พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ธรรมปริยายสูตร ว่าด้วยธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 พ.ย. 2564
หมายเลข  39957
อ่าน  350

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 465

ปัญจมปัณณาสก์

ปฐมวรรคที่ ๑

๕. ธรรมปริยายสูตร

ว่าด้วยธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 465

๕. ธรรมปริยายสูตร

ว่าด้วยธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน

[๑๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 466

เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสน ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือนรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนของบุคคลผู้มีคติคด ผู้มีอุบัติอันคด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดดิรัจฉานมีปกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คืองู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลาย ผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือเขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้.

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ เป็นผู้พูดเท็จ ฯลฯ เป็นผู้พูดส่อเสียด ฯลฯ เป็นผู้พูดคำหยาบ ฯลฯ เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น ฯลฯ เป็นผู้คิดปองร้าย ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นผิด คือมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 467

บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดังนี้ บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด การอุบัติของเขาก็คด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือนรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนของบุคคลผู้มีคติอันคด ผู้มีการอุบัติอันคด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คืองู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือเขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 468

ทั้งปวงอยู่ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีคติอันตรง ผู้มีการอุบัติอันตรง คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือสกุลที่สูงๆ คือสกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือสัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้.

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ฯลฯ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ฯลฯ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฯลฯ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ ฯลฯ ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น ฯลฯ เป็นผู้มีจิตไม่คิดปองร้าย ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือมีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 469

แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก ดังนี้ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีคติตรง ผู้มีการอุบัติตรง คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือสกุลที่สูงๆ คือสกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาลอันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจมาก การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือเขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นดังนี้แล.

จบธรรมปริยายสูตรที่ ๕

อรรถกถาธรรมปริยายสูตรที่ ๖ (๑)

สูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สํสปฺปติปริยายํ โว ภิกฺขเว ธมฺมปริยายํ ได้แก่ การ


(๑) อรรถกถาแก้ข้อ ๑๙๓ อันเป็นสูตรที่ ๕ แต่อรรถกถาเป็นสูตรที่ ๖.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 470

แสดงธรรม กล่าวคือการแสดงเหตุแห่งความกระเสือกกระสน. บทว่า สํสปฺปติ ความว่า สัตว์กระทำกรรมนั้น ย่อมเสือกไป ไถไป แถกไป. บทว่า ชิมฺหา คติ ความว่า สัตว์จักไปสู่คติใดด้วยกรรมนั้น คตินั้น ย่อมชื่อว่า คด. บทว่า ชิมฺหุปปตฺติ ความว่า สัตว์จักเข้าถึงคติใด แม้คติของเขานั้นก็คดเหมือนกัน. บทว่า สํสปฺปชาติกา ได้แก่ มีการเลื้อยไปเป็นสภาพ. บทว่า ภูตา ภูตสฺส อุปปตฺติ โหติ ความว่า ความบังเกิดของสัตว์ ย่อมมีเพราะกรรมที่มีอยู่แล้ว คือเพราะกรรมที่มีอยู่โดยสภาพ. บทว่า ผสฺสา ผุสนฺติ ได้แก่ ผัสสะที่เป็นวิบาก ย่อมถูกต้อง.

จบอรรถกถาธรรมปริยายสูตรที่ ๖