า.

เว. ดูก่อนน้องหญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ.

น. ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้เป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน.

เว. ดูก่อนน้องหญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉัน พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 147

ลำดับนั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป นันทมารดาอุบาสิกาสั่งบุรุษผู้หนึ่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า เดินทางมาถึงเวฬุกัณฏกนคร นันทมารดาอุบาสิกกาจึงเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน จงไปยังอาราม บอกภัตตกาลแด่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นเป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของแม่เจ้านันทมารดาสำเร็จแล้ว บุรุษนั้นรับคำนันทมารดาอุบาสิกาแล้ว ไปยังอาราม บอกภัตตกาลแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตหารในนิเวศน์ของแม่เจ้านันทมารดาสำเร็จแล้ว ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของนันทมารดาอุบาสิกา นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น นันทมารดาอุบาสิกาอังคาสภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน ครั้นทราบว่าท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ลงมือลงจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ดูก่อนนันทมารดา ใครบอกกาลมาถึงของภิกษุสงฆ์แก่ท่านเล่า นันทมารดาอุบาสิกากราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบแล้วนั่งอยู่ ลำดับนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทราบถึงการจบคาถาของดิฉันแล้ว ทรงอนุโมทนา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 148

ว่า สาธุ น้องหญิง สาธุ น้องหญิง ดิฉันถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ท้าวเวสสวัณตอบว่า ดูก่อนน้องหญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ ดิฉันกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้จงเป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ท้าวเวสสวัณกล่าวว่า ดูก่อนน้องหญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับฉันด้วย พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จงเป็นไปเพื่อความสุขแด่ท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด.

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านเจรจากันต่อหน้าได้กับท้าวเวสสวัณมหาราชซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มีศักดิ์มากอย่างนี้.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีบุตรน้อยอยู่คนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ พระราชาได้ข่มขี่ปลงเธอเสียจากชีวิตในเพราะเหตุเพียงนิดเดียว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อบุตรของดิฉันนั้น ถูกจับแล้วก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังถูกจับก็ดี ถูกฆ่าแล้วก็ดี กำลังจะถูกฆ่าก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังถูกประหารก็ดี ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเลย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 149

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สามีของดิฉันกระทำกาละแล้วเกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาแสดงตนแก่ดิฉันด้วยรูปร่างอย่างครั้งก่อนทีเดียว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิต เพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย.

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันยังสาวถูกส่งตัวมาให้แก่สามีหนุ่ม ไม่เคยคิดที่จะนอกใจเลย ไฉนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า.

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้แกล้งล่วงสิกขาบทอะไรๆ เลย.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 150

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันหวังอยู่เพียงใด ดิฉันสงัดจากกาม สงัดอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็น ธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปิติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่เพียงนั้น.

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว.

น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่พิจารณาเห็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อใดข้อหนึ่งอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วบางข้อที่ยังละไม่ได้ในตน.

สา. ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 151

ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้นันทมารดาอุบาสิกาเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.

จบ มาตาสูตรที่ ๑๐

อรรถกถามาตาสูตรที่ ๑๐

มาตาสูตรที่ ๑๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยอัตถุปปัตติเหตุเกิดแห่งเรื่อง ดังต่อไปนี้.

ได้ยินว่า พระศาสดาทรงจำพรรษาปวารณาแล้ว ทรงละพระอัครสาวกทั้งปวงไว้ เสด็จออกไปด้วยหมายจะเสด็จจาริกในทักขิณาคิรีชนบท. พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี วิสาขามหาอุบาสิกา และชนอื่นเป็นอันมาก ไม่สามารถจะให้พระศาสดาเสด็จกลับได้. ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีนั่งครุ่นคิดในที่ลับว่าเราไม่สามารถจะให้พระศาสดาเสด็จกลับได้. ลำดับนั้น นางทาสีชื่อปุณณาเห็นเข้า แล้วจึงถามว่า นายท่านมีอินทรีย์ไม่ผ่องใสเหมือนแต่ก่อน เป็นเพราะเหตุไรเจ้าคะ ท่านคฤหบดีตอบว่า จริงสิ ปุณณา พระศาสดาเสด็จออกไปสู่ที่จาริกแล้ว ข้าไม่อาจ ทำให้พระองค์เสด็จกลับได้ ทั้งก็ไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาเร็วหรือไม่ เพราะเหตุนั้นข้าจึงนั่งครุ่นคิดอยู่. นางทาสีถามว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 152

ถ้าดิฉันให้พระทศพลเสด็จกลับได้เล่า ท่านเศรษฐีจะทำอย่างไรแก่ดิฉันเจ้าคะ ท่านคฤหบดีตอบว่า ข้าจะทำให้เจ้าเป็นไทสิ. นางทาสีไปถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับเถิดพระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่าเพราะเหตุที่เรากลับเจ้าจักกระทำอะไรเล่า? นางทาสีทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงทราบว่าข้าพระองค์เป็นคนอาศัยผู้อื่นเขา หม่อนฉันไม่อาจทำอะไรอื่นได้ แต่หม่อมฉันจักตั้งอยู่ในสรณะ รักษาศีล ๕. พระศาสดาตรัสไว้ว่า ดีละ ดีละ ปุณณา แล้วเสด็จกลับเพียงย่างพระบาทไปก้าวเดียวเท่านั้น เพราะความเคารพในธรรม. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคารพในธรรม มีธรรมเป็นที่เคารพ. พระศาสดาเสด็จกลับเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร. มหาชนได้ให้สาธุการพันหนึ่งแก่นางปุณณา. พระศาสดาทรงแสดงธรรมในสมาคมนั้น. สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ฝ่ายนางปุณณา อันเศรษฐีอนุญาตได้ไปสู่สำนักของนางภิกษุณีแล้วบรรพชา. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ตรัสเรียกพระสารีบุตรและมหาโมคคัลลานะมาแล้วตรัสว่า เราออกจาริกไป ณ ทิศใด เราจะไม่ไปในทิศนั้น พวกเธอพร้อมบริษัทของเธอ จงไปจาริก ณ ทิศนั้น ดังนี้แล้วจึงส่งไป. คำอาทิว่า เอกํ สมยํ อายฺสมา สารีปุตฺโต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพราะอัตถุปปัตติเหตุเกิดขึ้นแห่งเรื่องนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุกณฺฏกี ได้แก่ ผู้อยู่เมืองเวฬุกัณฏกะ. ได้ยินว่า ชาวเมืองเหล่านั้นพากันปลูกต้นไผ่รอบ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 153

กำแพงเพื่อจะรักษากำแพงเมืองนั้น. เพราะเหตุนั้น เมืองนั้นจึงมีชื่อว่าเวฬุกัณฏกะนั่นแล. บทว่า ปารายนํ ความว่า ซึ่งธรรมอันได้โวหารว่าปารายนะเพราะเป็นที่ดำเนินไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน. บทว่า สเรน ภาสติ ความว่า นันทมารดาอริยสาวิกานั่งในที่มีอารักขาอันเขาจัดแจงไว้ดีแล้วบนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น ให้ครึ่งราตรีผ่านล่วงไปด้วยกำลังแห่งสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วคิดว่าเราจักให้ราตรีที่เหลือเพียงเท่านี้ผ่านล่วงไปด้วยความยินดีเพียงไหน? แล้วกระทำความตกลงว่าจะให้ผ่านล่วงไปด้วยความยินดีในธรรม ดังนี้แล้ว นั่งบรรลุผล ๓ จึงกล่าวปารายนสูตรประมาณ ๒๕๐ คาถา โดยทำนองสรภัญญะอันไพเราะ

บทว่า อสฺโสสิ โข ความว่า ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงตรวจดูวิมานอันตั้งอยู่ในอากาศแล้ว ขึ้นสู่ยานนาริวาหนะ เสด็จออกไปโดยทางอันผ่านส่วนเบื้องบนปราสาทนั้น ได้ยินเสียง (ปารายนสูตร) แล้ว. บทว่า กถาปริโยสานํ อาคมยมาโน อฏฺาสิ ความว่า ท้าวเวสวัณมหาราชนั้น ครั้นตรัสถามว่าพนายนั่นเสียงอะไร เมื่อ ยักขบริษัททูลว่านั่นคือเสียงสวดโดยทำนองสรภัญญะของนันทมารดาอุบาสิกา ดังนี้แล้ว เสด็จลงรอคอยการจบเทศนานี้ว่าอิทมโวจ แล้วประทับยืนบนอากาศในที่ไม่ไกลนัก. บทว่า สาธุ ภคินิ สาธุ ภคินิ ความว่า ท้าวเวสวัณมหาราชตรัสว่า พี่ท่าน พระธรรมเทศนาท่านรับมาดีแล้ว กล่าวดีแล้ว เราไม่เห็นอะไรที่จะต่างกันระหว่างวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่ปาสาณกเจดีย์ตรัสแก่ปารายนิกพราหมณ์ ๑๖ คน และที่นี้ ท่านกล่าววันนี้ คำที่นี่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 154

ท่านกล่าวแล้วเป็นเสมือนกับพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสแล้วนั่นแล. เหมือนกับทองที่ขาดตรงกลาง เมื่อจะให้สาธุการจึงตรัสอย่างนั้น.

บทว่า โก ปเนโส ภทฺรมุข ความว่า เพราะเสียงที่ดังถึงเพียงนี้ ก้องไปในที่ๆ มีอารักขาไว้ดังนี้ นันทมารดาอริยสาวิกาผู้บรรลุผล ๓ แล้ว ปราศจากความเกรงกลัว ปิดหน้าต่างมีสีเหมือนแผ่นทองคำ กล่าวว่า พ่อปากดี พ่อปากงาม ท่านนี้เป็นใคร เป็นนาคหรือครุฑ เป็นเทวดา เป็นมาร หรือเป็นพรหม ดังนี้แล้ว เมื่อจะกล่าวกับท้าวเวสวัณจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า อหนฺเต ภคนิ ภาตา ความว่า ท้าวเวสวัณทรงสำคัญพระอริยสาวิกาผู้เป็นพระอนาคามีว่าพี่ เพราะพระองค์เองเป็นพระโสดาบัน จึงตรัสว่าภคินิพี่ท่าน แล้วจึงสำคัญพระอริยสาวิกาผู้เป็นพระอนาคามีนั้นนั้นว่าเป็นน้องของพระองค์อีกเพราะนางยังอยู่ในปฐมวัย แต่พระองค์แก่กว่าเพราะทรงมีพระชนมายุ ๙ ล้านปีแล้ว จึงตรัสเรียกพระองค์เองว่าภาตา พี่ชาย.

บทว่า สาธุ ภฺทรมุข ความว่า ท่านผู้มีภักตร์อันเจริญ การมาของท่านเป็นประโยชน์ เป็นความดี เป็นการมาดี อธิบายว่า มาในฐานะ ที่เหมาะที่จะมาจริงๆ. บทว่า อิทํ เต โหตุ อาติเถยฺยํ อธิบายว่า ขอการกล่าวธรรมนี้แหละจงเป็นบรรณาการอย่างดียิ่งสำหรับท่าน เพราะข้าพเจ้ามองไม่เห็นสิ่งอื่นที่ควรให้แก่ท่านที่อันยวดยิ่งไปกว่านี้. คำว่า เอวญฺจ เม ภวิสฺสติ อาติเถยฺยํ ความว่า ท้าวเวสวัณเมื่อครั้นขอปัตติทานเพื่อตนอย่างนี้แล้วกล่าวว่า นี้เป็นสักการะเพื่อความเป็นพระธรรมถึกของท่านแล้ว ทำยุ้ง ๑๒๕๐ ยุ้งเต็มด้วย

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 155

ข้าวสาลีแดงแล้วอธิษฐานว่า ขอข้าวสาลีเหล่านี้อย่าได้สิ้นไปตลอดเวลาที่อุบาสิกายังเที่ยวไปอยู่แล้วก็หลีกไป. ชนทั้งหลายไม่สามารถจะเห็นพื้นชั้นล่างของยุ้งตลอดเวลาอุบาสิกายังดำรงอยู่. ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดโวหารสำนวนขึ้นว่าเหมือนเรือนยุ้งของนันทมารดา. บทว่า อกตปาตราโส ได้แก่ ผู้ยังไม่บริโภคอาหารเช้า.

บทว่า ปุญฺํ ได้แก่ บุพพเจตนา เจตนาก่อนแต่ให้ทาน และ มุญจนเจตนา เจตนาขณะให้ทานแล้ว. บทว่า ปุญฺมหี ได้แก่ อปรเจตนา เจตนาภายหลังใ

ห้ทานแล้ว. บทว่า สุขาย โหตุ ความว่า จงมีเพื่อประโยชน์แก่ความสุข เพื่อประโยชน์แก่ความเกื้อกูล. นันทมารดาอริยสาวิกาได้ให้ปัตติทานแก่ท้าวเวสวัณในทานของตนด้วยประการฉะนี้. บทว่า ปกรเณ ได้แก่ ในเหตุ. บทว่า โอกฺสกฺส ปสยฺห ได้แก่ คร่ามา ครอบงำแล้ว. บทว่า ยกฺขโยนิ ได้แก่ ความเป็นภุมมเทวดา. บทว่า เตเนว ปุริเมน อตฺตภาเวน อุทฺทสฺเสสิ ความว่า ภุมมเทพนั้นเนรมิตร่างกายให้เหมือนกับร่างกายเก่านั่นแล ประดับตกแต่งแล้ว แสดงตนบนพื้นที่นอนในห้องอันประกอบ ด้วยศิริ. บทว่า อุปาสิกา ปฏิเทสิตา ความว่า แสดงความที่ตนเป็นอุบาสิกาอย่างนี้ว่า ฉันเป็นอุบาสิกานะ ดังนี้. บทว่า ยาวเทว แปลว่า เพียงใดนั่นแล. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถานันทมาตาสูตรที่ ๑๐

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 156

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จิตตสูตร ๒. ปริกขารสูตร ๓. ปฐมอัคคิสูตร ๔. ทุติยอัคคิสูตร ๕. ปฐมสัญญาสูตร ๖. ทุติยสัญญาสูตร ๗. เมถุนสูตร ๘. สังโยคสูตร ๙. ทานสูตร ๑๐. มาตาสูตร

จบ มหายัญญวรรคที่ ๕

จบ ปฐมปัณณาสก์