พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ภริยาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39534
อ่าน  442

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 197

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

อัพยากตวรรคที่ ๑

๑๐. ภริยาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 197

๑๐. ภริยาสูตร

[๖๐] ครั้งนั้นเมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาคนนี้ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านางก็ไม่สักการะเคารพนับถือบูชา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะนางสุชาดา นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 198

เสมอด้วยทาสี ๑ ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกแล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น

นางสุชาดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึงความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยที่หม่อนฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อนี้โดยพิสดารเถิด.

พ. ดูก่อนนางสุชาดา ถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรีภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร ภริยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 199

ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วยมารดา ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดีเหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอกก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี ภริยาที่เรียกว่าวธกาภริยา ๑ โจรีภริยา ๑ อัยยาภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้นล้วนแต่เป็นคนทุศีล หลาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑ ภคินีภริยา ๑ สขีภริยา ๑ ทาสีภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 200

ดูก่อนนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น.

ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี.

จบ ภริยาสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาภริยาสูตรที่ ๑๐

ภริยาสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เกวฏฺโฏ มญฺฌ มจฺเฉ วิโลเปติ ความว่า ในที่ที่ชาวประมงยืนยกตะกร้าปลาลง พอยกแหอวนขึ้นจากน้ำเท่านั้น คนจับปลาก็ส่งเสียงดังลั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเสียงนั้นจึงตรัสคำนั้น. บทว่า สุชาตา ได้แก่ หญิงเป็นน้องสาวมหาอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา. บทว่า สา เนว สสฺสุํ อาทิยติ ความว่า นางสุชาดานั้นไม่กระทำวัตรปฏิบัติอันชื่อว่าวัตรอันหญิงสะใภ้จะพึงทำแก่มารดาของสามี ทั้งไม่ยอมรับนับถือมารดาสามีว่าเป็นมารดา. บทว่า น สสฺสุรํ อาทิยติ ความว่า นางสุชาดานั้นไม่ยอมเชื่อฟังแม้คำบิดาของสามี. เมื่อเป็นเช่นนี้จึงชื่อว่านางไม่เชื่อฟัง เพราะนางไม่เอื้อเฟื้อบ้าง เพราะนางไม่ยอมรับบ้าง แม้ในบทที่เหลือ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 201

ก็นัยนี้เหมือนกัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถือเอามรรยาทของหญิงสะใภ้นั่งตรง พระพักตร์ของพระศาสดา. ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายนางสุชาดานั้นคิดว่าเศรษฐีนี้จักกล่าวสรรเสริญคุณของเราในสำนักพระทสพลหรือจะกล่าวโทษ ดังนี้แล้ว ได้ไปยืนฟังเสียงในที่ไม่ไกล. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกเธอมาตรัสว่า มานี่ สุชาดา. บทว่า อหิตานุกมฺปินี แปลว่า ผู้ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า อญฺเสุ ได้แก่ ในชายอื่น. บทว่า อติมญฺเต ความว่า ย่อมทนงตัว คือ ย่อมดูหมิ่นด้วยอำนาจมานะ. บทว่า ธเนน กีตสฺส ความเป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ บทว่า วธาย อุสฺสุกฺกา ความว่า พยายามจะฆ่า. บทว่า ยํ อิตฺถิยา วินฺทติ สามิโก ธนํ ความว่า สามีของหญิงได้ทรัพย์ใดมา. บทว่า อปฺปมฺปิสฺส อปหาตุมิจฺฉติ ความว่า ภรรยาปรารถนาที่จะลักทรัพย์แม้มีอยู่น้อยหนึ่งนั้น คือพยายามที่จะลักทรัพย์ทีละน้อย แม้จากข้าวสารที่ห่อใส่ไว้ในหม้อข้าวอันยกขึ้นตั้งไว้บนเตาไฟ. บทว่า อลสา ความว่า เป็นผู้นั่งแช่ในที่ตนนั่ง ยืนแช่ในที่ที่ตนยืน. บทว่า ผรุสา แปลว่า กระด้าง บทว่า ทุรตฺตวาทินี ความว่า ผู้มีปกติกล่าววาจาเป็นทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบ คือกล่าวคำหยาบและกระด้างนั่นเอง. ในคำว่า อุฏฺายกนํ อภิภุยฺย วตฺตติ นี้ มีวินิจฉัยต่อไปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสามีผู้สมบูรณ์ด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้นด้วยศัพท์ อันเป็นพหุวจนะว่า อุฏฺายกานํ ดังนี้. ภรรยาประพฤติกดขี่สามีผู้สมบูรณ์ด้วยความหมั่นเพียรนั้น แล้วกระทำสามีนั้นให้อยู่ในภายใต้อำนาจตน. บทว่า ปโมทติ ความว่า ย่อมเป็นผู้ชื่นชมปราโมทย์.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 202

บทว่า โกเลยฺยกา ความว่า เพียบพร้อมด้วยสกุล. บทว่า ปติพฺพตา ได้แก่ ปติเทวตา เป็นผู้มีสามีดังเทวดา. บทว่า วธทณฺฑตชฺชิตา ความว่า ภรรยาผู้อันสามีถือท่อนไม้. ขู่ด้วยการฆ่า กล่าวว่า ข้าจะฆ่าเจ้าเอง ดังนี้. บทว่า ทาสีสมํ ความว่า นางสุชาดากราบทูลว่าขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นทาสีผู้บริบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติสามีดังนี้ แล้วตั้งอยู่ในสรณะทั้ง ๓.

จบ อรรถกถาภริยาสูตรที่ ๑๐