พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. พลสูตร ว่าด้วยกําลัง ๔ กับภัย ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 พ.ย. 2564
หมายเลข  39673
อ่าน  412

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 721

ปัณณาสก์

สัมโพธวรรคที่ ๑

๕. พลสูตร

ว่าด้วยกําลัง ๔ กับภัย ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 721

๕. พลสูตร

ว่าด้วยกำลัง ๔ กับภัย ๕

[๒๐๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน คือ กำลัง คือ ปัญญา ๑ กำลัง คือ ความเพียร ๑ กำลัง คือ การงามอันไม่มีโทษ ๑ กำลัง คือ การสงเคราะห์ ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน ธรรม เหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็น อกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรม เหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความ เป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใด สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ด้วยปัญญา นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นไฉน ธรรม เหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถ ทำความเป็นพระอริยะ บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภ ความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 722

เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำ ความเป็นพระอริยะ บุคคลย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อได้ธรรมเหล่านั้น นี้เรียกว่า กำลัง คือ ความเพียร.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นไฉน อริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นไฉน สังควัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน ๑ เปยยวัชชะ ๑ อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศ กว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ ในศีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศ กว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย พระโสดาบันมีตนเสมอกับ พระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี พระอานาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ การสงเคราะห์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 723

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ ปริสสารัชภัย ๑ มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นแล พิจารณาเห็น ดังนี้ว่า เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักกลัวต่อภัย อันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้าน จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คือ กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเพราะ การงานทางกาย ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร ก็กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต เราไม่กลัวต่อภัย คือ การติเตียน ฯลฯ เราไม่กลัวต่อภัยคือการสะทกสะท้อนในบริษัท... เราไม่กลัวต่อภัย คือความตาย... เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักกลัวต่อภัย คือ ทุคติเล่า เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลัง ความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มี ปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนเกียจคร้านแล จึงกลัวต่อ ภัยคือทุคติ คือ กลัวต่อภัยคือทุคติเพราะการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร ก็กลัวภัยคือทุคติ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้.

จบ พลสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 724

อรรถกถาพลสูตรที่ ๕

พลสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พึงเห็นปัญญาพละเป็นต้น เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะ อวิชชา ความเกียจคร้าน การกล่าวโทษ และความไม่เชื่อ. บทว่า อกุสลสงฺขาตา ได้แก่ รู้ว่าเป็นอกุศล. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. บทว่า นาลมริยา ได้แก่ ธรรมที่ไม่สามารถทำความเป็นพระอริยา หรือ ไม่สมควรแก่พระอริยะ. บทว่า โวทิฏฺา ได้แก่ ธรรมที่บุคคล เห็นแล้วด้วยดี. บทว่า โวจริตา ได้แก่ ธรรมที่ปรากฏอยู่ในมโนทวาร. บทว่า อตฺถิกสฺส ได้แก่ ผู้ต้องการด้วยการแสดงธรรม. บทว่า อาชีวิตภยํ ได้แก่ ภัยที่เป็นไปในชีวิต. บทว่า อสิโลกภยํ ได้แก่ ภัยแต่การติเตียน. บทว่า ปริสสารชฺชภยํ ได้แก่ ภัยที่ถึงบริษัท แล้วเกิดการสะทกสะท้าน. ในสูตรนี้ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะไว้.

จบ อรรถกถาพลสูตรที่ ๕