พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. วัชชิยสูตร ว่าด้วยวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2564
หมายเลข  39851
อ่าน  512

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 306

ทุติยปัณณาสก์

อุบาสกวรรคที่ ๕

๔. วัชชิยสูตร

ว่าด้วยวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 306

๔. วัชชิยสูตร

ว่าด้วยวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก

[๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา ใกล้เมืองจัมปา ครั้งนั้นแล วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้ออกจากเมืองจัมปาแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้มีความคิดว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญ เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้เข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน บันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พวกเขาเห็นวัชชิยมาหิตคฤหบดีกำลังเดินทางมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้เปล่งเสียง วัชชิยมาหิตคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา วัชชิยมาหิตคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่งในบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดมอาศัยอยู่ในเมืองจัมปา ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉน เขาทราบบริษัทผู้มีเสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ วัชชิยมาหิตคฤหบดีก็เข้าไปหาพวกปริพาชกถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 307

กล่าวกะท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ได้ยินว่า พระมหาสมณโคดมทรงติเตียนตบะทั้งหมด เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้ายผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการเศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียวจริงหรือ.

วัชชิยมาหิตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนตบะทั้งหมดหามิได้ เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้ายผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการเศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียวก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนอยู่ ทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติตรัสแยกกัน ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมิใช่ที่ปกติตรัสโดยส่วนเดียว.

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่ง จึงพูดกะวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า ท่านหยุดก่อน คฤหบดี พระสมณโคดมที่ท่านกล่าวสรรเสริญ เป็นผู้แนะนำในทางฉิบหาย เป็นผู้ไม่มีบัญญัติ.

ว. ท่านผู้เจริญ แม้ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะกล่าวกะท่านผู้มีอายุทั้งหลายโดยชอบธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลไว้ดังนี้ จึงชื่อว่าทรงเป็นผู้มีบัญญัติ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมิใช่ผู้แนะนำในทางฉิบหาย ไม่ใช่ผู้ไม่มีบัญญัติ.

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกทั้งหลายได้เป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีทราบว่า ปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 308

ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบทุกประการ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ดีละ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล ดูก่อนคฤหบดี เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ไม่ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ไม่ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ควรสละ เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ไม่ควรสละ เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ควรหลุดพ้น เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ไม่ควรหลุดพ้น ดูก่อนคฤหบดี เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวตบะเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรบำเพ็ญ ก็เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวตบะเห็นปานนั้นว่า ควรบำเพ็ญ เมื่อบุคคลสมาทานการสมาทานอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสมาทาน เมื่อบุคคลสมาทานการสมาทานอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 309

เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ควรสมาทาน เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรเริ่มตั้ง เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ควรเริ่มตั้ง เมื่อบุคคลสละซึ่งการสละอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสละ เมื่อบุคคลสละการสละอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ควรสละ เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรหลุดพ้น เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ควรหลุดพ้น ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อวัชชิยมาหิตคฤบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแลผู้มีกิเลสเพียงดังว่าธุลีในปัญญาจักษุน้อยในธรรมวินัยนี้ตลอดกาลนาน ภิกษุแม้นั้น พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยชอบธรรม เหมือนอย่างวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่แล้วฉะนั้น.

จบวัชชิยสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 310

อรรถกถาวัชชิยสูตรที่ ๔

วัชชิยสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

คฤหบดีมีชื่ออย่างนี้ว่า วัชชิยมาหิตะ. บทว่า สพฺพํ ตปํ ความว่า มีการกระทำกิจที่ทำได้ยากเป็นตบะทุกอย่าง. บทว่า สพฺพํ ตปสฺสิํ ได้แก่ ผู้อาศัยตบะทุกอย่าง. บทว่า ลูขาชีวิํ ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเลี้ยงชีพด้วยการกระทำกิจที่ทำได้ยาก. บทว่า คารยฺหํ แปลว่า ผู้ควรติเตียน. บทว่า ปสํสิยํ แปลว่า ผู้ควรสรรเสริญ. บทว่า เวนยิโก ได้แก่ ผู้ที่ตนเองมิได้แนะนำ แต่บุคคลอื่นแนะนำ. บทว่า อปฺปญฺตฺติโก ความว่า ไม่อาจบัญญัติสิ่งไรๆ. อีกนัยหนึ่ง บทว่า เวนยิโก แปลว่า ผู้ทำสัตว์ให้พินาศ. บทว่า อปฺปญฺตฺติโก ได้แก่ บัญญัติพระนิพพานที่ไม่ประจักษ์ ไม่อาจบัญญัติสิ่งไรๆ ในสัสสตทิฏฐิเป็นต้น. บทว่า น โส ภควา เวนยิโก ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทรงบัญญัติกุศลอกุศล ไม่ใช่ผู้อื่นจะพึงแนะนำ ไม่ใช่ผู้อื่นให้ศึกษา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่ผู้ทำสัตว์ให้พินาศ ทรงแนะนำด้วยดี ทรงให้ศึกษาด้วยดี ทรงแนะนำสัตว์ เพราะทรงบัญญัติธรรมที่ทรงอาศัยบัญญัติอย่างมีสติ ท่านแสดงว่า ข้อบัญญัติของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นข้อบัญญัติที่ดีทั้งนั้น.

บทว่า วิมุตฺติํ วิมุจฺจโต อกุสลา ธมฺมา ความว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมเจริญแก่จิตที่น้อมไปสู่อธิมุตติ คือมิจฉาทิฏฐิ. ทรงหมายเอาข้อนั้นจึงตรัสคำนี้. แต่ความหลุดพ้นแห่งจิตในพระศาสนา ย่อมไม่แล่นไปสู่สังขตธรรม เพราะเหตุนั้น วิมุตติความหลุดพ้นจึงเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมเท่านั้น.

จบอรรถกถาวัชชิยสูตรที่ ๔