พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปัตตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 พ.ย. 2564
หมายเลข  39664
อ่าน  436

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 685

วรรคที่ไม่ได้สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

สติวรรคที่ ๔

๗. ปัตตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 685

๗. ปัตตสูตร

[๑๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงคว่ำบาตรแก่ อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ พยายาม เพื่อความฉิบหายแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ ภิกษุทั้งหลาย ๑ ย่อมด่าย่อมบริภาษภิกษุทั้งหลาย ๑ ยุยงภิกษุ ทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียน พระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล.

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงหงายบาตรแก่ อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่พยายาม เพื่อความฉิบหายแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้ แก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่ด่าไม่บริภาษภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่ยุยงภิกษุ ทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย ๑ สรรเสริญพระพุทธเจ้า ๑ สรรเสริญพระธรรม ๑ สรรเสริญพระสงฆ์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงหงายบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แล.

จบ ปัตตสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 686

อรรถกถาปัตตสูตรที่ ๗

ปัตตสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

บทว่า นิกฺกุชฺเชยฺย ได้แก่ พึงคว่ำบาตรด้วยกรรมวาจา ที่สวดในนิกกุชชนกรรมคว่ำบาตร เพื่อไม่ให้รับไทยธรรมที่อุบาสก นั้นถวาย ไม่ใช่คว่ำบาตรโดยคว่ำปากบาตรลง. บทว่า อลาภาย ได้แก่ เพื่อไม่ให้ได้ปัจจัย ๔. บทว่า อนตฺถาย ได้แก่ เพื่ออันตราย คือ เพื่อความไม่เจริญ. บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย ได้แก่ พึงหงายบาตร ด้วยกรรมวาจาที่สวดในอุกกุชชนกรรมหงายบาตร.

จบ อรรถกถาปัตตสูตรที่ ๗