พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. โลกธรรมสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39560
อ่าน  389

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 308

ปัณณาสก์

เมตตาวรรคที่ ๑

๕. โลกธรรมสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 308

๕. โลกธรรมสูตร

[๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้.

ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนาย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมย์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้ายเสียได้จนไม่เหลือติดอยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง.

จบ โลกธรรมสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 309

อรรถกถาโลกธรรมสูตรที่ ๕

ปฐมโลกธรรมสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

โลกธรรม เพราะเป็นธรรมของโลก. ชื่อว่าคนผู้พ้นจากโลกธรรมเหล่านี้ไม่มี แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ยังมี เพราะเหตุนั้นนั่นแล จึงตรัสว่า โลกํ อนุปริวตฺตนฺติ ย่อมหมุนไปตามโลก. ความว่า ย่อมติดตามไปไม่ลดละ ได้แก่ ไม่กลับจากโลก.

บทว่า โลโก จ อฏฺ โลกธมฺเม อนุปริวตฺตติ ความว่า และโลกนี้ย่อมติดตาม ไม่ละโลกธรรมเหล่านี้ อธิบายว่าไม่กลับจากธรรมเหล่านั้น.

ในบทว่า ลาโภ อลาโภ พึงทราบว่า เมื่อลาภมาถึง ความไม่มีลาภก็มาถึงเหมือนกัน. แม้ในโลกธรรมมีเสื่อมยศเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อเวกฺขติ วิปริณามธมฺเม ได้แก่ พิจารณาอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา.

บทว่า วิธูปิตา ได้แก่ ขจัดแล้ว คือ กำจัดแล้ว.

บทว่า ปทญฺจ ตฺวา ได้แก่ รู้บท คือ พระนิพพาน.

บทว่า สมฺมปฺปชานาติ ภวสฺส ปารคู ความว่า ครั้นรู้บทคือพระนิพพานแล้วย่อมรู้โดยชอบถึงความที่ตนถึงฝั่งนั้นแล้ว ในสูตรนี้ ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

จบ อรรถกถาโลกธรรมสูตรที่ ๕