พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เวรสูตร ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2564
หมายเลข  39849
อ่าน  395

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 296

ทุติยปัณณาสก์

อุบาสกวรรคที่ ๕

๒. เวรสูตร

ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 296

๒. เวรสูตร

ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ

[๙๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกเข้าไประงับภัยเวร ๕ ประการเสียได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมอันเป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 297

นั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ภัยเวร ๕ ประการที่อริยสาวกเข้าไประงับแล้ว เป็นไฉน คือบุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรด้วยประการฉะนี้ บุคคลผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ฯลฯ บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ฯลฯ บุคคลผู้กล่าวคำเท็จ ฯลฯ บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปในทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาทแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรนั้นด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้ ย่อมสงบระงับไป.

อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 298

มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้.

ก็ญายธรรมที่เป็นอริยะ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนั้น ก็เพราะอวิชชาดับ โดยสำรอกหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 299

สฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ญายธรรมที่เป็นอริยะนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

ดูก่อนคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมที่เป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติและวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้า.

จบเวรสูตรที่ ๒

อรรถกถาเวรสูตรที่ ๒

เวรสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ภยานิ ได้แก่ ภัย คือความสะดุ้งแห่งจิต. บทว่า เวรานิ ได้แก่ อกุศลเวรและบุคคลเวร. บทว่า อริโย จสฺส าโย ได้แก่ มรรคพร้อมกับวิปัสสนา. บทว่า อิติ อิมสฺมิํ สติ อิทํ โหติ ความว่า เมื่อเหตุมีอวิชชาเป็นต้นนี้ มีอยู่อย่างนี้ ผลมีสังขารเป็นต้นจึงมี. บทว่า อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ ความว่า สหชาตปัจจัยอันใดมีอยู่ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสหชาตปัจจัยนั้น ผลนอกนี้ชื่อว่าย่อมเกิด. บทว่า อิมสฺมิํ อสฺสติ ความว่า เมื่อเหตุมีอวิชชาเป็นต้นไม่มี ผลมีสังขารเป็นต้นก็ไม่มี.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 300

บทว่า อิมสฺส นิโรธา ความว่า เพราะความไม่เป็นไปแห่งเหตุ ความไม่เป็นไปแห่งผลก็มี.

จบอรรถกถาเวรสูตรที่ ๒