พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สาริปุตตสูตร ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39806
อ่าน  363

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 171

ทุติยปัณณาสก์

สจิตตวรรคที่ ๑

๒. สาริปุตตสูตร

ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 171

๒. สาริปุตตสูตร (๑)

ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน

[๕๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่าเราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาวมีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากว่าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย การพิจารณาของภิกษุว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ


(๑) สูตรที่ ๒ ไม่มีอรรถกถาอธิบาย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 172

หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก เราเป็นผู้อันถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่โดยมาก เราเป็นผู้ฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยโดยมาก เราเป็นผู้มีความโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีความโกรธอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีกายอันปรารภแรงกล้าอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีกายอันมิได้ปรารภแรงกล้าอยู่โดยมาก เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้น ฉันใด ภิกษุพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 173

และสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป.

จบสาริปุตตสูตรที่ ๒