พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อัพยากตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39525
อ่าน  351

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 157

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

อัพยากตวรรคที่ ๑

๑. อัพยากตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 157

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

อัพยากตวรรคที่ ๑

๑. อัพยากตสูตร

[๕๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความสงสัยในวัตถุที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เพราะทิฏฐิดับ ความสงสัยในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์จึงไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ดูก่อนภิกษุ ทิฏฐินี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ดูก่อนภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดทิฏฐิ ความดับทิฏฐิปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐินั้นเจริญแก่ปุถุชนนั้น เขาย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ย่อมทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่าไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมรู้ชัดทิฏฐิ เหตุเกิดทิฏฐิ ความดับทิฏฐิ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐิของอริยสาวกนั้นย่อมดับ อริยสาวกนั้นย่อมพ้นจากชาติ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 158

ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่าย่อมพ้นไปจากทุกข์ ดูก่อนภิกษุ อริยสาวกได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ดูก่อนภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ พยากรณ์ในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์.

ดูก่อนภิกษุ ความทะยานอยาก ความหมายรู้ ความสำคัญ ความซึมซาบ ความถือมั่นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ นี้เป็นความเดือดร้อน ดูก่อนภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือดร้อน ความดับความเดือดร้อน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อนย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมรู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือดร้อน ความดับความเดือดร้อน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อนของอริยสาวกนั้นย่อมดับ ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้แล ย่อมไม่พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์ ดูก่อน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 159

ภิกษุนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ถึงความสงสัยในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์ ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ.

จบ อัพยากตสูตรที่ ๑

อัพยากตวรรคที่ ๑

อรรถกถาอัพยากตสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๖ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อพฺยากตวตฺถูสุ ความว่า ในวัตถุที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัส โดยพยากรณ์มีเอกังสพยากรณ์เป็นต้น. บทว่า สตฺโต ได้แก่ ตถาคต. บทว่า ทิฏฺคตเมตํ นี้ เป็นเพียงมิจฉาทิฏฐิ. ชื่อว่า สัตว์ผู้ไม่ถูกทิฏฐินั้นยึดไว้ย่อมไม่มี. บทว่า ปฏิปทํ ได้แก่ อริยมรรค. บทว่า น ฉมฺภติ ความว่า ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจทิฏฐิ. แม้ใน บทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ตณฺหาคตํ ความว่า ตัณหาอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิ. แม้ในบทมีอาทิว่า สญฺาคตํ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ด้วยว่าบรรดาบทเหล่านั้น สัญญาที่สัมปยุตด้วยทิฏฐินั่นแหละ พึงทราบว่า สัญญาคตะ ความหมายรู้ มานะที่อิงอาศัยทิฏฐินั้นนั่นแหละหรือความสำคัญหมายรู้ที่อิงอาศัยทิฏฐินั่นแหละ พึงทราบว่า มัญญิตะ ความสำคัญหมายรู้ ธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ซึ่งอิงอาศัยทิฏฐิ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 160

นั่นแหละ พึงทราบว่า ปปัญจิตะ ธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า อุปาทาน ความยึดมั่นด้วยอำนาจทิฏฐินั่นเอง พึงทราบว่าอุปาทานความยึดมั่น ภาวะคือความหวนระลึกผิดด้วยทิฏฐินั่นเอง พึงทราบว่า ชื่อว่า วิปปฏิสาร ความร้อนใจ ก็ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาทิฏฐิ ๖๒ ด้วยทิฏฐิศัพท์ และทรงถือเอาโสดาปัตติมรรคนั่นแหละ ด้วยทิฏฐินิโรธคามินีปฏิปทาศัพท์

จบ อรรถกถาอัพยากตสูตรที่ ๑