พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อัปปมาทสูตร ว่าด้วยความไม่ประมาทเป็นยอดของกุศลธรรมทั้งหมด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 พ.ย. 2564
หมายเลข  39764
อ่าน  336

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 35

ปฐมปัณณาสก์

นาถกรณวรรคที่ ๒

๕. อัปปมาทสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทเป็นยอดของกุศลธรรมทั้งหมด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 35

๕. อัปปมาทสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทเป็นยอดของกุศลธรรมทั้งหมด

[๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ดี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของกุศลธรรมเหล่านั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนแผ่นดินเหล่าใดเหล่าหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงความรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะความเป็นของใหญ่ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของกุศลธรรมเหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 36

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กลอนเหล่าใดเหล่าหนึ่งของเรือนยอด กลอนเหล่านั้นทั้งหมด ไปหายอด น้อมไปสู่ยอด รวมที่ยอด ยอด โลกกล่าวว่า เป็นยอดของกลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กลิ่นหอมที่เกิดแต่รากชนิดใดชนิดหนึ่ง กฤษณา โลกกล่าวว่า เป็นยอดแห่งกลิ่นหอมที่เกิดแต่รากเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กลิ่นหอมที่เกิดแต่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่า เป็นยอดของกลิ่นหอมที่เกิดขึ้นแต่แก่นเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กลิ่นหอมที่เกิดแต่ดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ดอกมะลิ โลกกล่าวว่า เป็นยอดแห่งกลิ่นหอมเกิดแต่ดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาน้อยเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พระราชาเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นอนุยนต์ไปตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิ โลกกล่าวว่าเป็นยอดของพระราชาเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แสงสว่างแห่งดวงดาวเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แสงสว่างเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันบัณฑิตแบ่งออกแล้ว ๑๖ ครั้งของแสงสว่างแห่งดวงจันทร์ แสงสว่างแห่งดวงจันทร์ โลกกล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 37

เป็นยอดแห่งแสงสว่างเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสรทฤดู เมื่อฝนขาดปราศจากเมฆแล้ว ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นสู่ท้องฟ้า กำจัดความมืดที่มีในอากาศทั้งหมดแล้ว ย่อมส่องแสง แผดแสงและแจ่มกระจ่าง แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่ๆ สายใดสายหนึ่ง คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นสายน้ำไหลไปสู่สมุทร โน้มไปสู่สมุทร น้อมไปสู่สมุทร มหาสมุทร โลกกล่าวว่าเป็นยอดแห่งแม่น้ำเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดของกุศลธรรมเหล่านั้น ฯลฯ

จบอัปปมาทสูตรที่ ๕

อรรถกถาอัปปมาทสูตรที่ ๕

อัปปมาทสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เอวเมว โข ความว่า การาปกอัปปมาท ความไม่ประมาทเหตุให้ทำกุศล พึงเห็นว่าเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทุกอย่าง เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉะนั้น. ถามว่า ก็การาปกอัปปมาทนั้น เป็นโลกิยะ ฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นโลกุตระก็มี ก็การาปกอัปปมาทนี้ เป็นกามาวจรอย่างเดียว ฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย เป็น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 38

ไปในภูมิ ๔ มิใช่หรือ ก็การาปกอัปปมาทนี้ เป็นยอดแห่งกุศลธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร. ตอบว่า เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้ได้. จริงอยู่ กุศลธรรมเหล่านั้น บุคคลย่อมได้ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทนั้น จึงชื่อว่า เป็นยอดแห่งกุศลธรรมเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นมูล. บทว่า ชงฺคลานํ แปลว่า ผู้สัญจรไปตลอดพื้นแผ่นดิน. บทว่า ปาณานํ ได้แก่ สัตว์มีเท้า. บทว่า ปทชาตานิ แปลว่า รอยเท้า. บทว่า สโมธานํ คจฺฉนฺติ แปลว่า ย่อมรวมลง ใส่ลง. บทว่า อคฺคมกฺขายติ แปลว่า ท่านกล่าวว่าประเสริฐ. บทว่า ยทิทํ มหนฺตตฺเตน ความว่า ท่านกล่าวว่าเลิศ เพราะเป็นรอยเท้าใหญ่ ไม่ใช่กล่าวโดยคุณ. บทว่า วสฺสิกํ ได้แก่ ดอกมะลิ เขาว่าพระเจ้าภาติยมหาราชทรงสดับพระสูตรนี้แล้ว ทรงประสงค์จะทดลอง จึงให้เอาดอกไม้หอมมาอบด้วยของหอม ๔ ชนิด ณ ห้องๆ หนึ่ง วางกำดอกมะลิไว้กลางห้องๆ หนึ่ง ทำดอกไม้ที่เหลือเป็นกำวางไว้รอบๆ กำดอกมะลินั้น ทรงปิดพระทวารเสียแล้วเสด็จออกไปข้างนอก เมื่อทรงพักอยู่ข้างนอกครู่หนึ่งแล้ว เปิดพระทวารเสด็จเข้าไป กลิ่นดอกมะลิกระทบพระนาสิกก่อนดอกไม้ทั้งหมด. ท้าวเธอลงบรรทม ณ พื้นแท่นใหญ่ นั้นแล ผินพระพักตร์ไปทางพระมหาเจดีย์ ทรงไหว้พระเจดีย์ ด้วยทรงยอมรับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสว่า ดอกมะลิเป็นยอดแห่งบุปผคันธชาติเหล่านั้น ชื่อว่าตรัสไว้ชอบแล้ว. บทว่า กุฑฺฑราชาโน ได้แก่ พระราชาน้อย. ปาฐะว่า กุฏราชาโน ดังนี้ก็มี.

จบอรรถกถาอัปปมาทสูตรที่ ๕