พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อุชชยสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 พ.ย. 2564
หมายเลข  39612
อ่าน  375

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 567

วรรคที่ไม่ได้สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

สันธานวรรคที่ ๑

๕. อุชชยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 567

๕. อุชชยสูตร

[๑๔๕] ครั้งนั้นแล อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกันพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่าน การปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ใคร่ จะไปอยู่ต่างถิ่น ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ในภายหน้า แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบัน ประการเป็นไฉน คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑.

ดูก่อนพราหมณ์ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยความหมั่นประกอบการงาน... ดูก่อนพราหมณ์ นี้ เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา.

ดูก่อนพราหมณ์ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาด้วยความหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน... ดูก่อนพราหมณ์ เรียกว่าอารักขสัมปทา.

ดูก่อนพราหมณ์ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจาสนทนากับบุคคล ในบ้านหรือนิคมนั้น... ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 568

ดูก่อนพราหมณ์ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพ พอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก... ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่าสมชีวิตา.

ดูก่อนพราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑...

ดูก่อนพราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ย่อมมีทาง เจริญอยู่ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑... ดูก่อน พราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อ ความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร.

ดูก่อนพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ศรัทธาสัมปทา ๑ ศีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ก็ศรัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา... นี้เรียกว่าศรัทธาสัมปทา.

ดูก่อนพราหมณ์ ศีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่า ศีลสัมปทา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 569

ดูก่อนพราหมณ์ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิตปราศจากความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่าจาคสัมปทา.

ดูก่อนพราหมณ์ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา ดูก่อนพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ในภายหน้าแก่กุลบุตร.

คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัด การงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ ตามรักษา ทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อย คำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวมา นี้ ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้า ผู้มีพระนามอันแท้จริง ตรัสว่า นำสุขมาให้ใน โลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และสุข ในภายหน้า บุญคือจาคะนี้ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้.

จบ อุชชยสูตรที่ ๕