พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมวัตถุกถาสูตร ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39823
อ่าน  427

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 215

ทุติยปัณณาสก์

ยมกวรรคที่ ๒

๙. ปฐมวัตถุกถาสูตร

ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 215

๙. ปฐมวัตถุกถาสูตร

ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ

[๖๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 216

หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือสนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องทำนา เรื่องคนล่วงลับไปแล้ว เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนอาสนะอันเขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แหละกถาอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนาค้างไว้ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาซึ่งดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือสนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายสนทนากันถึงดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือสนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมนี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คืออัปปิจฉกถา ๑ สันตุฏฐิกถา ๑ ปวิเวกกถา ๑ อสังสัคคกถา ๑ วิริยารัมภกถา ๑ สีลกถา ๑ สมาธิกถา ๑ ปัญญากถา ๑ วิมุตติกถา ๑ วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล ดูก่อน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 217

ภิกษุทั้งหลาย หากว่าเธอทั้งหลายยึดถือเอากถาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้วกล่าวเป็นกถาไซร้ เธอทั้งหลายพึงครอบงำเดชแม้ของพระจันทร์และพระอาทิตย์ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยเดชได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเล่า.

จบปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙

อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙

ปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ติรจฺฉานกถํ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์. บรรดาดิรัจฉานกถานั้น กถา คือเรื่องที่ปรารภพระราชาแล้วดำเนินไปโดยนัยเป็นต้นว่า พระเจ้ามหาสมมตราช พระเจ้ามันธาตุราช พระเจ้าธรรมาโศกราช ทรงมีอานุภาพมากอย่างนี้ ชื่อว่าราชกถา. ในโจรกถาเป็นต้นก็นัยนี้. กถาคือเรื่องที่กล่าวเกี่ยวกับเหย้าเรือน โดยนัยเป็นต้นว่า ราชาพระองค์โน้น งดงามน่าชม ก็เป็นดิรัจฉานกถา. ส่วนกถาที่เป็นไปอย่างนี้ว่า พระราชาแม้พระองค์นั้นมีอานุภาพมากอย่างนั้น ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ก็ยังตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐาน. แม้ในเหล่าโจร กถาที่อาศัยกรรมของโจรเหล่านั้นเป็นไป โดยนัยว่า มูลเทวโจรมีอำนาจมากอย่างนี้ เมฆมาลโจรมีอำนาจมากอย่างนี้ กถาที่เกี่ยวกับเหย้าเรือนว่า ใจพวกเขาเป็นคนกล้าหาญ ดังนั้น จึงเป็น ดิรัจฉานกถา. แม้ในเรื่องการยุทธ์ทั้งหลายมีภารตยุทธ์เป็นต้น กถาที่เป็นไปโดยอำนาจความยินดีในกรรม ว่าคนโน้น ถูกคนโน้นทำให้ตายอย่างนี้ ยิงอย่างนี้ ชื่อว่าดิรัจฉานกถา. ส่วนกถาที่เป็นไปอย่างนี้ว่า แม้คนเหล่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 218

นั้น ก็ถึงความสิ้นไป ย่อมเป็นกรรมฐานในกถาทุกกถา. อนึ่ง ในเรื่องอาหารมีข้าวเป็นต้น จะกล่าวด้วยอำนาจความยินดีในสิ่งน่าใคร่ว่า เราเคี้ยวกิน ดื่มบริโภค อาหารมีสีดี มีรสอร่อยอย่างนี้ ไม่ควร. แต่จะกล่าว ให้มีประโยชน์ว่า แต่ก่อน เราได้ถวายข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน มาลัย ของหอม ที่สมบูรณ์ด้วยสีเป็นต้น ได้ทำการบูชาพระเจดีย์อย่างนี้ ก็ควร. แม้ในเรื่องญาติทั้งหลาย จะกล่าวด้วยอำนาจความยินดีว่า พวกญาติของเราเป็นคนกล้าสามารถ หรือว่า แต่ก่อน พวกเราพากันท่องเที่ยวด้วยยานอันวิจิตรอย่างนี้ ไม่ควร. แต่พึงกล่าวให้เป็นประโยชน์อย่างนี้ว่า พวกญาติของเรานั้น ก็ถึงความสิ้นไป หรือว่า แต่ก่อน พวกเราได้ถวายรองเท้าอย่างนี้แก่สงฆ์. แม้กถาเรื่องบ้านที่เป็นไปด้วยอำนาจ ที่ตั้งอยู่ดี ที่ตั้งอยู่เลว หาภิกษาได้ง่าย หาภิกษาได้ยากเป็นต้น หรือด้วยอำนาจความยินดีอย่างนี้ว่า ชาวบ้านโน้นเป็นคนกล้าสามารถ ดังนี้ ไม่ควร. แต่จะกล่าวให้เป็นประโยชน์ว่า พวกเขามีศรัทธาเลื่อมใส หรือว่าเขาถึงความสิ้นความเสื่อมไป ดังนี้ก็ควร. แม้ในกถาเรื่องนิคม นคร ชนบทก็นัยนี้เหมือนกัน. แม้กถาเรื่องสตรี ที่เป็นไปอาศัยวรรณะและทรวดทรงเป็นต้น ด้วยอำนาจความยินดี ไม่ควร. แต่จะกล่าวอย่างนี้นี่แลว่า สตรีผู้นั้นมีศรัทธาเลื่อมใส ก็ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ก็ควร. แม้กถาเรื่องคนกล้าหาญ ที่เป็นไปด้วยอำนาจความยินดีเท่านั้นว่า นักรบชื่อนันทมิตร เป็นคนกล้า ดังนี้ ไม่ควร. ที่เป็นไปอย่างนี้นี่แลว่า เขาเป็นคนมีศรัทธา แต่ก็ถึงความสิ้นไปเสียแล้ว. ก็การกล่าวเรื่องสุราในบาลีมีหลายอย่าง กล่าวเรื่องของเมาด้วยอำนาจความยินดี ไม่ควร. กล่าวด้วยอำนาจแห่งโทษเท่านั้นจึงควร. แม้กถาเรื่องถนนหนทาง ที่เป็นไปด้วยอำนาจความยินดีว่า ถนนโน้นตั้งอยู่ดี ตั้งอยู่เลว ไม่ควร

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 219

ที่เป็นไปว่า คนถนนโน้นมีศรัทธาเลื่อมใส ก็ถึงความสิ้นไปดังนี้ จึงควร. กถาที่เกิดขึ้นประจำที่ท่าน้ำ กถาเรื่องท่าน้ำ หรือกถาเรื่องทาสีเทินหม้อน้ำ ท่านเรียกชื่อว่า กุมภัฏฐานกถา แม้กุมภัฏฐานกถานั้น ที่เป็นไปด้วยอำนาจความยินดีเท่านั้นว่า สตรีเทินหม้อน้ำน่าเลื่อมใส ฉลาดฟ้อนรำ ขับร้องดังนี้ ไม่ควร. ที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า นางมีศรัทธาเลื่อมใสดังนี้ จึงควร. กถาเรื่องญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ชื่อว่า ปุพพเปตกถา. ใน ปุพพเปตกถานั้น พึงทราบวินิจฉัยเช่นเดียวกับกถาเรื่องญาติปัจจุบัน. ดิรัจฉานกถาที่มีสภาวะต่างๆ ที่เหลือ พ้นจากกถาต้นและกถาหลัง ชื่อว่า นานัตตกถา. กถาสนทนากันด้วยโลกายตศาสตร์ วิตัณฑศาสตร์ เป็นต้น อย่างนี้ว่า โลกนี้ใครสร้าง กาขาวเพราะมีกระดูกขาว นกตะกรุมแดงเพราะมีเลือดแดง เทวะชื่อโน้นสร้าง ชื่อว่า โลกักขายิกา. กถาเรื่องกล่าวถึงสมุทร (ทะเล) อันกล่าวถึงเรื่องไร้ประโยชน์เป็นต้นอย่างนี้ว่า เพราะเหตุไรสมุทรจึงชื่อว่าสาคร. เพราะพระเจ้าสาคระทรงขุด สาครชื่อว่าสมุทร เพราะพระเจ้าสาคระทรงประกาศด้วยพระราชลัญจกรว่า สาครเราขุด ชื่อว่า สมุททักขายิกา. บทว่า ภโว ได้แก่ ความเจริญ. บทว่า อภโว ได้แก่ ความเสื่อม. บทว่า อิติภโว ความว่า กถาที่กล่าวถึงเหตุที่ไร้ประโยชน์ ไม่ว่าอย่างไรเป็นไป ชื่อว่า อิติภวาภวกถา.

บทว่า เตชสา เตชํ ได้แก่ เอาเดชครอบงำเดชของพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้น. บทว่า ปริยาทิเยยฺยาถ ได้แก่ ทำเดชของพระจันทร์ พระอาทิตย์ให้สิ้นไปดำรงอยู่. ในข้อนี้ มีเรื่องสาธก ดังนี้. ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งถามพระมหาเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายเมื่อจะเอาเดชครอบงำเดชทำอย่างไร. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 220

ภิกษุทั้งหลายยืนกลางแดดแห่งหนึ่ง กระทำโดยอาการที่เงาแดดไม่ลงข้างล่าง ไม่ขึ้นข้างบน.

จบอรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙