พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมโกสลสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้คํากล่าวตู่ของสมณพราหมณ์นอกศาสนา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 พ.ย. 2564
หมายเลข  39778
อ่าน  376

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 107

ปฐมปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๓

๙. ปฐมโกสลสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้คํากล่าวตู่ของสมณพราหมณ์นอกศาสนา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 107

๙. ปฐมโกสลสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้คำกล่าวตู่ของสมณพราหมณ์นอกศาสนา

[๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาสีและโกศลชนบทมีประมาณเท่าใด แว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด พระเจ้าปเสนทิโกศล ประชาชนกล่าวว่าเป็นผู้เลิศในกาสีและโกศลชนบท และแว่นแคว้นประมาณเท่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่โดยแท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น เมื่อหน่ายในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเลิศแห่งสมบัติ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 108

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนส่องทิศให้ไพโรจน์อยู่ในที่มีประมาณเท่าใด โลกธาตุพันหนึ่งมีอยู่ในที่มีประมาณเท่านั้น ในโลกธาตุพันหนึ่งนั้นมีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ขุนเขาสิเนรุหนึ่งพัน ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน เทวโลกชั้นมหาราชสี่พัน ชั้นจาตุมหาราชิกาหนึ่งพัน ชั้นดาวดึงส์หนึ่งพัน ชั้นยามาหนึ่งพัน ชั้นดุสิตหนึ่งพัน ชั้นนิมมานรดีหนึ่งพัน ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีหนึ่งพัน ชั้นพรหมโลกหนึ่งพัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พันโลกธาตุมีประมาณเท่าใด ท้าวมหาพรหม โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในพันโลกธาตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ความแปรปรวนก็มีอยู่แม้แก่ท้าวมหาพรหม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพันโลกธาตุนั้น เมื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่โลกนี้พินาศมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในพรหมโลกชั้นอาภัสสระโดยมาก สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยใจ มีปีติเป็นภักษา มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปได้ในอากาศ มีปกติดำรงอยู่ได้ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระนั้นตลอดกาลยืดยาวนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ อาภัสสรเทพทั้งหลาย โลกกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีแม้แก่อาภัสสรเทพทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระนั้น เมื่อหน่ายในพรหมโลกชั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 109

อาภัสสระนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือบุคคลผู้หนึ่ง ย่อมจำปฐวีกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวาโยกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโลหิตกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณ ฯลฯ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ที่บุคคลผู้หนึ่งจำได้ เป็นยอดสัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือคนหนึ่งมีรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 110

คนหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว เปรียบเหมือนดอกผักตบเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง เขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๕.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเหลือง มีสีเหลือง รัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง เปรียบเหมือนดอกกรรณิการ์เหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง เหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 111

ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๖.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกแดง มีสีแดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง เปรียบเหมือนดอกเส้งแดง มีสีแดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง แดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกแดง มีสีแดง มีรัศมีแดง แสงสว่างแดง ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๗.

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว เปรียบเหมือนดาวประกายพฤกษ์ขาว มีสีขาว มีรัศมีขาว แสงสว่างขาว ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง ขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล บรรดาอภิภายตนะ ๘ ประการนี้ อภิภายตนะประการที่ ๘ คือคนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว มีรัศมีขาว แสงสว่างขาว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวน มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 112

ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในอภิภายตนะนั้น เมื่อหน่ายในอภิภายตนะนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑ ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็วเป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ปฏิบัติอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในปฏิปทานั้น เมื่อหน่ายในปฏิปทานั้นย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือคนหนึ่งย่อมจำปริตตารมณ์ (๑) คนหนึ่งย่อมจำมหัคคตารมณ์ (๒) คนหนึ่งย่อมจำอัปปมาณารมณ์ (๓) คนหนึ่งย่อมจำอากิญจัญญายตนะ (๔) ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัญญา ๔ ประการนี้ อากิญจัญญายตนะที่คนหนึ่งจำได้ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ เป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในสัญญานั้น เมื่อ


(๑) กามาวจรสัญญา. (๒) รูปาวจรสัญญา. (๓) โลกุตรสัญญา. (๔) อากิญจัญญายตนะ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 113

หน่ายในสัญญานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาทิฏฐินอกศาสนา ทิฏฐิว่า ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตภาพนี้ไม่พึงมีแก่เรา ถ้าเราจักไม่มีไซร้ ความห่วงในอะไรจักไม่มีแก่เรา ดังนี้ เป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีทิฏฐิอย่างนี้พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ความที่ใจไม่ชอบในภพจักไม่มีแก่เขา และความที่ใจชอบในความดับภพจักไม่มีแก่เขา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฏฐิอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในทิฏฐินั้น เมื่อหน่ายในทิฏฐินั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุดมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่นั้น เลิศกว่าบรรดาสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้นรู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 114

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบันมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ เลิศกว่าการบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบันแห่งสมณพราหมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง ด้วยคำเปล่า ด้วยคำเท็จ ด้วยคำไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมไม่บัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายด้วย เราเป็นผู้หายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว ย่อมบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานในปัจจุบัน.

จบปฐมโกสลสูตรที่ ๙

อรรถกถาปฐมโกสลสูตรที่ ๙

ปฐมโกสลสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ยาวตา แปลว่า มีประมาณเท่าใด. บทว่า กาสีโกสลา ได้แก่ ชาวแคว้นกาสีและโกศล. บทว่า อตฺเถว อญฺถตฺตํ แปลว่า ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่. บทว่า อตฺถิ วิปริณาโม แปลว่า แม้ความแปรปรวนมีอยู่. บทว่า ตสฺมิํปิ นิพฺพินฺทติ ได้แก่ ย่อมระอาในภาวะแม้นั้น ที่ตั้งอยู่ด้วยสมบัติ. บทว่า อคฺเค วิรชฺชติ ได้แก่ ย่อมคลายกำหนัด แม้ในภาวะเป็นพระเจ้าโกศลอันเลิศด้วยสมบัติ. บทว่า ปเคว หีนสฺมิํ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 115

ความว่า จะป่วยกล่าวไปไยในกามคุณ ๕ ของเหล่ามนุษย์นอกนี้ ที่ทรามกว่าอย่างแรกนั้นแล. บทว่า มโนมยา แปลว่า อันบังเกิดด้วยใจที่สัมปยุตด้วยฌาน.

บทว่า พาราณเสยฺยกํ แปลว่า อันเกิดขึ้นในกรุงพาราณสี. จริงอยู่ ในกรุงพาราณสีนั้น แม้ฝ้ายก็อ่อน กลุ่มเส้นด้ายก็ดี การทอก็ดี ก็ทำกันด้วยความฉลาด แม้น้ำก็สะอาด จืดสนิท. บทว่า อุภโตภาควิมฏฺํ ได้แก่ ปรากฏว่าเกลี้ยงเกลาทั้ง ๒ หน้า ละมุนละไม สดใส. ตรัสปฏิปทา ๔ คละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.

บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาที่ ๑ คือกามาวจรสัญญา สัญญาที่ ๒ คือรูปาวจรสัญญา สัญญาที่ ๓ คือโลกุตรสัญญา สัญญาที่ ๔ คืออากิญจัญญายตนสัญญา. แต่เพราะเหตุที่สัญญานั้นชักมาว่าเป็นยอด มิได้ทรงบัญญัติสัญญาอื่นนอกจากนั้น ฉะนั้น จึงตรัสว่าเลิศ. บทว่า พาหิรกานํ ได้แก่ ทิฏฐิที่เป็นไปภายนอกพระศาสนา. บทว่า โน จสฺสํโน จ เม สิยา ความว่า ถ้าเราไม่ได้มีมาแล้วในอดีต แม้ปัจจุบัน อัตภาพนี้ของเรา ก็ไม่พึงมี. บทว่า ภวิสฺสามิ น เม ภวิสฺสติ ความว่า แม้ถ้าในอนาคต เราจักไม่มีไซร้ ความกังวลอะไรของเรา ก็จักไม่มี.

บทว่า อคฺเค วิรชฺชติ ได้แก่ ย่อมคลายความกำหนัดในอุจเฉททิฏฐิ. จริงอยู่ อุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าเป็นเลิศเพราะเป็นเครื่องเผาพระนิพพานในพระศาสนานี้. บทว่า ปรมยกฺขวิสุทฺธิํ ได้แก่ ความหมดจดในสัตว์สูงสุด คำนี้เป็นชื่อของเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ. แท้จริง อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าเลิศเพราะเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา เนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่าเลิศเพราะมีอายุยืนแล.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 116

บทว่า ปรมทิฏฺธมฺมนิพฺพานํ แปลว่า นิพพานอันยอดยิ่งในอัตภาพนี้นี่แล. บทว่า อนุปาทาวิโมกฺโข ได้แก่ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ๔. คำนี้เป็นชื่อของพระอรหัต. บทว่า ปริญฺํ ได้แก่ การก้าวล่วง. ในคำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลายด้วยปฐมฌาน ทรงบัญญัติการกำหนดรู้รูปทั้งหลายด้วยอรูปาวจรฌานทั้งหลาย ทรงบัญญัติการกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายด้วยอนุปาทาปรินิพพาน. ก็พระนิพพาน ชื่อว่ากำหนดรู้เวทนาทั้งหลายเพราะละเวทนาได้หมด. บทว่า อนุปาทาปรินิพฺพานํ ได้แก่ อปัจจยปรินิพพาน นิพพานที่หาปัจจัยมิได้. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสพระสูตรนี้ ทรงเห็นภิกษุ ๕๐๐ รูป อยากสึก จึงตรัสเพื่อบรรเทาความอยากสึกของภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุแม้เหล่านั้น บรรเทาความอยากสึกได้แล้ว ชำระญาณตามกระแสเทศนา ก็เป็นโสดาบัน ต่อมาเจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตแล.

จบอรรถกถาปฐมโกสลสูตรที่ ๙