พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ทุติยอัปปิยสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39559
อ่าน  402

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 306

ปัณณาสก์

เมตตาวรรคที่ ๑

๔. ทุติยอัปปิยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 306

๔. ทุติยอัปปิยสูตร

[๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มุ่งลาภ ๑ มุ่งสักการะ ๑ มุ่งความมีชื่อเสียง ๑ ไม่รู้จักกาล ๑ ไม่รู้จักประมาณ ๑ ไม่สะอาด ๑ ชอบพูดมาก ๑ มักด่ามักบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ฯลฯ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มุ่งลาภ ๑ ไม่เป็นผู้มุ่งสักการะ ๑ ไม่เป็นผู้มุ่งความมีชื่อเสียง ๑ เป็นผู้รู้จักกาล ๑ เป็นผู้รู้จักประมาณ ๑ เป็นคนสะอาด ๑ ไม่ชอบพูดมาก ๑ ไม่ด่าไม่บริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก ฯลฯ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

จบ ทุติยอัปปิยสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 307

อรรถกถาทุติยอัปปิยสูตร ๔

ทุติยอัปปิยสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อนวญฺตฺติกาโม ความว่า ไม่ประสงค์ดูหมิ่นว่า โอหนอ คนอื่นไม่พึงดูหมิ่นเรา.

บทว่า อกาลญฺญู ได้แก่ ไม่รู้กาลหรือมิใช่กาล คือ คือพูดในเวลามิใช่กาล.

บทว่า อสุจี ได้แก่ ผู้ประกอบ ด้วยกายกรรมอันไม่สะอาดเป็นต้น.

จบ อรรถกถาทุติยอัปปิยสูตรที่ ๔