พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เมตตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39555
อ่าน  458

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 292

อัฏฐกนิบาติ

ปัณณาสก์

เมตตาวรรคที่ ๑

๑. เมตตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 292

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาติ

ปัณณาสก์

เมตตาวรรคที่ ๑

๑. เมตตสูตร

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ หลับก็เป็นสุข ๑ ตื่นก็เป็นสุข ๑ ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ หรือศาตราไม่กล้ำกลายผู้นั้น ๑ เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อ เฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 293

ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์แม้สักตัวเดียว เจริญเมตตาจิตอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้นย่อมเป็นกุศล เขามีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ประเสริฐ กระทำบุญมาก พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรมเช่นกับฤาษี ชำนะแผ่นดินอันประกอบด้วยหมู่สัตว์ เจริญรอยตามบูชายัญเหล่าใด คือ สัสสเมธ ความทรงพระปรีชาในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปุริสเมธ ทรงพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อมประชาชน สัมมาปาสะ มีพระอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องน้ำใจประชาชน วาชเปยยะ มีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่มน้ำใจคน ซึ่งมีผลคือทำให้นครไม่ต้องมีลิ่มกลอน มหายัญเหล่านั้นทั้งหมดยังไม่เทียบเท่าส่วนที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่บุคคลเจริญดีแล้ว ดุจกลุ่มดวงดาวทั้งหมดไม่เทียบเท่าแสงจันทร์ฉะนั้น ผู้ใดมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ ไม่ฆ่า (สัตว์) เอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ.

จบ เมตตาสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 294

มโนรถปูรณี

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต

เมตตาวรรคที่ ๑

อรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๑

อัฏฐกนิบาต สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อาเสวิตาย แปลว่า เสพโดยเอื้อเฟื้อ.

บทว่า ภาวิตาย แปลว่า เจริญแล้ว.

บทว่า พหุลีกตาย แปลว่า กระทำบ่อยๆ.

บทว่า ยานีกตาย แปลว่า กระทำให้เป็นดุจยานอันเทียมแล้ว (ด้วยม้า).

บทว่า วตฺถุกตาย แปลว่า กระทำให้เป็นดุจวัตถุที่ตั้ง เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งไว้.

บทว่า อนุฏฺิตาย แปลว่า เข้าไปตั้งไว้เฉพาะ (คือปรากฏ).

บทว่า ปริจิตาย แปลว่า สั่งสมไว้ คือ เข้าไปสั่งสมไว้โดยรอบ.

บทว่า สุสมารทฺธาย แปลว่า เริ่มไว้ดีแล้ว คือ กระทำไว้ดีแล้ว.

บทว่า อานิสํสา ได้แก่ คุณความดี.

คำที่จะพึงกล่าวในบทว่า สุขํ สุปติ ดังนี้เป็นต้น ข้าพเจ้าจักกล่าวในเอกาทสกนิบาตข้างหน้า.

บทว่า อปฺปมาณํ คือ ไม่มีประมาณโดยการแผ่ไป.

บทว่า ตนู สํโยชนา โหนฺติ ปสฺสโต อุปธิกฺขยํ ความว่า สังโยชน์ ๑๐ อันผู้บรรลุพระอรหัต กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิกิเลสโดยลำดับ ละได้ด้วยวิปัสสนามีเมตตาเป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้ที่สุด).

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตนู สํโยชนา โหนฺติ ความว่า ปฏิฆะและสังโยชน์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 295

อันสัมปยุตด้วยปฏิฆะเป็นกิเลสที่เบาบาง.

บทว่า ปสฺสโต อปธิกฺขยํ ความว่า ผู้เห็นอยู่ซึ่งพระอรหัต กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิกิเลสเหล่านั้นแหละด้วยอำนาจบรรลุ.

บทว่า กุสลํ เตน โหติ แปลว่า ย่อมเป็นกุศลด้วยการเจริญเมตตานั้น.

บทว่า สตฺตสณฺฑํ ความว่า ประกอบด้วยชัฏคือหมู่สัตว์ อธิบายว่าเต็มด้วยหมู่สัตว์.

บทว่า ชินิตฺวา ได้แก่ ชนะโดยไม่ใช้อาญา ไม่ใช้สาตรา ใช้ธรรมอย่างเดียว.

บทว่า ราชิสฺสโย ได้แก่ พระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรมเสมือนพระฤาษี.

บทว่า ยชมานา ได้แก่ ให้ทานทั้งหลาย.

บทว่า อนุจริยคา แปลว่า เที่ยวไปแล้ว.

ในบทว่า สสฺสเมธํ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:- ได้ยินว่า ครั้งพระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรมแต่โบราณ มีสังคหวัตถุ ๔ ที่พระราชาทั้งหลายทรงสงเคราะห์โลก คือ สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ.

ในสังคหวัตถุ ๔ ประการนั้น การถือเอาส่วนที่ ๑๐ จากข้าวกล้าที่เผล็ดผลแล้ว ชื่อว่า สัสสเมธะ อธิบายว่า ความเป็นผู้ฉลาดในการทะนุบำรุงข้าวกล้า. การเพิ่มให้อาหารและค่าจ้างเพียงพอใช้ไป ๖ เดือนแก่นักรบใหญ่ทั้งหลาย ชื่อว่า ปุริสเมธะ อธิบายว่า ความเป็นผู้ฉลาดในการยึดเหนี่ยว (น้ำใจ) คน. การจดจำนวนคนจนเป็นรายตัว แล้วให้ทรัพย์ประมาณพันหนึ่งสองพันโดยไม่เอาดอกเบี้ยตลอด ๓ ปี ชื่อว่า สัมมาปาสะ ก็การกระทำเช่นนั้นย่อมคล้องคนทั้งหลายไว้ได้ดี คือ ตั้งอยู่เหมือนผูกหัวใจไว้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสัมมาปาสะ. การกล่าววาจาอ่อนหวาน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 296

โดยนัยเป็นต้นว่า พ่อ, ลุง ชื่อว่า วาชเปยยะ อธิบายว่า ปิยาวาจา มีวาจาน่ารัก. รัฐที่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการอย่างนี้ย่อมเป็นรัฐที่เจริญ มั่งคั่ง มีข้าวน้ำสมบูรณ์ ปลอดโปร่ง ปราศจากโจรผู้ร้าย. มนุษย์ทั้งหลายรื่นเริงให้ลูกรำอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูบ้านอยู่. นี้เรียกว่า นิรัคคฬะ เพราะไม่ต้องลงสลักที่ประตูเรือน. นี้เป็นประเพณีโบราณ.

ก็แหละในกาลต่อมา ในสมัยพระเจ้าโอกกากราช พวกพราหมณ์เปลี่ยนแปลงสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้และสมบัติของรัฐอันนี้เสีย กระทำให้ผิดจากของเดิม ทั้งเป็นยัญทั้ง ๕ มีอัสสเมธะ เป็นต้น. ในยัญ ๕ ประการนั้น ยัญที่ชื่อว่าอัสสเมธะเพราะฆ่าม้าในยัญนั้น. คำว่าอัสสเมธะนั้นเป็นชื่อของยัญที่พึงบูชาด้วยยัญอันเป็นบริวาร ๒ อย่าง มีเสายัญ ๒๑ เสา มีการเบียดเบียนเพราะการฆ่าปศุสัตว์ ๕๙๗ ตัวเฉพาะในวันสุดท้ายวันเดียว มีสมบัติทั้งปวงไม่เหลือ เว้นที่ดินและคนเป็นทักษิณา. ยัญชื่อว่า ปุริสเมธะเพราะฆ่าคนในยัญนั้น. คำว่าปุริสเมธะนั้นเป็นชื่อของยัญที่จะบูชาด้วยยัญอันเป็นบริวาร ๔ อย่าง มีสมบัติเหมือนดังกล่าวในอัสสเมธะ พร้อมด้วยที่ดินเป็นทักษิณา. ยัญชื่อว่าสัมมาปาสะเพราะมีการสอดสลักไม้ในยัญนั้น. คำว่าสัมมาปาสะนี้เป็นชื่อของสัตรยาคบูชา (การบูชายัญที่มีเสายัญและทำหลายวัน) ที่ใส่สลัก คือ ท่อนไม้ที่สอดเข้าไปในช่องแอกทุกๆ วัน แล้วทำภูมิที่บูชา ณ โอกาสที่ไม้สลักนั้นตก แล้วเดินถอยหลังไปตั้งแต่โอกาสที่ที่ (พระราชาในครั้งก่อน) ดำลงในแม่น้ำสรัสวดี บูชาด้วยเสายัญ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 297

เป็นต้น ที่เคลื่อนที่ได้ (ด้วยพาหนะ). ชื่อว่าวาชเปยยะเพราะดื่มวาชะ (คือเนยใส และน้ำผึ้งเสก) ในยัญนั้น. คำว่าวาชเปยยะนี้เป็นชื่อของยัญที่ต้องบูชาด้วยปศุสัตว์ ๑๗ ตัวด้วยยัญบริวารอย่างหนึ่ง มีเสายัญเป็นไม้มะตูม อันให้ของที่ประกอบด้วยของ ๑๗ อย่างเป็นทักษิณา. ชื่อว่านิรัคคฬะเพราะไม่มีลิ่มสลักในยัญนั้น คำว่านิรัคคฬะนี้เป็นชื่อของอัสสเมธะอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งมีชื่อโดยอ้อมว่าสัพพเมธะ ซึ่งต้องบูชาด้วยยัญบริวาร ๙ อย่าง ให้สมบัติดังกล่าวในอัสสเมธะ พร้อมด้วยที่ดินและคนเป็นทักษิณา.

บทว่า กลมฺปิ เต นานุภวนฺติ โสฬฺสิํ ความว่า ด้วยว่ามหายัญทั้งหมดนั้นมีค่าไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ อธิบายว่า ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ เพราะเมตตาจิตดวงเดียวมีวิบาก คือ ผลมาก.

บทว่า น ชินาติ ได้แก่ ไม่ทำความเสื่อมแก่ผู้อื่นด้วยตนเอง.

บทว่า น ชาปเย ได้แก่ ไม่ใช้ผู้อื่นทำความเสื่อมแก่ผู้อื่น.

บทว่า เมตฺสโส ได้แก่ เป็นผู้มีส่วนแห่งสมาธิจิตที่สัมปยุตด้วยเมตตา.

บทว่า สพฺพภูตานํ ได้แก่ ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย.

บทว่า เวรํ ตสฺส น เกนจิ ความว่า เขาย่อมไม่มีอกุศลเวรหรือบุคคลเวรกับใครๆ.

จบ อรรถกถาเมตตาสูตรที่ ๑