พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สักกสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเตือนอุบาสกชาวสักกะให้รักษาอุโบสถเป็นนิตย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39799
อ่าน  363

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 150

ปฐมปัณณาสก์

อักโกสวรรคที่ ๕

๖. สักกสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเตือนอุบาสกชาวสักกะให้รักษาอุโบสถเป็นนิตย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 150

๖. สักกสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงเตือนอุบาสกชาวสักกะให้รักษาอุโบสถเป็นนิตย์

[๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวสักกชนบทเป็นอัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 151

มาก ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามอุบาสกชาวสักกชนบทว่า ดูก่อนอุบาสกชาวสักกชนบททั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แลหรือ อุบาสกชาวสักกชนบทเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บางคราวข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ บางคราวไม่ได้รักษา พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้ดีเสียแล้ว ที่ท่านทั้งหลายเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอยู่อย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ บางคราวก็ไม่ได้รักษา ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ พึงยังทรัพย์กึ่งกหาปณะให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบโดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น.

อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้พึงยังทรัพย์กหาปณะหนึ่งให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบโดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษผู้ฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น.

อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 152

ข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ พึงยังทรัพย์ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ๔ กหาปณะ ๕ กหาปณะ ๖ กหาปณะ ๗ กหาปณะ ๘ กหาปณะ ๙ กหาปณะ ๑๐ กหาปณะ ๒๐ กหาปณะ ๓๐ กหาปณะ ๔๐ กหาปณะ ๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบ โดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษผู้ฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น.

อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อยังทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน เก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้ เป็นผู้มีชีวิตร้อยปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมาก บ้างหรือหนอ.

อุ. พึงเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วันหรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง บ้างหรือหนอ.

อุ. มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร.

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของมีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา.

พ. ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ส่วนสาวกของเราในธรรม-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 153

วินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ ปี พึงเป็นผู้เสวยความสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี พึงเป็นผู้เสวยความสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี พึงเป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๑๐ เดือน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ เดือนจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ เดือน ๘ เดือน ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย กึ่งเดือนจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๑๐ คืน ๑๐ วัน พึงเป็นผู้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 154

เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ คืน ๑๐ วัน จงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ คืน ๙ วัน ๘ คืน ๘ วัน ๗ คืน ๗ วัน ๖ คืน ๖ วัน ๕ คืน ๕ วัน ๔ คืน ๔ วัน ๓ คืน ๓ วัน ๒ คืน ๒ วัน ๑ คืน ๑ วัน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี ดูก่อนอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้ดีแล้ว ที่ท่านทั้งหลายเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันมีองค์ ๘ บางคราวก็ไม่รักษา.

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้จักรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสักกสูตรที่ ๖

อรรถกถาสักกสูตรที่ ๖

สักกสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า โสกสภเย แปลว่า มีภัยเพราะความโศก. ปาฐะว่า โสกภเย ดังนี้บ้าง. ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า เยน กมฺมฏฺาเนน ความว่า บรรดาการงานทั้งหลายมีการไถ การค้าขายเป็นต้น การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า อนาปชฺช อกุสลํ ความว่า ไม่ถึงอกุศลไรๆ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 155

บทว่า นิพฺพิเสยฺย ได้แก่ พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้เสียไป. บทว่า ทกฺโข แปลว่า ผู้ฉลาด. บทว่า อุฏฺานสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความขยันหมั่นเพียร. บทว่า อลํ วจนาย แปลว่า ควรที่จะกล่าว. บทว่า เอกนฺตสุขปฏิสํเวที วิหเรยฺย ความว่า รับรู้เสวยสุขทางกายและทางใจส่วนเดียวด้วยญาณอยู่.

บทว่า อนิจฺจา ได้แก่ มีแล้วก็ไม่มี. บทว่า ตุจฺฉา ได้แก่ เว้นจากความชื่นใจ. บทว่า มุสา ได้แก่ กามแม้จะลวงประหนึ่งว่าเที่ยง งาม และสุข ก็ไม่เป็นอย่างนั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่า โมสธมฺมา ได้แก่ มีอันเสียไปเป็นสภาวะ เพราะฉะนั้น จึงทรงชี้ว่า อาศัยกามเหล่านั้นจึงเกิดทุกข์. บทว่า โว ในคำว่า อิธ โข ปน โว นี้เป็นเพียงนิบาต. บทว่า อปณฺณกํ วา โสตาปนฺโน ความว่า หรือว่าเป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดโดยส่วนเดียว. แม้ผู้นั้นทำฌานให้เกิดแล้ว ก็ไปพรหมโลก หรือเสวยสุขส่วนเดียวในกามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้นอยู่. ในพระสูตรนี้ พระศาสดาตรัสคุณของอุโบสถ ประกอบด้วยองค์ ๘.

จบอรรถกถาสักกสูตรที่ ๖