๘. อุตตรสูตร
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 317
ปัณณาสก์
เมตตาวรรคที่ ๑
๘. อุตตรสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 317
๘. อุตตรสูตร
[๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุตตระอยู่ที่วิหารชื่อว่า วัฏฏชาลิกา ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระอุตตระกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็น ความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตนโดยกาลอันควร ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของคนอื่นโดยกาลอันควร ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของตนโดยกาลอันควร ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นโดยกาลอันควร.
ก็สมัยนั้นแล ท้าวเวสสวัณมหาราชออกจากทิศเหนือผ่านไปทางทิศใต้ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้สดับคำที่ท่านพระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในวัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ไปปรากฏในเทวดาชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์โปรดทรงทราบว่า ท่านพระอุตตระนี้ ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุในวัฏฏะชาลิกาวิหารอย่างนี้... ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏต่อหน้าท่านพระอุตตระในวัฏฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 318
หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระอุตตระถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระอุตตระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่าน พระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้... จริงหรือ ท่านพระอุตตระถวายพระพรว่า จริงอย่างนั้น มหาบพิตร.
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเอง หรือว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
อ. ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจะทำข้ออุปมาให้มหาบพิตรทรงสดับ ซึ่งวิญญูชนบางพวกจะรู้เนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยข้ออุปมา ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคมนัก ชนหมู่มากขนข้าวเปลือกออกจากกองนั้นด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตะกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง ด้วยกอบมือบ้าง ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถามชนหมู่ใหญ่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายขนข้าวเปลือกนี้มาจากไหน ดูก่อนมหาบพิตร มหาชนนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้อย่างถูกต้อง.
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาชนนั้นพึงตอบให้ถูกต้องได้อย่างนี้ว่า พวกเราขนมาจากกองข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น.
อุ. ดูก่อนมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพจึงชักเอาข้าวเปลือกมาถวายพระพร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 319
โดยเทียบเคียงสุภาษิตอันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ขอถวายพระพร.
ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านพระอุตตระได้กล่าวไว้เป็นอย่างดีดังนี้ว่า คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมดล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพจึงชักเอาข้าวเปลือกมาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิตอันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ท่านอุตตระผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตหลีกไปแล้วไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตนโดยกาลอันควร ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรก อยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือลาภ... ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการนี้แลครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรก อยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นความดีแล้วที่ภิกษุจะพึงครอบงำย่ำยีความเสื่อมลาภ... ยศ... ความเสื่อมยศ... สักการะ... ความเสื่อมสักการะ... ความเป็นผู้ปรารถนาลามก... ความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 320
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าเมื่อภิกษุไม่ครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อนเหล่านั้นย่อมไม่เกิด... เพราะว่าเมื่อภิกษุไม่ครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อนเหล่านั้นย่อมไม่เกิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว... จึงควรครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว... จักครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ข้าแต่ท่านพระอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอุตตระจงเล่าเรียนธรรมบรรยายนี้ จงทรงจำธรรมบรรยาย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 321
นี้ไว้ด้วยว่า ธรรมบรรยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์.
จบ อุตตรสูตรที่ ๘
อรรถกถาอุตตรสูตรที่ ๘
อุตตรวิปัตติสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า วฏฺฏชาลิกายํ คือ ในวิหารอันมีชื่ออย่างนั้น. ได้ยินว่าวิหารนั้นได้ชื่อว่า วัฏฏชาลิกา เพราะตั้งอยู่ในป่าวัฏฏวัน.
บทว่า ปาตุรโหสิ ความว่า ได้เป็นผู้มาปรากฏด้วยตั้งใจว่าจักบอกเรื่องนี้แก่ท้าวเทวราช.
บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยโก แปลว่า เป็นเบื้องต้นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นอันเป็นที่รวบรวมสิกขา ๓ ไว้.
จบ อรรถกถาวิปัตติสูตรที่ ๘