พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อุพพาหสูตร ว่าด้วยภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ สงฆ์พึงสมมติให้รื้อฟื้นอธิกรณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39786
อ่าน  435

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 131

ปฐมปัณณาสก์

อุปาลิวรรคที่ ๔

๓. อุพพาหสูตร

ว่าด้วยภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ สงฆ์พึงสมมติให้รื้อฟื้นอธิกรณ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 131

๓. อุพพาหสูตร

ว่าด้วยภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ สงฆ์พึงสมมติให้รื้อฟื้นอธิกรณ์

[๓๒] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์.

พ. ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบธรรม ๑๐ ประการแล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูตร ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ปาติโมกข์ทั้งสองเป็นอุเทศอันภิกษุนั้นจำดีแล้ว จำแนกดีแล้ว กล่าวดีแล้ว โดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ๑ อนึ่ง ภิกษุนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 132

เป็นผู้เคร่งครัดในวินัยไม่ง่อนแง่น ๑ เป็นผู้สามารถเพื่ออันยังอยู่คู่ความทั้งสองฝ่ายให้ยินยอม ให้ตรวจดู ให้เห็นเหตุผล ให้เลื่อมใสได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ ๑ รู้อธิกรณ์ ๑ รู้เหตุเป็นที่เกิดขึ้นแห่งอธิกรณ์ ๑ รู้ความดับแห่งอธิกรณ์ ๑ รู้ทางปฏิบัติเป็นเครื่องถึงความดับอธิกรณ์ ๑ ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้แล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์.

จบอุพพาหสูตรที่ ๓

อรรถกถาอุพพาหสูตรที่ ๓

อุพพาหสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อุพฺพาหิกาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การชักขึ้นยกขึ้นไว้ เพื่อระงับอธิกรณ์ที่มาถึงแล้ว. บทว่า วินเย โข ปน ิโต โหติ ได้แก่ เป็นผู้ตั้งอยู่ในลักษณะแห่งวินัย. บทว่า อสํหิโร ได้แก่ ไม่ละทิ้งลัทธิของตนด้วยเหตุเพียงคำพูดของบุคคลอื่น. บทว่า ปฏิพโล ได้แก่ ประกอบด้วยกำลังกายบ้าง กำลังความรู้บ้าง. บทว่า สญฺาเปตุํ ได้แก่ ให้ยินยอม. บทว่า นิชฺฌาเปตุํ ได้แก่ ให้เพ่งดู. บทว่า เปกฺขาตุํ ได้แก่ ให้เห็น. บทว่า ปสาเทตุํ ได้แก่ กระทำให้เกิดความเลื่อมใสเอง. บทว่า อธิกรณํ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ มีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น. บทว่า อธิกรณสมุทยํ ได้แก่ เหตุเกิดอธิกรณ์มีมูลวิวาทเป็นต้น. บทว่า อธิกรณนิโรธํ ได้แก่ ระงับอธิกรณ์. บทว่า อธิกรณนิโรธคามินีปฏิปทํ ได้แก่ อธิกรณสมถะ ๗ อย่าง.

จบอรรถกถาอุพพาหสูตรที่ ๓