พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สคารวสูตร ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2564
หมายเลข  39874
อ่าน  379

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 375

ตติยปัณณาสก์

ปัจโจโรหณิวรรคที่ ๒

๕. สคารวสูตร

ว่าด้วยฝังนี้และฝังโน้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 375

๕. สคารวสูตร

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น

[๑๑๗] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นฝั่งนี้ อะไรเป็นฝั่งโน้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น มิจฉาสังกัปปะเป็นฝั่งนี้ สัมมาสังกัปปะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวาจาเป็นฝั่งนี้ สัมมาวาจาเป็นฝั่งโน้น มิจฉากัมมันตะเป็นฝั่งนี้ สัมมากัมมันตะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาอาชีวะเป็นฝั่งนี้ สัมมาอาชีวะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวายามะเป็นฝั่งนี้ สัมมาวายามะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาสติเป็นฝั่งนี้ สัมมาสติเป็นฝั่งโน้น มิจฉาสมาธิเป็นฝั่งนี้ สัมมาสมาธิเป็นฝั่งโน้น มิจฉาญาณะเป็นฝั่งนี้ สัมมาญาณะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวิมุตติเป็นฝั่งนี้ สัมมาวิมุตติเป็นฝั่งโน้น ดูก่อนพราหมณ์ นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้เป็นฝั่งโน้น.

"ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีประมาณน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ส่วน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 376

ชนเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรม อันพระตถาคตตรัสแล้วโดยชอบ ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามพ้นได้แสนยาก แล้วจักถึงฝั่งโน้น คือนิพพาน บัณฑิตละธรรมดำเสียแล้ว พึงยังธรรมขาวให้เจริญ บัณฑิตละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้ไม่มีกังวล ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมที่ไม่มีความอาลัย พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก ที่ยินดีได้แสนยาก บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลาย บัณฑิตเหล่าใดอบรมโดยชอบในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่นแล้ว ยินดีในนิพพาน เป็นที่สละความถือมั่น บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก."

จบสคารวสูตรที่ ๕

อรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕

สคารวสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า โอริมํ ตีรํ ได้แก่ โลกิยะ ชื่อว่าฝั่งนี้. บทว่า ปาริมํ ตีรํ ได้แก่ โลกุตระ ชื่อว่าฝั่งโน้น.

บทว่า ปารคามิโน ได้แก่ ผู้ถึงพระนิพพาน. บทว่า ตีรเมวานุธาวติ ได้แก่ วิ่งแล่นไปสู่ฝั่ง คือสักกายทิฏฐิ. บทว่า ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 377

ความว่า ประพฤติธรรมตามสมควรในโลกุตรธรรม ๙ ที่ตรัสไว้แล้วโดยชอบ ได้แก่ ประพฤติตามข้อปฏิบัติเบื้องต้นพร้อมกับศีล ที่เหมาะสมแก่ธรรมนั้น. บทว่า มจฺจุตฺเธยฺยํ สุทุตฺตรํ ได้แก่ ข้ามวัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุมาร ที่ข้ามได้แสนยาก. บทว่า ปารเมสฺสนฺติ ได้แก่ จักบรรลุพระนิพพาน. บทว่า โอกา อโนกมาคมฺม ได้แก่ อาศัยวิวัฎฏะจากวัฏฏะ. บทว่า วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ แปลว่า พึงปรารถนาความยินดียิ่งในกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก ซึ่งยินดียิ่งได้ยาก. บทว่า หิตฺวา กาเม ได้แก่ ละกามแม้ทั้งสอง. บทว่า อกิญฺจโน แปลว่า กิเลสเครื่องกังวล. บทว่า อาทานปฏินิสฺสคฺเค ได้แก่ ในพระนิพพาน กล่าวคือการสละคืนความยึดมั่น. บทว่า อนุปาทาย เย รตา ความว่า ชนเหล่าใดไม่ยึดถือแม้สิ่งไรๆ ด้วยอุปาทาน ๔ ยินดียิ่งแล้ว. บทว่า ปรินิพฺพุตา ได้แก่ ชนเหล่านั้นพึงทราบว่า ชื่อว่า ปรินิพพานแล้วด้วยปรินิพพานที่หาปัจจัยมิได้.

จบอรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕