พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เขตตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39590
อ่าน  334

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 476

ปัณณาสก์

ทานวรรคที่ ๔

๔. เขตตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 476

๔. เขตตสูตร

[๑๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความ เจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย นาในโลกนี้ เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ เป็นที่ปนหินปนกรวด ๑ เป็นที่ดินเค็ม ๑ เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้ ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำเข้า ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก ๑ เป็นที่ไม่มีเหมือง ๑ เป็นที่ไม่มีคันนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญ มาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ทานที่บุคคลให้ใน สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มี อานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑ เป็นมิจฉาสังกัปปะ ๑ เป็น มิจฉาวาจา ๑ เป็นมิจฉากัมมัมตะ ๑ เป็นมิจฉาอาชีวะ ๑ เป็นมิจฉา วายามะ ๑ เป็นมิจฉาสติ ๑ เป็นมิจฉาสมาธิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญ แพร่หลายมาก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ มีผลมาก มีความดีใจมาก มีความเจริญมาก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 477

นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นาในโลกนี้ไม่เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ ไม่เป็นที่ปนหินปนกรวด ๑ ไม่เป็นที่ดินเค็ม ๑ เป็นที่ไถลงลึกได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำเข้าได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำออกได้ ๑ เป็นที่มีเหมือง ๑ เป็นที่มีคันนา ๑ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีความดีใจมาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้น เหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความ เจริญแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ ๑ เป็นสัมมาสังกัปปะ ๑ เป็นสัมมาวาจา ๑ เป็นสัมมากัมมันตะ ๑ เป็นสัมมาอาชีวะ ๑ เป็นสัมมาวายามะ ๑ เป็นสัมมาสติ ๑ เป็น สัมมาสมาธิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์ มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแพร่หลายมาก ฉะนี้.

พืชอันหว่านลงในนาที่สมบูรณ์ เมื่อฝนตก ต้องตามฤดูกาล ธัญชาติย่อมงอกงาม ไม่มีศัตรู พืช ย่อมแตกงอกงาม ถึงความไพบูลย์ให้ผลเต็ม ที่ ฉันใด โภชนะที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้น ย่อมนำมาซึ่งบุคคลอัน สมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นบุคคลในโลกนี้ผู้หวังกุศลสัมปทา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 478

จงเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาท่านผู้มี ปัญญาสมบูรณ์ บุญสัมปทา ย่อมสำเร็จได้ อย่างนี้ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้ จิตสัมปทาแล้ว กระทำกรรมให้สมบูรณ์ ย่อมได้ ผลบริบูรณ์ รู้โลกนี้ตามเป็นจริงแล้ว พึงถึงทิฏฐิ สัมปทา อาศัยมรรคสัมปทา มีใจบริบูรณ์ ย่อม บรรลุอรหัต เพราะกำจัดมลทินทั้งปวงได้แล้ว บรรลุนิพพานสัมปทาได้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจาก ทุกข์ทั้งปวง การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จัดเป็นสรรพสัมปทา.

จบ เขตตสูตรที่ ๔

อรรถกถาเขตตสูตรที่ ๔

เขตตสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า น มหปฺผลํ โหติ ความว่า ไม่มีผลมากด้วยผลแห่ง ธัญพืช. บทว่า น มหาสฺสาทํ ความว่า ความยินดีต่อผลธัญพืชนั้น มีไม่มาก คือมีความยินดีน้อยไม่อร่อย. บทว่า น ผาติเสยฺยํ ความว่า ธัญพืชนั้นย่อมไม่เจริญงอกงาม อธิบายว่า ธัญพืชนั้นจะเจริญคือ มีลำต้นคอยค้ำรองเข้าที่ใหญ่ก็หามิได้. บทว่า อนฺนามินินฺนามิ ได้แก่ พื้นที่ไม่สม่ำเสมอ เพราะดอนและลุ่ม. ในที่เหล่านั้น ที่ดอน ไม่มีน้ำขังอยู่ที่ลุ่มมีน้ำขังมากเกินไป. บทว่า ปาสาณสกฺขริลฺลํ ความว่า ประกอบด้วยหลังแผ่นหินลาดตั้งอยู่ และกรวดก้อนเล็ก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 479

ก้อนใหญ่. บทว่า อูสรํ ได้แก่ น้ำเค็ม. บทว่า น จ คมฺภีรสิตํ ความว่า ไม่สามารถจะไถให้คลองไถลงไปลึกได้เพราะพื้นที่แข็ง คือเป็นคลองไถตื้นๆ เท่านั้น. บทว่า น อายสมฺปนฺนํ ได้แก่ ไม่สมบูรณ์ด้วยทางน้ำไหลออกในด้านหลัง. บทว่า น มาติกาสมฺปนฺนํ ความว่า ไม่สมบูรณ์ด้วยเหมืองน้ำขาดเล็กและขนาดใหญ่. บทว่า น มริยาทสมฺปนฺนํ ความว่า ไม่สมบูรณ์ด้วยคันนา. บท ทั้งหมดมีอาทิว่า น มหปฺผลํ พึงทราบด้วยสามารถเผล็ดผลนั่นเอง.

บทว่า สมฺปนฺเน ได้แก่ บริบูรณ์ คือประกอบด้วยคุณสมบัติ บทว่า ปวุตฺตา พีชสมฺปทา ได้แก่ พืชที่ปลูกสมบูรณ์. บทว่า เทเว สมฺปาทยนฺตมฺหิ ความว่า เมื่อฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล บทว่า อนีติสมฺปทา โหติ ความว่า ความไม่มีภัยจากสัตว์เล็กๆ มีตั๊กแตนและหนอนเป็นต้น เป็นความสมบูรณ์เป็นเอก. บทว่า วิรุฬฺหิ ความว่า ความงอกงามเป็นความสมบูรณ์อันดับ ๒ บทว่า เวปุลฺลํ ความว่า ความไพบูลย์เป็นความสมบูรณ์อันดับ ๓ บทว่า ผลํ ความว่า ผลแห่งธัญพืชที่บริบูรณ์ เป็นความสมบูรณ์อันดับ ๔.

บทว่า สมฺปนฺนสีเลสุ ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้มีศีลบริบูรณ์ บทว่า โภชนสมฺปทา ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างที่สมบูรณ์. บทว่า สมฺปทานํ ได้แก่ กุศลสัมปทา ๓ อย่าง. บทว่า อุปเนติ ได้แก่ โภชนสัมปทานั้นนำเข้าไป. เพราะเหตุไร? เพราะกิจกรรมที่ผู้นั้น ทำแล้วสมบูรณ์ อธิบายว่า เพราะกิจกรรมที่เขาทำแล้วนั้นสมบูรณ์ คือบริบูรณ์. บทว่า สมฺปนฺนตฺถูธ ตัดบทเป็น สมฺปนฺโน อตฺถุ อิธ, แปลว่า จงเป็นผู้สมบูรณ์ในกุศลสัมปทานี้. บทว่า วิชฺชาจรณ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 480

สมฺปนฺโน ความว่า ประกอบด้วยวิชชา ๓ และจรณะธรรม ๑๕. บทว่า ลทฺธา ความว่า บุคคลเห็นปานนี้ ได้ความสมบูรณ์ คือความ ไม่บกพร่อง ได้แก่ความบริบูรณ์แห่งจิต. บทว่า กโรติ กมฺมสมฺปทํ ได้แก่ ทำกรรมให้บริบูรณ์. บทว่า ลภติ จตฺถสมฺปทํ ได้แก่ ได้ประโยชน์บริบูรณ์. บทว่า ทิฏฺิสมปทํ ได้แก่ ทิฏฐิในวิปัสสนา. บทว่า มคฺคสมฺปทํ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค. บทว่า ยาติ สมฺปนฺนมานโส ความว่า เป็นผู้มีจิตบริบูรณ์ถึงพระอรหัต. บทว่า สา โหติ สพฺพสมฺปทา ความว่า ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น ชื่อว่า เป็นความถึงพร้อมทุกอย่าง.

จบ อรรถกถาเขตตสูตรที่ ๔