เข้าใจพระธรรมขึ้นแค่ไหน มีใครอยากได้มากๆ

 
chatchai.k
วันที่  3 พ.ย. 2564
หมายเลข  39647
อ่าน  179

ศึกษาธรรมโดยการท่อง มีประโยชน์อะไร กับการที่กำลังรู้ตรงลักษณะแต่ละอย่าง ซึ่งเกิด และก็ดับไป แล้วก็หลากหลายต่างกัน นี่ก็คือ การที่เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเรา และก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งความจริงแม้แต่เพียงนิดเดียวก็หมดไป ไม่ได้กลับมาอีกเลย


เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ฟังไปเถอะ ถ้าเห็นประโยชน์ จนตาย แล้วก็จะรู้เอง ว่าได้เข้าใจพระธรรมขึ้นแค่ไหน มีใครอยากได้มากๆ หรือไม่ตอนนี้ อยากเข้าใจเยอะๆ ก่อนตายขอให้เข้าใจมากกว่านี้หน่อยเถอะ หรือมากก็ได้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือฟังแล้วก็รู้ความจริง ว่าขณะฟังก็เข้าใจ แล้วก็เข้าใจแค่ไหน และก็หลังจากฟังแล้วเป็นอย่างไร และต่อไปจะได้ฟังอีกเท่าไร และจะเข้าใจเพิ่มขึ้นจากนี้หรือเปล่า เพิ่มขึ้นมากๆ หรือเพียงน้อยๆ เพียงแต่ว่าที่เข้าใจแล้ว ได้มีความเข้าใจคือไม่ลืม แต่ก็เพิ่มขึ้นเหมือนกับคนย่ำเท้า ยืนย่ำไป ใครจะรู้บ้างว่ากระเถิบไปทีละนิด หรือว่ายัง นั่นก็เป็นความจริง ซึ่งคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ต่อคำถามที่ว่า ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่

แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจ คนนั้นรู้เอง และคำตอบที่ควรตอบคือ พูดเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เขาคิด จนเขาตอบเอง ไม่ใช่ตอบแล้วเขาก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้อธิบายหรือว่าไม่ได้บอกอะไร เพียงแต่ให้ชื่อไปเยอะๆ แล้วไปคิดเอง อย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะว่าแม้แต่ยังไม่ต้องมีชื่ออย่างนั้น เพียงแต่ฟังในภาษา ซึ่งยังไม่ใช้ภาษาบาลีมากมายแต่ละคำ แม้แต่ ขันธ์ ก็ยังเพียงนิดเดียว เพียงคนที่ได้ยินมาแล้วก็คือ ธรรมทั้งหมดนั่นเอง ที่เกิดด้วยจึงหลากหลาย

เพราะฉะนั้น รู้ความหมายของขันธ์ก็คือว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดดับไม่กลับมาอีก ความหลากหลายของแต่ละสภาพธรรม แม้ว่าเป็นประเภทเดียวกันก็ต่างกัน จะเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ แต่ละอย่างเป็นขันธ์ทั้งหมด อย่างเสียงขณะนี้ เกิดแล้วดับไป ไม่เหมือนเสียงต่อไป หรือไม่เหมือนเสียงก่อน เสียงก่อนก็เป็นเสียงเกิดดับ เป็นขันธ์ หยาบหรือละเอียด ต่างกับขณะที่เสียงต่อไปเกิดขึ้น ใช่หรือไม่ อย่างคนที่เล่นดนตรี เล่นใหม่ๆ กับเล่นจนชำนาญ เครื่องมือชิ้นเดียวกันเลย เป็นอย่างไรเสียงเหมือนกันไหม คนที่เริ่มเล่น ตีแรงไปบ้าง เสียงอย่างหนึ่ง ตีเร็วไปบ้าง เสียงอีกอย่างหนึ่ง และพอมีความชำนาญขึ้น เครื่องดนตรีนั้นเอง เสียงที่ปรากฎก็เป็นแต่ละเสียงที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้นเสียงตั้งแต่เริ่มเกิด เมื่อเริ่มเล่นก็เป็นขันธ์เกิดดับ กับเสียงตอนที่ชำนาญแล้ว ก็เป็นเสียงเกิดดับ ทั้งสองเสียงเหมือนกันหรือไม่ ไม่เหมือน นี่คือขันธ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนกันไม่ได้เลย

การฟังธรรมอยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปติดที่ภาษาหรือคำแปล ซึ่งแม้คำแปลจะเป็นภาษาหนึ่ง ซึ่งคนในยุคนั้นสมัยนั้น แม้พระผู้มีพระภาคตรัสคำว่า ธรรม หรือตรัสคำว่า ขันธ์ ชาวสาวัตถี ชาวโกสัมพี จะเข้าใจเหมือนกันหรือเท่ากันได้ไหม แม้เป็นภาษาที่เขาใช้อยู่เป็นประจำ ก็ต่างกันแล้วตามการสะสม เราใช้ภาษาไทย คนไทย ฟังด้วยกัน ความเข้าใจน้อยมากก็ต่างกันไปตามการสะสม

ธรรม ไม่ว่าจะใช้คำภาษาไหนก็ตาม ส่องไปถึงความหมาย และความจริงของธรรม โดยที่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นรู้ภาษานั้น แล้วจะต้องได้ความเข้าใจเท่าๆ กัน หรือว่าคนที่รู้ภาษาบาลี ได้ยินคำว่า ขันธ์ ได้ยินคำว่า อายตนะ เข้าใจได้ว่าหมายความถึงอะไร แต่รู้ถึงความเป็นธรรมนั้นหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่แปลได้ แต่ความหลากหลาย ความละเอียดของธรรม แม้แต่ทุกอย่างเลย เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ ขันธ์ก็คือ ลักษณะที่เกิดดับนั้นต่างๆ กันไป เป็นอะไรบ้าง หยาบก็มี ละเอียดก็มี สิ่งที่นุ่มมากเป็นอาหารบางชนิด ก็ยังมีอาหารที่นุ่มกว่าไหม จนกระทั่งต้องอุทานว่านุ่มจังเลย นิ่มมาก ทั้งๆ ที่เราก็เคยรับประทานของนิ่มๆ อย่างถั่วแปบ นิ่มหรือไม่ นิ่มกับก้อนแข็งๆ ใช่ไหม พอถึงอาหารญี่ปุ่น แค่แตะนิดเดียวก็นิ่มเข้าไปอีก ยิ่งกว่านั้นอีก

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

สนทนาธรรมที่อุทยานแห่งชาติเขาเขียว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornchai.s
วันที่ 28 ก.ย. 2567

#สาธุอนุโมทนาวันทาในมหากุศล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
talaykwang
วันที่ 28 ก.ย. 2567

กราบขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลผู้มีคุณทุกท่าน ทุกประการค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ