พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. โกธนาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 พ.ย. 2564
หมายเลข  39535
อ่าน  401

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 203

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

อัพยากตวรรคที่ ๑

๑๑. โกธนาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 203

๑๑. โกธนาสูตร

[๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้เป็นข้าศึกกันในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิวพรรณทรามเถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรณงาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม แต่ถูกความโกรธ ครอบงำแล้ว ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ เป็นผู้ความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังค์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดแล้วอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะหนุนเท้าแดงทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 204

ข้างก็ตาม แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ เป็นความมุ่งหมายของคนเป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนเป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีความเจริญเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีความเจริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำถือเอาแล้ว เป็นข้าศึกแก่กันและกัน ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช้ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีโภคะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีโภคะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมได้ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 205

ได้มาโดยธรรม พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามียศเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมียศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาทก็เสื่อมจากยศนั้นได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้อย่ามีมิตรเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีมิตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตเหล่านั้นก็เว้นเขาเสียห่างไกล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้เมื่อตายไปพึงเข้าถึงอบาย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 206

ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันไปสุคติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ.

คนโกรธมีผิวพรรณทรามย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหายย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั่นคนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 207

ย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อนเหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใดความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปปะและไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรมอันให้เกิดความเดือดร้อน เราจัก บอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้ จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รัก อย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่โกรธ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธมีการฝึกตนคือปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 208

ตัดความโกรธนั้นขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตน แล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน.

จบ โกธนาสูตรที่ ๑๑

อรรถกถาโกธนาสูตรที่ ๑๑

โกธนาสูตรที่ ๑๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สปตฺตกนฺตา ได้แก่ เป็นที่ชอบใจ คือเป็นที่รักของผู้เป็นข้าศึก ผู้มีเวรต่อกัน คือเป็นผู้ตั้งอยู่ในภาวะที่ข้าศึกเหล่านั้นปรารถนาแล้ว. บทว่า สปตฺตการณา ได้แก่ เป็นเหตุแห่งประโยชน์ของผู้เป็นข้าศึกผู้มีเวรต่อกัน. บทว่า โกธปเรโต ได้แก่ ผู้อยู่ในอำนาจความโกรธ. บทว่า ปจุรตฺถตาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์เป็นอันมาก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลมาก. บทว่า อนตฺถํปิ ได้แก่ แม้ซึ่งความไม่เจริญ. บทว่า อตฺโถ เม คหิโต ความว่า เรายึดเอาแต่ความเจริญ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 209

บทว่า อโถ อตฺถํ คเหตฺวา ความว่า อนึ่ง ครั้นถือเอาความเจริญได้แล้ว. บทว่า อนตฺถํ ปฏิปชฺชติ ความว่า ย่อมกำหนดว่า เราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แล้ว. บทว่า อธํ กตฺวาน ความว่า กระทำกรรมคือปาณาติบาตแล้ว. บทว่า โกธสมฺมทสมฺมตฺโต ความว่า ผู้เมาแล้วด้วยความเมาคือความโกรธ. อธิบายว่า ผู้มีความเมาอันตนยึดถือจับต้องแล้ว. บทว่า อายสกฺยํ ได้แก่ ซึ่งความไม่มียศ อธิบายว่า เป็นผู้หายศมิได้ คือเป็นผู้ไร้ยศ บทว่า อนฺตรโต ชาตํ ได้แก่ เกิดขึ้นแล้วในภายใน. บทว่า อตฺถํ น ชานาติ ความว่า ไม่รู้จักประโยชน์คือความเจริญ. บทว่า ธมฺมํ น ปสฺสติ ความว่า ย่อมไม่เห็นธรรม คือสมถะและวิปัสสนา. บทว่า อนฺธตมํ ความว่า ความมืดอันกระทำความบอดหรือความมืดตื้อ. บทว่า สหเต ได้แก่ ย่อมครอบงำ. บทว่า ทุมฺมงฺกุยํ ความว่า ซึ่งความเก้อยาก คือ ซึ่งความเป็นผู้ไม่มีอำนาจคือความเป็นผู้มีหน้าถอดสี. สองบทว่า ยโต ปตายติ ความว่า บังเกิดเมื่อใด. บาทพระคาถาว่า น วาโจ โหติ คารโว ความว่า แม้ถ้อยคำก็ไม่น่าเป็นที่เคารพ. บาทพระคาถา ว่า น ทีปํ โหติ กิญฺจนํ ความว่า ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งไรๆ ย่อมไม่มี. บทว่า ตปนิยานิ ได้แก่ กรรมอันทำความเดือดร้อนให้เกิด. บทว่า ธมฺเมหิ ได้แก่ ด้วยธรรมคือสมถะและวิปัสสนา. บทว่า อารกา แปลว่า ในที่ไกล. บทว่า พฺราหฺมณํ ได้แก่ ซึ่งพราหมณ์ คือพระขีณาสพ.

บทว่า ยาย มาตุ ภโต ความว่า ผู้อันมารดาใดเลี้ยง คือบำรุงเลี้ยงแล้ว. บทว่า ปาณททิํ สนฺติํ ได้แก่ ผู้ให้ชีวิตอยู่. บทว่า หนฺติ กุทฺโธ ปุถุตฺตานํ ความว่า บุคคลผู้โกรธแล้วย่อมฆ่าตัวเองด้วย

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 210

เหตุผลต่างๆ เป็นอันมาก. บทว่า นานารูเปสุ มุจฺฉิโต ความว่า เป็นผู้หมกมุ่นแล้วในอารมณ์ต่างๆ. บทว่า รชฺชุยา พชฺฌ มียฺยนติ ความว่า ใช้เชือกผูกคอตาย. บทว่า ปพฺพตามปิ กนฺทเร ความว่า กระโดดซอกภูเขาตายก็มี. บทว่า ภูตหจฺจานิ ความว่า กำจัดความเจริญเสียแล้ว. ศัพท์ว่า อิตายํ ตัดบทเป็น อิติ อยํ. บทว่า ตํ ทเมน สมุจฺฉินฺเท ความว่า พึงตัดความโกรธได้ด้วยทมะความฝึกตน. ถามว่า ด้วย ทมะ ข้อไหน?. ตอบว่า ด้วย ทมะ คือ ปัญญา วิริยะ และทิฏฐิ. บทว่า ปญฺาวิริเยน ทิฏิยา ความว่า ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ด้วยความเพียรทางกายและทางจิตอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา และด้วยสัมมาทิฏฐิในมรรคนั่นแหละ. บทว่า ตเถว ธมฺเม สิกฺเขถ ความว่า บุคคลพึงตัดอกุศลเสียได้โดยประการใด พึงศึกษาแม้ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนาโดยประการนั้นนั่นแล. บทว่า มา โน ทุมฺมงฺกุยํ อหุ ความว่า ปรารถนาประโยชน์นี้ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแล้วแก่เราทั้งหลาย. ความว่า อนายาสา ได้แก่ ไม่มีความคับแค้น. บทว่า อนุสฺสุกฺกา ความว่า ไม่ถึงความขวนขวายในที่ไหนๆ คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาโกธนาสูตรที่ ๑๑

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 211

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัพยากตสูตร ๒. ปริสคติสูตร ๓. ติสสสูตร ๔. สีหสูตร ๕. รักขิตสูตร ๖. กิมมิลสูตร ๗. สัตตธรรมสูตร ๘. โมคคัลลานสูตร ๙. ปุญญวิปากสูตร ๑๐. ภริยาสูตร ๑๑. โกธนาสูตร

จบ อัพยากตวรรคที่ ๑