พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ทานวัตถุสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39589
อ่าน  397

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 475

ปัณณาสก์

ทานวรรคที่ ๔

๓. ทานวัตถุสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 475

๓. ทานวัตถุสูตร

[๑๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑ บางคน ให้ทานเพราะโกรธ ๑ บางคนให้ทานเพราะหลง ๑ บางคนให้ทาน เพราะกลัว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงค์ตระกูล ดั้งเดิม ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานแล้ว เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเรา ให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิด ตามลำดับ ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑ ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้แล.

จบ ทานสูตรที่ ๓

อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓

ทานวัตถุสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทานวตฺถูนิ ได้แก่ เหตุแห่งการให้ทาน. บทว่า ฉนฺทา ทานํ เทติ ความว่า บุคคลไห้ทานเพราะความรัก. บทว่า โทสา ความว่า เป็นผู้โกรธแล้ว สิ่งใดมีอยู่รีบหยิบเอาสิ่งนั้นให้ไป เพราะโทสะ. บทว่า โมเหน ความว่า เป็นผู้หลงให้ไปเพราะโมหะ. บทว่า ภยา ความว่า เพราะกลัวครหา หรือเพราะกลัวอบายภูมิ ก็หรือว่าเพราะกลัวครหาและอบายภูมินั้นนั่นแหละจึงให้ไป. บทว่า กุลวํสํ แก่เป็นประเพณีของตระกูล.

จบ อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓