พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปาริฉัตตกสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39541
อ่าน  379

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 241

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๕. ปาริฉัตตกสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 241

๕. ปาริฉัตตกสูตร

[๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์แห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ใบเหลือง ไม่นานเท่าไรก็จักผลัดใบใหม่ สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบใหม่ สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์กำลังผลัดใบใหม่ ไม่นานเท่าไรก็จักผลิดอกออกใบ สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอกออกใบแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์ผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จักเป็นดอกเป็นใบ สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกเป็นใบแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์เป็นดอกเป็นใบแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จักเป็นดอกตูม สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกตูมแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์ออกดอกตูมแล้ว ไม่นานเท่าไรจักเริ่มแย้ม สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จักบานเต็มที่ สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์บานเต็มที่แล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ควงแห่งไม้ปาริฉัตตกพฤกษ์ ก็เมื่อปาริฉัตตกพฤกษ์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 242

บานเต็มที่แล้วแผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ ในบริเวณรอบๆ จะส่งกลิ่นไปได้ ๑๐๐ โยชน์ตามลม อานุภาพของปาริฉัตตกพฤกษ์มีดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สมัยใด อริยสาวกคิดจะออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือน ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยใด อริยสาวกปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบใหม่ สมัยใด อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผลิดอกออกใบ สมัยใด อริยสาวกบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปิติและสุขเกิดแต่ สมาธิอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกเป็นใบ สมัยใด อริยสาวกมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกตูม สมัยใด อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 243

ดาวดึงส์เริ่มแย้ม สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์บานเต็มที่ สมัยนั้น ภุมมเทวดาย่อมประกาศให้ได้ยินดีว่า ท่านรูปนี้ มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านชื่อนี้ ออกจากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิต กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เทวดาชั้นจาตุมหาราชฟังเสียงแห่งภุมมเทวดา ... เทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ... เทวดาชั้นพรหมฟังเสียงแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีแล้วย่อมประกาศให้ได้ยินว่า ท่านรูปนี้ มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้นี้ ออกจากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิต กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ โดยเหตุนี้ เสียงก็ระบือไปตลอดพรหมโลกชั่วขณะนั้น ชั่วครู่นั้น อานุภาพของพระขีณาสพเป็นดังนี้.

จบ ปาริฉัตตกสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 244

อรรถกถาปาริฉัตตกสูตรที่ ๕

ปาริฉัตตกสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปณฺฑุปลาโส ได้แก่ ใบไม้แก่ที่หล่น.

บทว่า ชาลกชาโต ได้แก่ มีปุ่มใบและดอกเกิดพร้อมกัน ด้วยว่าปุ่มใบและปุ่มดอกของต้นทองหลางนั้นออกพร้อมกันทีเดียว.

บทว่า ขารกชาโต ความว่า ประกอบแล้วด้วยปุ่มใบอ่อนและปุ่มดอกอันแตกงาม แต่ตั้งอยู่แยกกันคนละส่วน

บทว่า กุฑุมลกชาโต ได้แก่ เกิดเป็นดอกตูม

บทว่า โกกาสกชาโต ความว่า ประกอบด้วยดอกทั้งหลายที่มีหน้าดอกเจือกัน มีท้องดอกใหญ่ ยังไม่บาน (คือแย้ม).

บทว่า สพฺพผาลิผุลฺโล ความว่า บานดีแล้วโดยอาการทั้งปวง.

บทว่า ทิพฺเพ จตฺตาโร มาเส ความว่า ตลอด ๔ เดือนโดยอายุทิพย์. แต่เมื่อนับตามอายุมนุษย์ย่อมมีอายุถึงหมื่นสองพันปี.

บทว่า ปริจาเรนฺติ ความว่า เทวดาเหล่านั้นย่อมบำเรออินทรีย์ทั้งหลายเที่ยวไปข้างโน้นและข้างนี้ อธิบายว่า ย่อมเล่น ย่อมร่าเริง.

บทว่า อาภาย ผุฏํ โหติ ความว่า สถานที่เท่านี้เป็นอันรัศมีต้องแล้ว ก็รัศมีมีของดอกไม้เหล่านั้นย่อมเป็นเหมือนแสงแห่งอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ ใบของดอกไม้เหล่านั้นมีขนาดเท่าร่มใบไม้ ภายในดอกมีละอองเกษรขนาดทนานใบใหญ่. แต่เมื่อต้น ปาริฉัตตกะดอกบานแล้ว ไม่ต้องมีกิจในการขึ้นต้น ไม่มีกิจเอาไม้สอยให้ลงมา ไม่ต้องเอาผอบเพื่อนำดอกไม้มา ลมสำหรับจะตัด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 245

ก็เกิดขึ้นตัดดอกไม้จากขั้ว ลมสำหรับรับก็จะรับดอกไม้ไว้ ลมสำหรับส่งก็จะส่งสู่เทวสภาชื่อสุธรรมา. ลมสำหรับกวาดก็จะนำดอกไม้เก่าๆ ออกไปเสีย. ลมปูลาดก็จะโรยใบกลีบและเกษรดอกปูลาดไว้ ก็จะมีธรรมาศน์อาสนะแสดงธรรมตรงกลาง. อาสนะสำหรับท้าวสักกเทวราชถูกปูลาดถัดจากธรรมาศน์ มีเศวตฉัตรขนาด ๓ โยชน์กั้นอยู่ข้างบนรัตนบัลลังก์ขนาด ๑ โยชน์ ถัดจากนั้นก็เป็นอาสนะของเทวบุตร ๓๓ องค์ ต่อจากนั้นก็เป็นอาสน์ของเทวดาผู้มีศักดาใหญ่เหล่าอื่น ถัดจากนั้นกลีบดอกไม้ก็เป็นอาสนะสำหรับเทวดาหมู่หนึ่ง ทวยเทพพากันเข้าไปยังเทวสภาแล้วนั่งลง ลำดับนั้น เกลียวละอองเกษรจากดอกไม้ฟุ้งขึ้นกระทบกลีบข้างบน ตกลงมา กระทำให้อัตภาพประมาณ ๓ คาวุตของเทวดาทั้งหลายดุจตกแต่งรดด้วยน้ำครั่ง หรือดุจเลื่อมเหลืองด้วยละอองทองคำ ฉะนั้น. แต่เทพบางพวกต่างถือดอกไม้องค์ละดอก แล่นตีกันและกัน แม้เวลาที่แล่นตีกัน ละอองเกษรขนาดเท่าทะนานใหญ่จะฟุ้งกระจายออกกระทำให้สรีระเป็นเหมือนย้อมด้วยมโนสิลา น้ำชาดเกิดเองด้วยละอองหอมที่มีรัศมี การเล่นกันนั้น ๙ เดือนจึงสิ้นสุดลงด้วยอาการอย่างนั้น.

บทว่า อยมานุภาโว ความว่า นี้เป็นอานุภาพเพื่อแผ่ไปตามลำดับ.

บัดนี้ เพราะเหตุที่พระศาสดาไม่มีพระประสงค์ด้วยต้นไม้ปาริฉัตตกะ แต่ทรงประสงค์จะทรงแสดงอริยสาวก ๗ จำพวกเปรียบเทียบกับต้นไม้ปาริฉัตตกะนั้น ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงพระอริยสาวกเหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เอวเมว โข ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 246

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชฺชาย เจเตติ ความว่า พระอริยสาวกคิดว่าเราจักบวช ดังนี้.

บทว่า เทวานํ ความว่า เหมือนของเหล่าเทพ.

บทว่า ยาว พฺรหฺมโลกา สทฺโท อพฺภุคฺคจฺฉติ ความว่า เสียงสาธุการนับตั้งแต่พื้นแผ่นดินจนถึงพรหมโลกเป็นเสียงเดียวกันหมด.

บทว่า อยมานุภาโว ความว่า นี้เป็นอานุภาพเพื่อการแผ่ไปตามลำดับของภิกษุผู้ขีณาสพ. แต่ในพระสูตรนี้ จตุปาริสุทธิศีล อิงอาศัยบรรพชา, กสิณบริกรรม อิงอาศัยปฐมฌาน, มรรค ๓ ผล ๓ พร้อมด้วยวิปัสสนา อิงอาศัยอรหัตตมรรค. เทศนา ย่อมกำหนดได้อย่างต่ำบ้าง อย่างสูงบ้าง ทั้ง ๒ อย่างบ้าง. แต่ในพระสูตรนี้กำหนดทั้ง ๒ อย่าง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ไว้. ก็ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะและวิวัฏฏะไว้แล้วโดยย่อ.

จบ อรรถกถาปาริฉัตตกสูตรที่ ๕