พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมมหานามสูตร ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 พ.ย. 2564
หมายเลข  39991
อ่าน  432

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 531

เอกาทสกนิบาต

ทุติยวรรคที่ ๒

๑. ปฐมมหานามสูตร

ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 531

ทุติยวรรคที่ ๒

๑. ปฐมมหานามสูตร

ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่

[๒๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้วจักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้วจักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จะพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตร เสด็จเข้ามาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จึงพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร ดูก่อนมหาบพิตร กุลบุตรผู้มี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 532

ศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงทรงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป ดูก่อนมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ มหาบพิตร พึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงตถาคต สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญพุทธานุสสติ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 533

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้พระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระธรรม ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเถิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญธัมมานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 534

ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีลของตนว่า ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภศีล ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสีลานุสสติ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 535

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือนในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม ดูก่อนมหาพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ที่มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญจาคานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาชั้นยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอยู่ เทวดาชั้นพรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลก

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 536

ชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีปัญญาเช่นนั้น ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญเทวตานุสสติ ดังนี้แล.

จบปฐมมหานามสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 537

ทุติยวรรคที่ ๒

๑. อรรถกถาปฐมมหานามสูตร

วรรคที่ ๒ ปฐมมหานามสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า นานาวิหาเรหิ วิหรตํ ความว่า ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำสำหรับคฤหัสถ์มิได้มีอย่างเดียว เพราะเหตุนั้นเจ้ามหานามศากยะจึงทูลถามว่า เมื่อหม่อมฉันอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่ประจำ. ด้วยบทว่า เกน วิหาเรน เจ้ามหานามศากยะทูลถามว่า หม่อมฉันพึงอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำอย่างไหน พระเจ้าข้า. บทว่า อาราธโก ได้แก่ ผู้ทำให้ถึงพร้อมผู้บริบูรณ์. บทว่า ธมฺมโสตสมาปนฺโน พุทฺธานุสฺสติํ ภาเวติ ความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมแล้วย่อมเจริญพุทธานุสสติ.

จบอรรถกถาปฐมมหานามสูตรที่ ๑