พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เสนาสนสูตร ว่าด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ พึงสิ้นอาสวะในเวลาไม่นาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 พ.ย. 2564
หมายเลข  39760
อ่าน  440

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 23

ปฐมปัณณาสก์

นาถกรณวรรคที่ ๒

๑. เสนาสนสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ พึงสิ้นอาสวะในเวลาไม่นาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 23

นาถกรณวรรคที่ ๒

๑. เสนาสนสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ พึงสิ้นอาสวะในเวลาไม่นาน

[๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่คบอยู่ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๑ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง ในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ เป็นวิญญู ๑ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยัง กุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 24

ทุกข์โดยชอบ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดดและสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย ๑ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑ ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันสมควร แล้วย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ๑ ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่ายซึ่งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่คบอยู่ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.

จบเสนาสนสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 25

นาถกรณวรรคที่ ๒

อรรถกถาเสนาสนสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๒ เสนาสนสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปญฺจงฺคสมนฺนาคโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๕. บทว่า นาติทูรํ โหติ นาจฺจาสนฺนํ ความว่า สถานที่แห่งใดไกลเกินไป ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไปในสถานที่แห่งนั้น ก็มีความลำบากกายและจิต เธอก็ทำสมาธิที่ยังไม่เกิดให้เกิดไม่ได้ หรือทำสมาธิที่เกิดแล้วให้มั่นคงไม่ได้ สถานที่ใกล้เกินไปก็เกลื่อนกล่นด้วยคนเป็นอันมาก. ก็แลสถานที่พ้นจากโทษทั้งสองนั้น ในประเทศประมาณ ๔๐ อุสภะ ก็ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการคมนาคม. บทว่า ทิวา อปฺปกิณฺณํ ได้แก่ ไม่เกลื่อนกล่นด้วยคนเป็นอันมากในเวลากลางวัน.

จบอรรถกถาเสนาสนสูตรที่ ๑