พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กัตถีสูตร ว่าด้วยภิกษุละธรรม ๑๐ ประการ จักถึงความเจริญงอกงามในธรรมวินัย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 พ.ย. 2564
หมายเลข  39839
อ่าน  350

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 262

ทุติยปัณณาสก์

เถรวรรคที่ ๔

๕. กัตถีสูตร

ว่าด้วยภิกษุละธรรม ๑๐ ประการ จักถึงความเจริญงอกงามในธรรมวินัย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 262

๕. กัตถีสูตร

ว่าด้วยภิกษุละธรรม ๑๐ ประการ จักถึงความเจริญงอกงามในธรรมวินัย

[๘๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะ อยู่ที่สหชาติวัน ในแคว้นเจตี ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหาจุนทะแล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวคำนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าทุติยฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าตติยฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าจตุตถฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าวิญญาณัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากิญจัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้.

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมไล่เลียง สอบถาม ซักถามภิกษุนั้น ภิกษุนั้นอันพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฯลฯ ไล่เลียง สอบถาม ซักถาม ย่อมถึงความเป็นผู้เปล่า ไม่มีคุณ ไม่เจริญ ถึงความพินาศ ถึงความไม่เจริญและความพินาศ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาดในสมาบัติ ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว กระทำไว้ในใจซึ่งภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 263

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฯลฯ กำหนดใจด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้กระทำศีลให้ขาด กระทำศีลให้ทะลุ กระทำศีลให้ด่าง กระทำศีลให้พร้อม ไม่กระทำความเพียรติดต่อ ไม่ประพฤตติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลตลอดกาลนาน ก็ความเป็นผู้ทุศีลนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความประพฤติไม่สมควร ก็ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธานี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้มีการสดับน้อย มีความประพฤติไม่สมควร ก็ความเป็นผู้มีการสดับน้อยนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้ว่ายาก มีความประพฤติไม่สมควร ก็ความเป็นผู้ว่ายากนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้มีมิตรชั่ว ก็ความเป็นผู้มีมิตรชั่วนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้เกียจคร้าน ก็ความเป็นผู้เกียจคร้านนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้มีสติหลงลืม ก็ความเป็นผู้มีสติหลงลืมนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้หลอกลวง ก็ความเป็นผู้หลอกลวงนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้เลี้ยงยาก ก็ความเป็นผู้เลี้ยงยากนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาทราม ก็ความเป็นผู้มีปัญญาทรามนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเสมือนสหายพึงกล่าวกะสหาย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 264

อย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย เมื่อใด กิจที่ควรกระทำด้วยทรัพย์มีอยู่แก่ท่าน ท่านพึงบอกเราให้ทราบ เราจะให้ทรัพย์แก่ท่าน สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อมีกิจที่ควรกระทำด้วยทรัพย์บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว จึงบอกกับสหายอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย เราต้องการทรัพย์ ขอท่านจงให้ทรัพย์แก่เรา สหายนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขุดลงไปในที่นี้ สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไปในที่นั้น ไม่พึงพบทรัพย์ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย ท่านได้พูดพล่อยๆ กะเรา ได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า ท่านจงขุดลงไปในที่นี้ สหายนั้นจึงพูดอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย เราหาได้พูดพล่อยๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ ท่านจงขุดลงไปในที่นี้เถิดสหาย อีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไปแม้ในที่นั้นก็ยังไม่พบทรัพย์ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านได้พูดพล่อยๆ กะเรา ได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า จงขุดลงไปในที่นี้ สหายนั้นตอบอย่างนี้ว่า เราหาได้พูดพล่อยๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ ถ้าเช่นนั้นท่านจงขุดลงไปในที่นี้ สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อขุดลงไป แม้ในที่นั้นก็ไม่พบทรัพย์ จึงพูดอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย ท่านพูดพล่อยๆ แก่เรา ท่านได้กล่าวคำเท็จกะเราว่า จงขุดลงไปในที่นี้ สหายนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหาย เราหาได้พูดพล่อยๆ ไม่ หาได้กล่าวคำเท็จไม่ แต่ว่าเราถึงความเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านไป ซึ่งมิใช่กำหนดรู้ด้วยใจ แม้ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในคุณวิเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาดในสมาบัติ ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมไล่เลียง สอบถาม ซักถามภิกษุนั้น ภิกษุนั้นอัน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 265

พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฯลฯ ไล่เลียง สอบถาม ซักถามอยู่ ย่อมถึงความเป็นผู้เปล่า ไม่มีคุณ ไม่เจริญ พินาศ ความไม่เจริญและความพินาศ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาด ในสมาบัติ ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในอันกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว กระทำไว้ในใจซึ่งภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้มีปกติกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษทั้งหลายว่า เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาดในสมาบัติ ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ทำให้ขาด ทำให้ทะลุ ทำให้ด่าง ทำให้พร้อย ไม่กระทำความเพียรติดต่อ ไม่ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลตลอดกาลนาน ก็ความเป็นผู้ทุศีลนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตป ระกาศแล้ว ฯลฯ ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาทราม ก็ความเป็นผู้มีปัญญาทรามนี้แล เป็นความเสื่อมในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแล ไม่ละธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการ นี้แล้ว จึงจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ อันเป็นฐานะที่จะมีได้.

จบกัตถีสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 266

อรรถกถากัตถีสูตรที่ ๕

กัตถีสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า กตฺถี โหติ วิกตฺถี แปลว่า เป็นผู้มีปกติพูด มีปกติพูดอวด ย่อมพูดเปิดเผย. บทว่า น สตตการี แปลว่า ไม่ทำต่อเนื่องกัน.

จบอรรถกถากัตถีสูตรที่ ๕