พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. กรัณฑวสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39565
อ่าน  395

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 326

ปัณณาสก์

เมตตาวรรคที่ ๑

๑๐. กรัณฑวสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 326

๑๐. กรัณฑวสูตร

[๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัครา ใกล้นครจัมปา สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุที่ถูกภิกษุทั้งหลายโจทด้วยอาบัตินั้นเอาเรื่องอื่นๆ มาพูดกลบเกลื่อน ชักเรื่องไปนอกทางเสีย แสดงความโกรธเคืองและความไม่ยำเกรงให้ปรากฏ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป จงกำจัดบุคคลนั้นออกไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนชนิดนี้ ต้องขับออก เป็นลูกนอกดอก กวนใจกระไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหญ้าชนิดหนึ่งที่ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง พึงเกิดขึ้นในนาข้าวที่สมบูรณ์ ราก ก้าน ใบของมัน เหมือนกับข้าวที่ดีเหล่าอื่นตราบเท่าที่มันยังไม่ออกรวง แต่เมื่อใด มันออกรวง เมื่อนั้นจึงทราบกันว่า หญ้านี้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 327

ทำลายข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เขาจึงถอนมันพร้อมทั้งราก เอาไปทิ้งให้พ้นที่นา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า หญ้าชนิดนี้อย่าทำลายข้าวที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ ฯลฯ เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เปรียบเหมือนกองข้าวเปลือกกองใหญ่ที่เขากำลังสาดอยู่ ในข้าวเปลือกกองนั้น ข้าวเปลือกที่เป็นตัว แกร่ง เป็นกองอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่หัก ลีบ ลมย่อมพัดไปไว้ส่วนหนึ่ง เจ้าของย่อมเอาไม้กวาดวีข้าวที่หักและลีบออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า มันอย่าปนข้าวเปลือกที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การ ถอยกลับ ฯลฯ เพราะคิดว่า ภิกษุนี้อย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลต้องการกระบอกตักน้ำ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่า เขาเอาสันขวานเคาะต้นไม้นั้นๆ บรรดาต้นเหล่านั้น ต้นไม้ที่แข็ง มีแก่น ซึ่งถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียงหนัก ส่วนต้นไม้ที่ผุใน น้ำชุ่ม เกิดยุ่ยขึ้น ถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียก้อง เขาจึงตัดต้นไม้ที่ผุในนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้วจึงตัดปลาย ครั้นตัดปลายแล้วจึงคว้านข้างในให้เรียบร้อย แล้วทำเป็นกระบอกตักน้ำ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน แลบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ การแล การเหลียว การคู้ การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 328

และจีวร เหมือนของภิกษุที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะออกไปให้พ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ภิกษุอย่าประทุษร้ายภิกษุที่ดีเหล่าอื่นเลย.

เพระการอยู่ร่วมกัน พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้มีความปรารถนาลามก มักโกรธ มักลบหลู่ หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด บางคนในท่ามกลางประชุมชน พูดไพเราะ ดังพระสมณะ พูด ปิดบังความชั่วที่ตนทำ มีความเห็นลามก ไม่เอื้อเฟื้อ พูดเลอะเลือน พูดเท็จ เธอทั้งหลายทราบบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไรแล้ว จงพร้อมใจกันทั้งหมดขับบุคคลนั้นเสีย จงกำจัดบุคคลที่เป็นดังหยากเยื่อ จงถอนบุคคลที่เสียในออกเสีย แต่นั้น จงนำคนแกลบ ผู้มิใช่สมณะแต่ยังนับว่าเป็นสมณะออกเสีย เธอทั้งหลาย เมื่อต้องการอยู่ร่วมกับคนดีและคนไม่ดี ครั้นกำจัดคนที่มีความปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจรลามกออกแล้ว จงเป็นผู้มีสติ แต่นั้น เธอทั้งหลายเป็นผู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 329

พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้มีปัญญารักษาตน จักกระทำที่สุดทุกข์ได้.

จบ กรัณฑวสูตรที่ ๑๐

อรรถกถากรัณฑวสูตรที่ ๑๐

กรัณฑวสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อญฺเนาฺฺํ ปฏิจรติ ความว่า เอาเหตุหรือคำอื่นมากลบเกลื่อนเหตุหรือคำอื่น.

บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมติ ความว่า ทำถ้อยคำที่แทรกเข้ามาอย่างอื่นให้ออกนอกทาง.

บทว่า อปเนยฺโย ได้แก่ บุคคลนี้พึงนำออกไป.

บทว่า สมณทูสี ได้แก่ ผู้ประทุษร้ายสมณะ.

บทว่า สมณปลาโป ความว่า ชื่อว่าเป็นสมณะแกลบในสมณะทั้งหลาย เพราะไม่มีแก่น เหมือนแกลบข้าวในข้าวทั้งหลาย.

บทว่า สมณกรณฺฑโว ได้แก่ สมณะหยากเยื่อ.

บทว่า พหิทฺธา นาเสนฺติ แปลว่า ขับออกไปภายนอก.

บทว่า ยวกรเณ ได้แก่ ในนาข้าวเหนียว.

บทว่า ผุสยมานสฺส ได้แก่ อันบุคคลยืนอยู่บนที่สูงแล้วสาดไปในที่มีลมแรง.

บทว่า อปสมฺมชฺชนฺติ ความว่า ปัดออกบ่อยๆ เพื่อทำข้าวที่ดีไว้ข้างหนึ่ง ข้าวที่ทราม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 330

ไว้ข้างหนึ่ง คือ เอากะด้งหรือผ้าที่อุ้มลมคือเครื่องฝัดวีฝัดไป.

บทว่า ททฺทรํ ได้แก่ มีเสียงดัง.

บทว่า สํวาสาย แปลว่า เพราะอยู่ร่วมกัน.

บทว่า วิชาเนถ พึงรู้ได้.

บทว่า สนฺตวาโจ แปลว่า มีวาจาอ่อนหวาน.

บทว่า ชนวติ แปลว่า ในท่านกลางชน.

บทว่า รโห กโรติ กฏณํ (๑) ความว่า บาปกรรมเรียกว่า กัฏณะ คือ การทำ (ชั่ว) ได้แก่ เป็นผู้ปกปิด การทำบาปกรรมนั้นในที่ลับ.

บทว่า สํสปฺปี จ มุสาวาที ความว่า เป็นผู้พูดมุสาเลอะเทอะ อธิบายว่า พูดเท็จเลอะเทอะ คือกลับกลอก. ในสูตรนี้ ตรัสเฉพาะวัฏฏะอย่างเดียว ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ ในคาถาทั้งหลายแล.

จบ อรรถกถากรัณฑวสูตรที่ ๑๐

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เมตตสูตร ๒. ปัญญาสูตร ๓. อัปปิยสูตรที่ ๑ ๔.อัปปิยสูตรที่ ๒ ๕. โลกธรรมสูตร ๖. โลกวิปัตติสูตร ๗. เทวทัตตสูตร ๘. อตตรสูตร ๙. นันทสูตร ๑๐. กรัณฑวสูตรและอรรถกถา

จบ เมตตาวรรคที่ ๑


๑. บาลีว่า กรณํ