พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สุริยสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39538
อ่าน  472

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 214

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๒. สุริยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 214

๒. สุริยสูตร

[๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนด ควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนด ควรเบื่อหน่าย ควรคลาย กำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำลำคลองทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 215

ที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐ โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วจะยังเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ครึ่งชั่วคน เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแต่ข้อเท้า เพียงในรอยเท้าโค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ ฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ ฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 216

น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้นฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุไฟเผา ลุกโชน ลมหอบเอาเปลวไฟฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุ ไฟเผาลุกโชนกำลังทะลาย ถูกกองเพลิงใหญ่เผาท่วมตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่าฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ใครจะรู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 217

ใครจะเชื่อว่าแผ่นดินนี้และขุนเขาสิเนรุจักถูกไฟไหม้พินาศไม่เหลืออยู่ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว (โสดาบัน).

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อสุเนตตะเป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็ศาสดาชื่อสุเนตตะนั้นมีสาวกอยู่หลายร้อย เธอแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก และเมื่อสุเนตตศาสดาแสดงธรรมเพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก สาวกเหล่าใดรู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติพรหมโลก ส่วนสาวกเหล่าใดยังไม่รู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปบางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี บางพวกเข้าถึงความเป็น แห่งเทวดาชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคฤหบดีมหาศาล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดามีความคิดเห็นว่าการที่เราจะพึงเป็นผู้มีคติเสมอกับสาวกทั้งหลายใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 218

สัมปรายภพไม่สมควรเลย ผิฉะนั้น เราควรจะเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดาจึงได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกวิบัติ เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง ในวิมานนั้นสุเนตตศาสดาเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก เกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทวดา ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ได้ชัยชนะสงคราม สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่นมั่นคงพรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการหลายร้อยครั้ง พระราชโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิล้วนแต่องอาจ กล้าหาญ ชาญชัย ย่ำยีศัตรูได้ พระเจ้าจักรพรรดิ์นั้นทรงปกครองปฐพีมณฑล อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ใช้ธรรมปกครอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุเนตตศาสดานั้นแลมีอายุยืนนานดำรงมั่นอยู่อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่าไม่พ้นจากทุกข์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังไม่ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดธรรม ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อริยศีล ๑ อริยสมาธิ ๑ อริยปัญญา ๑ อริยวิมุติ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุติ เราตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว เราถอนตัณหาในภพได้แล้ว ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 219

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติอันยิ่ง พระโคดมผู้ทรงพระยศตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ยิ่งด้วยประการดังนี้แล้ว ตรัสบอกธรรม ๔ ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงกระทำที่สุดทุกข์แล้วปรินิพพาน.

จบ สุริยสูตรที่ ๒

อรรถกถาสุริยสูตรที่ ๒

สุริยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พึงทราบปุเรจาริกกถา ถ้อยคำที่กล่าวนำหน้าแห่งพระสูตรนี้ ก่อนอื่น เริ่มต้นดังต่อไปนี้ว่า เพราะเหตุที่สัตตสุริยเทศนา พระอาทิตย์ ๗ ดวงเป็นไปด้วยอำนาจแสดงว่าโลกพินาศด้วยไฟกัลป์ ฉะนั้น จึงทรงแสดงว่า สังวัฏฏกัปป์มี ๓, สังวัฏฏสีมามี ๓, สังวัฏฏมูลมี ๓, โกลาหลมี ๓. ปุเรจาริกกถานั้นได้กล่าวไว้พิสดารแล้วในปุพเพนิวาสานุสสตินิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. บทว่า เอตทโวจ ความว่า เพื่อจะทรงแสดงความวิบัติของสังขารทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 220

ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง ตามอัธยาศัยของภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้เจริญอนิจจกรรมฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัตตสุริโยปมสูตร มีคำเป็นต้นว่า อนิจฺจา ภิกฺขเว สงฺขารา ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจา ความว่า สังขารทั้งหลายชื่อว่า อนิจฺจา ไม่เที่ยงเพราะอรรถว่ามีแล้วกลับไม่มี. บทว่า สงฺขารา ได้แก่ สังขารธรรม ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง บทว่า อธุวา ความว่า ชื่อว่าไม่ยั่งยืนเพราะอรรถว่าไม่นาน. บทว่า อนสฺสาสิกา ความว่า เว้นจากความเบาใจเพราะมีความเป็นของไม่ยั่งยืน. บทว่า อลเมว แปลว่า สมควรแล้ว. บทว่า อชฺโฌคาฬฺโห ได้แก่ จงลงไปในน้ำ. บทว่า อจฺจุคฺคโต ได้แก่ โผล่ขึ้นแล้วจากหลังน้ำ. บทว่า เทโว น วสฺสติ ความว่า ชื่อว่า เมฆฝนที่ทำน้ำให้ไหวเป็นอันแรก รวมกันเป็นเมฆฝนกลุ่มก้อนอันเดียวกันแล้ว ตกลงในแสนโกฏิจักรวาฬ. ในการนั้น พืชที่งอกออกมาแล้วย่อมไม่กลับเข้าไปยังเรือนพืชอีก. ธรรมกถาที่คาดคะเนย่อมถือเป็นประมาณว่า นับตั้งแต่เวลาที่ฝนไม่ตกนั้น น้ำก็งวดลงไปเหมือนน้ำในธัมมกรกฉะนั้น. ฝนไม่ตกอีกแม้เพียงหยาดเดียว. ก็เมื่อโลกกำลังพินาศ ตั้งต้นแต่อเวจีมหานรกไปก็มีแต่ความว่างเปล่า. สัตว์ทั้งหลายครั้นขึ้นจากอเวจีมหานรกนั้นแล้วก็บังเกิดในมนุษย์โลกและในสัตว์ดิรัจฉาน. แม้สัตว์ที่บังเกิดในสัตว์ดิรัจฉานกลับได้เมตตาในบุตรและพี่น้อง ทำกาละแล้วบังเกิด ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. เทวดาทั้งหลายเที่ยวไปทางอากาศร้องบอกกันว่า ที่นี้เป็นที่เที่ยวหามิได้ ทั้งไม่ยั่งยืน พวกท่านจง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 221

เจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา กันเถิด ดังนี้. สัตว์เหล่านั้น ครั้นเจริญเมตตาเป็นต้นแล้ว จุติจากที่นั้นแล้วย่อมบังเกิดในพรหมโลก.

ในบทว่า พีชคามา มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ พืช ๕ ชนิด ชื่อว่า พืชคาม. พืชสีเขียวที่มีรากและใบงอกชนิดใดชนิดหนึ่งชื่อว่าภูตคาม.

ในบทว่า โอสธติณวนปฺปตโย มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ต้นไม้ที่เขาใช้ปรุงยารักษาโรค ชื่อว่า โอสธ. ต้นไม้ที่มีแก่นข้างนอก เช่น ต้นตาลและต้นมะพร้าว เป็นต้น ชื่อว่า ติณะ ต้นไม้ที่เจริญที่สุดในป่า ชื่อว่า วนัปปติ ต้นไม้เจ้าป่า. แม่น้ำน้อยที่เหลือ เว้น แม่น้ำใหญ่ ๕ สาย ชื่อว่า กุนนที แม่น้ำน้อย. สระเล็กๆ มีบึงเป็นต้น ที่เหลือเว้นสระใหญ่ ๗ สระ ชื่อว่า กุสุพภะ บ่อน้ำ.

ในบทว่า ทุติโย สุริโย เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ดวงหนึ่งขึ้นไป ดวงหนึ่งตก. ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ดวงหนึ่งขึ้น ดวงหนึ่งตก. ดวงหนึ่งยังอยู่กลาง (ท้องฟ้า). ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ย่อมตั้งขึ้นเรียงกันเป็นลำดับ เหมือนภิกษุ ๔ รูปผู้เที่ยวไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ๔ ครอบครัว ยืนอยู่ตามลำดับประตูบ้านฉะนั้น. แม้ที่พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า ปลุชฺชนฺติ ได้แก่ ขาดตกลง. บทว่า เนว ฉาริกา ปญฺายติ น มสิ ความว่า เมื่อที่มีประมาณเท่านี้ คือ แผ่นดินใหญ่ในจักรวาฬ ขุนเขาสิเนรุ ภูเขาหิมพานต์ ภูเขาจักรวาฬ กามา

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 222

พจรสวรรค์ ๖ ชั้น และพรหมโลกชั้นปฐมฌานภูมิ ที่ถูกไฟไหม้แล้ว ขี้เถ้าหรือถ่าน แม้เพียงจะหยิบเอาด้วยนิ้วมือ ก็ไม่ปรากฏ.

บทว่า โก มนฺตา โก สทฺธาตา ความว่า ใครสามารถจะให้บุคคลรู้ จะให้เขาเชื่อเรื่องนั้น หรือใครจะเป็นผู้เชื่อเรื่องนั้น. บทว่า อญฺตร ทิฏฺปเทหิ ความว่า เว้นพระอริยสาวกผู้โสดาบัน ผู้มีบท (คือพระนิพพาน) อันตนเห็นแล้ว อธิบายว่า ใครเล่าจักเชื่อคนอื่นได้. บทว่า วีตราโค ความว่า ผู้ปราศจากราคะด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน (ละได้ด้วยการข่ม) บทว่า สาสนํ อาชานิํสุ ความว่า พระสาวกทั้งหลายรู้ถึงคำพร่ำสอน คือ ดำเนินตามทางเพื่อความเป็นสหายชาวพรหมโลก. บทว่า สมสมคติโย ความว่า ผู้มีคติเสมอกัน คือมีคติเป็นอันเดียวกัน โดยอาการเป็นอันเดียวกัน ในอัตภาพที่ ๒. บทว่า อุตฺตริ เมตฺตํ ภเวยฺยํ ความว่า เราพึงเจริญเมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คือทำใหัประณีต เริ่มต้นแต่ปฐมฌานไปจนถึงฌานหมวด ๓ และฌานหมวด ๔.

บทว่า จกฺขุมา ความว่า พระศาสดาทรงมีพระจักษุ ๕ ชื่อว่า จักขุมา. บทว่า ปรินิพฺพุโต ความว่า เสด็จปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพาน ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง. ครั้นพระศาสดาทรงแสดงอนิจจลักษณะแล้วทรงยักเยื้องพระธรรมเทศนาไปอย่างนี้ ภิกษุผู้เจริญอนิจจกรรมฐานทั้ง ๕๐ นั้นส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุพระอรหัตแล้วบนอาสนะที่ตนนั่งนั่นแหละ ดังนี้.

จบอรรถกถาสุริยสูตรที่ ๒