พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มหาลิสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการทําบาปกรรมและกัลยาณกรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39800
อ่าน  367

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 155

ปฐมปัณณาสก์

อักโกสวรรคที่ ๕

๗. มหาลิสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งการทําบาปกรรมและกัลยาณกรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 155

๗. มหาลิสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งการทำบาปกรรมและกัลยาณกรรม

[๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี ครั้นนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระ-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 156

ผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนมหาลี โลภะแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม ดูก่อนมหาลี โทสะแล ฯลฯ โมหะแล ฯลฯ อโยนิโสมนสิการแล ฯลฯ ดูก่อนมหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม ดูก่อนมหาลี กิเลสมีโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม.

ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม.

พ. ดูก่อนมหาลี อโลภะแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม ดูก่อนมหาลี อโทสะแล ฯลฯ อโมหะแล ฯลฯ โยนิโสมนสิการแล ฯลฯ ดูก่อนมหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ชอบแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม ดูก่อนมหาลี ธรรมมีอโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม ดูก่อนมหาลี ถ้าธรรม ๑๐ ประการ (กุศลกรรมบถ) นี้แลไม่พึงมีในโลก ชื่อว่าความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ ดูก่อนมหาลี ก็เพราะธรรม ๑๐ ประการนี้มีพร้อมอยู่ในโลก ฉะนั้น ชื่อว่าความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม จึงปรากฏ (ในโลกนี้).

จบมหาลิสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 157

อรรถกถามหาลิสูตรที่ ๗

มหาลิสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มิจฺฉาปณิหิตํ แปลว่า ที่เขาตั้งไว้ผิด. บทว่า อธมฺมจริยา วิสมจริยา ความว่า พึงทราบวิสมจริยาความประพฤติไม่เรียบร้อย กล่าวคือ อธรรมจริยา ความประพฤติอธรรมได้ก็ด้วยอำนาจอกุศลกรรมบถ จริยานอกนี้ก็ด้วยอำนาจกุศลกรรมบถ. ในพระสูตรนี้ ตรัสเฉพาะวัฏฏะเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถามหาลิสูตรที่ ๗