พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เถรสูตร ว่าด้วยภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมอยู่สําราญ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2564
หมายเลข  39855
อ่าน  339

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 322

ทุติยปัณณาสก์

อุบาสกวรรคที่ ๕

๘. เถรสูตร

ว่าด้วยภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมอยู่สําราญ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 322

๘. เถรสูตร

ว่าด้วยภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมอยู่สำราญ

[๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือภิกษุเป็นเถระรัตตัญญู บวชมานาน ๑ เป็นผู้มีศีลสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ จำปาติโมกข์ทั้งสองด้วยดีโดยพิสดาร จำแนกด้วยดี ให้เป็นไปได้ด้วยดี วินิจฉัยได้แล้วโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น ๑ เป็นผู้ใคร่ธรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 323

รักการฟังธรรม การแสดงธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ๑ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยอาการอันน่าเลื่อมใส ในการก้าวไปและถอยกลับ แม้นั่งในละแวกบ้านก็สำรวมแล้วด้วยดี ๑ เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้.

จบเถรสูตรที่ ๘

อรรถกถาเถรสูตรที่ ๘

เถรสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อธิกรณสมุปฺปาทวูปสมกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในความระงับความเกิดขึ้น เพราะจับมูลแห่งอธิกรณ์ ๔ ได้แล้วระงับเสีย.

จบอรรถกถาเถรสูตรที่ ๘