พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ฐิติสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญความตั้งอยู่ในกุศลธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39807
อ่าน  360

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 173

ทุติยปัณณาสก์

สจิตตวรรคที่ ๑

๓. ฐิติสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญความตั้งอยู่ในกุศลธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 173

๓. ฐิติสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญความตั้งอยู่ในกุศลธรรม

[๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ซึ่งความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมในกุศลธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายมีอยู่ มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 174

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่เสื่อม ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เสื่อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่าเราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย ถ้าว่าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมดีใจ มีความ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 175

ดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาของภิกษุว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าอันไฟไหม้หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะ ฉันใด ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป.

จบฐิติสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 176

อรรถกถาฐิติสูตรที่ ๓

ฐิติสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปฏิภาเณน ได้แก่ ด้วยการตั้งถ้อยคำไว้.

จบอรรถกถาฐิติสูตรที่ ๓