พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยอริยวสสูตร ว่าด้วยธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 พ.ย. 2564
หมายเลข  39769
อ่าน  719

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 49

ปฐมปัณณาสก์

นาถกรณวรรคที่ ๒

๑๐. ทุติยอริยวสสูตร

ว่าด้วยธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 49

๑๐. ทุติยอริยวสสูตร

ว่าด้วยธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ

[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุชื่อกัมมาสธรรม ในแคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ ที่พระอริยะอยู่แล้วก็ดี กำลังอยู่ก็ดี จักอยู่ก็ดี ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการ เป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ๑ ประกอบด้วยองค์หก ๑ รักษาแต่อย่างเดียว ๑ มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ ๑ มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้แล้ว ๑ มีการแสวงหาอันสละแล้วด้วยดี ๑ มีความดำริไม่ขุ่นมัว ๑ มีกายสังขารอันสงบ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 50

ระงับแล้ว ๑ มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑ มีปัญญาอันหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะได้แล้ว ๑ เป็นผู้ละพยาบาทได้แล้ว ๑ เป็นผู้ละถีนมิทธะได้แล้ว ๑ เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ๑ เป็นผู้ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รักษาแต่อย่างเดียวอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยใจอันรักษาด้วยสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รักษาแต่อย่างเดียว อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้วย่อมเสพของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมอดกลั้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมเว้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมบรรเทาของอย่างหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ อย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 51

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาแล้วอย่างไร ปัจเจกสัจจะเป็นอันมาก เหล่าใดเหล่าหนึ่งของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก คือสัจจะว่าโลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็นอื่น สรีระเป็นอื่นบ้าง สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกบ้าง สัตว์เมื่อตายไปย่อมไม่เป็นอีกบ้าง สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง สัจจะเหล่านั้นทั้งหมดเป็นของอันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้แล้ว กำจัดออกแล้ว สละได้แล้ว คลายได้แล้ว พ้นได้แล้ว ละได้แล้ว สลัดได้เฉพาะแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะอันบรรเทาได้แล้วอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละการแสวงหากามได้แล้ว เป็นผู้ละการแสวงหาภพได้แล้ว เป็นผู้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละความดำริในกามได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริในพยาบาทได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริในวิหิงสาได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารสงบระงับแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 52

ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับแล้วอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีจิตอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างไร จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นธรรมชาติหลุดพ้นแล้วจากราคะ หลุดพ้นแล้วจากโทสะ หลุดพ้นแล้วจากโมหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีจิตอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า ราคะเราละได้แล้ว ตัดรากได้ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมรู้ชัดว่า โทสะเราละได้แล้ว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า โมหะเราละได้แล้ว ตัดรากได้ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลอยู่อาศัยแล้วซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการเหล่านี้เทียว พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักอยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการเหล่านั้นเทียว พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันนี้ อยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมอยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการเหล่านี้เทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ที่พระ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 53

อริยเจ้าอยู่อาศัยแล้วก็ดี กำลังอยู่อาศัยก็ดี จักอยู่อาศัยก็ดี ๑๐ ประการนี้แล.

จบทุติยอริยวสสูตรที่ ๑๐

จบนาถกรณวรรคที่ ๒

อรรถกถาทุติยอริยวสสูตรที่ ๑๐

ทุติยอริยวสสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ก็เพราะเหตุที่ภิกษุชาวกุรุรัฐ มีปัญญาลึกซึ้ง ขวนขวายกันในเวลาอันสมควร ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้ที่ลึกซึ้ง นำไตรลักษณ์อันละเอียดอ่อนมาอย่างนั้นเหมือนกัน เหมือนที่ตรัสมหานิทานสูตรเป็นต้น ในคัมภีร์ทีฆนิกายเป็นอาทิแก่ภิกษุเหล่านั้น ฉะนั้น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจงฺควิปฺปหีโน ความว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยองค์ ๕ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กำลังอยู่ จักอยู่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนี้จึงตรัสเรียกว่า อริยวาส เพราะมีธรรมเครื่องอยู่สำหรับพระอริยะ เพราะเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ในบททั้งปวงก็นัยดังนี้.

บทว่า เอวํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ฉฬงฺคสมนฺนาคโต โหติ ความว่า ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา ถามว่า อะไรชื่อว่า ฉฬังคุเบกขาธรรม ตอบว่า ธรรมทั้งหลายมีญาณเป็นต้น เมื่อกล่าวว่า ญาณ ย่อมได้กิริยาจิตที่สัมปยุตด้วยญาณ ๔ ดวง เมื่อกล่าวว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ติดต่อกัน ก็ได้มหาจิต ๘ ดวง เมื่อกล่าวว่า ความรักความโกรธไม่มี ก็ย่อมได้จิต ๑๐ ดวง โสมนัสสญาณ ก็ได้ด้วยอำนาจอาเสวนปัจจัย.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 54

บทว่า สตารกฺเขน เจตสา ความว่า ก็สติของพระขีณาสพ ย่อมให้สำเร็จกิจคือหน้าที่รักษาในทวารทั้ง ๓ ทุกเวลา ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ญาณทัสสนะของพระขีณาสพนั้น ซึ่งเดินยืนหลับและตื่น ท่านจึงเรียกว่า ย่อมปรากฏติดต่อกัน มีอยู่พร้อมแล้ว. บทว่า ปุถุสมณพฺราหฺมณานํ ได้แก่ ของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก. ก็ในคำว่า ปุถุสมณพฺราหฺมณานํ นี้ ที่ชื่อว่า สมณะ ได้แก่ ผู้ถือบรรพชา. ที่ชื่อว่า พราหมณ์ ได้แก่ ผู้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ.

บทว่า ปุถุปจฺเจกสจฺจานิ ได้แก่ สัจจะแต่ละแผนกเป็นอันมาก. อธิบายว่า สัจจะเป็นอันมาก ที่ยึดถือกันเป็นแผนกๆ อย่างนี้ว่า ความเห็นนี้เท่านั้นเป็นสัจจะ บทว่า นุณฺณานิ แปลว่า ถูกนำออกแล้ว. บทว่า ปนุณฺณานิ แปลว่า ถูกนำออกด้วยดีแล้ว. บทว่า จตฺตานํ แปลว่า อันเขาสละแล้ว. บทว่า วนฺตานิ แปลว่า คายเสียแล้ว. บทว่า มุตฺตานิ ได้แก่ ตัดเครื่องผูกได้แล้ว. บทว่า ปหีนานิ แปลว่า อันละเสียแล้ว. บทว่า ปฏินิสฺสฏฺานิ ได้แก่ สละคืนโดยที่ทัสสนะเหล่านั้นจะไม่ขึ้นสู่จิตอีก. ก็บทเหล่านั้นทุกบทเป็นไวพจน์ของความที่บุคคลสละความยึดถือที่คนยึดถืออยู่ได้แล้ว.

บทว่า สมวยสฏฺเสโน ความว่า อวยา แปลว่า ไม่หย่อน สฏฺา แปลว่า สละได้แล้ว. การแสวงหาอันไม่หย่อน อันสละได้แล้วของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่ามีการแสวงหาไม่หย่อน อันสละได้แล้วด้วยดี อธิบายว่า ผู้แสวงหาสัจจะอันตนสละแล้วได้ด้วยดี. ด้วยบทว่า ราคา จิตฺตํ วิมุตฺตํ จิตพ้นจากราคะเป็นต้น ตรัสมรรคทำกิจคือหน้าที่สำเร็จ ด้วยบทว่า ราโค เม ปหีโน ราคะเราละได้แล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 55

เป็นต้น ตรัสผลด้วยปัจจเวกขณญาณ. คำที่เหลือในที่ทุกแห่ง ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาทุติยอริยวสสูตรที่ ๑๐

จบนาถกรณวรรคที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เสนาสนสูตร ๒. อังคสูตร ๓. สังโยชนสูตร ๔. ขีลสูตร ๕. อัปปมาทสูตร ๖. อาหุเนยยสูตร ๗. ปฐมนาถสูตร ๘. ทุติยนาถสูตร ๙. ปฐมอริยวสสูตร ๑๐. ทุติยอริยวสสูตร.