เหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์

 
chatchai.k
วันที่  3 พ.ย. 2564
หมายเลข  39649
อ่าน  103

อยู่ดีๆ ปัญญาไม่เกิดแน่ๆ ต้องประกอบ คือ กระทำ การที่จะให้ปัญญาเจริญ แม้แต่การฟังพระธรรม ก็เป็นการกระทำที่จะให้ปัญญาเจริญ


สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สำหรับมหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง เป็นญาณสัมปยุตต์ และไม่เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ดวง เป็นญาณวิปปยุตต์

ซึ่งทุกคนก็อยากจะให้กุศลจิตที่เกิดทุกครั้ง มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่กุศลที่เกิดโดยที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่ากุศลที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ว่า มีการให้ทาน มีการวิรัติทุจริต มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่ในขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เหตุที่จะให้เกิดญาณสัมปยุตต์มีในขณะใด มหากุศลญาณสัมปยุตต์จึงจะเกิดในขณะนั้น

ข้อความในอรรถสาลินี ได้แสดง เหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ โดยกรรม การกระทำซึ่งเป็นไปในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ แม้แต่การแสดงธรรมที่ควรประพฤติทางกาย ทางวาจา ให้คนอื่นได้ประพฤติตาม ขณะนั้นก็เป็นเจตนาที่เป็นกุศล ที่ต้องการให้บุคคลนั้นมีความประพฤติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ได้ในกาลข้างหน้า หรือการสอนวิชาศิลปะต่างๆ ในการอาชีพให้คนอื่น อันนั้นก็เป็นกุศลเจตนา แล้วการที่จะมีความสามารถในศิลปะ ในการอาชีพ ก็จะต้องมีการใส่ใจสนใจโดยแยบคาย ซึ่งก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง ทำให้เป็นผู้ที่พิจารณาทุกอย่างด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคาย ทำให้สามารถที่จะพิจารณา แม้ในเหตุผลของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ในกาลข้างหน้า

ประการที่ ๒ เหตุให้เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ โดยอุบัติ โดยการเกิดในภพภูมิที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน เป็นผู้ที่มีความสุขในโลกนั้น เช่น ในโลกสวรรค์ ซึ่งแม้ว่าการเกิดของสตินั้นช้า เพราะเหตุว่าเป็นภูมิของผู้ที่มีความสุขสบาย ไม่มีการเบียดเบียน มีแต่ความร่าเริง เต็มไปด้วยอิฏฐารมณ์ต่างๆ ทำให้สติเกิดช้าก็จริง แต่ว่าโดยการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งคุณวิเศษโดยเร็วพลัน คือ สามารถที่จะระลึกลักษณะและรู้สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง แม้ในสวรรค์ได้

ประการที่ ๓ ที่จะทำให้เกิดญาณสัมปยุตต์ ก็คือ โดยความแก่กล้าของอินทรีย์ คือถึงกาล หรือถึงอายุ ถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด

โดยมากผู้ที่มีอายุน้อย จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์น้อย และอาจจะเป็นผู้ที่ขาดความสุขุม รอบคอบ ไม่สามารถที่จะพิจารณาในเหตุในผล ในประโยชน์ได้ถูกต้องโดยสมควร เท่ากับผู้ที่มีอายุถึงกาลเวลาที่ปัญญาจะเกิด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยเจ้า เมื่ออายุเพียง ๗ ขวบนั้นมีเป็นจำนวนน้อย ไม่เท่ากับผู้ที่อยู่ในกาลของอายุที่ปัญญาจะเกิด แม้แต่ท่านพระราหุลเอง ท่านก็บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ได้ฟังพระธรรม แต่ก็ยังไม่ถึงกาลที่ปัญญาจะสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ต้องอาศัยวัย คือ กาลอายุ กาลเวลาด้วย

ประการที่ ๔ ที่เป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ คือ โดยความห่างไกลจากกิเลส

นี่เป็นข้อเตือนใจว่าประมาทกิเลสไม่ได้เลย ไม่ว่าใครทั้งนั้น แม้ท่านพระราหุลเอง พระผู้มีพระภาคก็ยังต้องทรงแสดงธรรมกับท่านพระราหุล ซึ่งโดยวัยท่านก็เป็นผู้ที่เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายงาม เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำคัญตน เป็นปัจจัยเกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถ้าไม่อาศัยพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะเป็นเหตุขัดขวางการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ว่าผู้ที่ยังจะต้องอบรมเจริญอีกนาน ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กิเลสนี้ยังมีกำลังมากทีเดียว ไม่สามารถที่จะประมาทกิเลสได้เลย ก็จะต้องสะสมปัญญา แล้วพิจารณาว่า การมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร ที่สมควรแก่การที่จะให้ปัญญาเจริญ

ที่มา ฟัง และ อ่านรายละเอียด

โสภณธรรม ครั้งที่ 001

โสภณธรรม แผ่นที่ ๑


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ