พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อุตติยสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่สาวกเพื่อความรู้ยิ่ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2564
หมายเลข  39852
อ่าน  389

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 311

ทุติยปัณณาสก์

อุบาสกวรรคที่ ๕

๕. อุตติยสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่สาวกเพื่อความรู้ยิ่ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 311

๕. อุตติยสูตร

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่สาวกเพื่อความรู้ยิ่ง

[๙๕] ครั้งนั้นแล อุตติยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์.

อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ.

พ. ดูก่อนอุตติยะ แม้ข้อนี้เราไม่พยากรณ์.

อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ฯลฯ ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ฯลฯ ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ.

พ. ดูก่อนอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์.

อุ. ท่านถูกเราถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนอุตติยะ ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ฯลฯ ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ฯลฯ ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 312

ย่อมเป็นอีก ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ฯลฯ สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนอุตติยะ แม้อันนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านโคดมผู้เจริญจะพยากรณ์ในทางไหน.

พ. ดูก่อนอุตติยะ เราย่อมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.

อุ. ด้วยข้อที่พระโคดมผู้เจริญ ได้ทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น โลกทั้งหมดหรือกึ่งหนึ่งหรือสามส่วนจักออกไปจากทุกข์ได้ เมื่ออุตติยปริพาชกกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงนิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดว่า อุตติยปริพาชกอย่าได้มีทิฏฐิอันลามกอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมถูกเราถามปัญหาเฉพาะหน้าทั้งปวง ย่อมเลี่ยง ไม่ทรงวิสัชนา หรือวิสัชนาไม่ได้แน่นอน เพราะทิฏฐิอันลามกนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่อุตติยปริพาชก ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอุตติยปริพาชกว่า ดูก่อนอาวุโสอุตติยะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาแก่ท่าน วิญญูบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา ดูก่อนอาวุโสอุตติยะ เปรียบเหมือนนครอันตั้งอยู่ชายแดนของพระราชา นครนั้นมีป้อมมั่นคง มีกำแพงและประตูมั่นคง มีประตูเดียว นายประตูในนครนั้น เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จักเข้าไป ให้คน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 313

ที่รู้จักเข้าไป เขาเดินเลียบไปตามทางเลียบกำแพงโดยรอบนครนั้น ไม่พึงเห็นที่ต่อแห่งกำแพงหรือช่องแห่งกำแพง แม้โดยที่สุดพอแมวออกได้ และเขาย่อมไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ เข้ามาสู่นครนี้หรือออกไป โดยที่แท้ เขาย่อมมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า สัตว์ตัวใหญ่ๆ บางเหล่าย่อมเข้ามาสู่นครนี้หรือย่อมออกไป สัตว์ทั้งหมดนั้นย่อมเข้ามาหรือออกไปทางประตูนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนอาวุโสอุตติยะ พระตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน มิได้ทรงมีความขวนขวายอย่างนี้ว่า โลกทั้งหมดหรือกึ่งหนึ่งหรือสามส่วนจักออกไปจากทุกข์ โดยที่แท้ พระตถาคตทรงมีพระญาณอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งออกไปแล้ว หรือกำลังออกไป หรือจักออกไปจากโลก สัตว์ทั้งหมดนั้นละนิวรณ์อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามเป็นจริงแล้ว สัตว์เหล่านั้นออกไปแล้ว หรือกำลังออกไป หรือจักออกไปจากโลกด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโสอุตติยะ ท่านได้ทูลถามปัญหานี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าข้อใด ปัญหาข้อนั้น ท่านได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยปริยายอื่น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่าน.

จบอุตติยสูตรที่ ๕

อรรถกถาอุตติยสูตรที่ ๕

อุตติยสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ตุณฺหี อโหสิ ความว่า อุตติยปริพาชาตั้งอยู่ในสัตตูปลัทธิ ลัทธิว่ามีสัตว์ จึงถามในข้อที่ไม่ควรถาม เหตุนั้นจึงนิ่งเสีย. บทว่า สพฺพํ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 314

สามุกฺกํสิกํ วต เม ความว่า พระสมณโคดมถูกเราถามคำถามสูงสุดแห่งบรรดาคำถามทุกอย่าง ก็นิ่งไม่ตอบ คงจะไม่อาจไม่สามารถจะตอบแน่แท้ ท่านอย่าได้มีความเห็นชั่วๆ อย่างที่ว่ามานี้เลย. บทว่า ตทสฺส ได้แก่ ทิฏฐินั้นพึงเกิดขึ้นอย่างนี้.

บทว่า ปจฺจนฺติมํ ความว่า เพราะเหตุที่หอรบและกำแพงเป็นต้นของนครในมัชฌิมประเทศจะมั่นคงหรืออ่อนแอ ก็หรือว่าจะไม่เป็นที่อันโจรรังเกียจโดยประการทั้งปวง ฉะนั้น ไม่ควรถือเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า ปจฺจนฺติมํ นครํ. บทว่า พฬฺหทฺทาลํ แปลว่า มีกำแพงแข็งแรง. บทว่า พฬฺหปาการโตรณํ ได้แก่ มีกำแพงแข็งแรงและมีบานประตูแข็งแรง. เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า มีประตูเดียว เพราะว่าในนครที่มีประตูมาก จำจะต้องมีคนรักษาประตูที่ฉลาดมากคน ประตูเดียวคนเดียวก็พอ. ก็คนอื่น ผู้เสมอด้วยปัญญาของพระตถาคตไม่มี เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า มีประตูเดียว เพื่อจะแสดงความเปรียบเทียบข้อที่พระศาสดาทรงเป็นบัณฑิต และทรงเป็นดุจผู้เฝ้าประตูฉะนั้น.

บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า พยตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้สามารถ. บทว่า เมธาวี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยเมธา กล่าวคือปัญญารู้ความอุบัติแห่งฐานะ. บทว่า อนุปริยายปถํ ได้แก่ ทางกำแพงที่มีชื่อว่า เฉลียง. บทว่า ปาการสนฺธิํ ได้แก่ ที่ที่ไม่มีอิฐ ๒ แผ่น. บทว่า ปากาวิวรํ ได้แก่ ที่ช่องของกำแพง. บทว่า ตเทเวตํ ปญฺหํ ความว่า อุตติยปริพาชก ถามซ้ำปัญหาที่ถามไว้โดยนัยว่า โลกเที่ยงเป็นต้น แล้วหยุดเสียอันนั้นแหละ. ด้วยบทว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 315

สพฺโพ จ เตน โลโก พระเถระแสดงว่า อุตติยปริพาชก ตั้งอยู่ในสัตตูปลัทธิ จึงถามโดยอาการอย่างอื่น.

จบอรรถกถาอุตติยสูตรที่ ๕