พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

คําสรุปท้ายอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ชื่อมโนรถปูรณี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 พ.ย. 2564
หมายเลข  40004
อ่าน  418

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 594

คําสรุปท้ายอรรถกถา

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย

ชื่อมโนรถปูรณี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 594

คำสรุปท้ายอรรถกถา

ด้วยการพรรณนามาฉะนี้ ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆสะ) อัน ท่านโชติปาลเถระ ผู้มีปัญญาดี ซึ่งเคยอยู่ร่วมกับข้าพเจ้าในเมืองกัญจีปุระเป็นต้น อาราธนา แม้ในขณะที่อยู่ในมหาวิหารลังกาทวีป เมื่อพระสัทธรรมกำลังทรุดโทรมเหมือนต้นไม้ถูกพายุกระหน่ำ ทั้ง ชีวกอุบาสก ผู้ถึงฝั่งสาคร คือเรียนจบพระไตรปิฎก ผู้มีปัญญาดี อาราธนาแล้ว ปรารถนาความยั่งยืนแห่งพระศาสนา จึงเริ่มแต่งคัมภีร์อรรถกถาอันใดแห่งบาลีอังคุตตรนิกาย ซึ่งวิจิตรด้วยลัทธิสมัย อันพระธรรมกถึกทั้งหลายเป็นอันมาก ผู้ละเอียดถี่ถ้วนในนัยแห่งธรรมกถา แต่งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้แล้ว คัมภีร์อรรถกถานี้นั้น เก็บสาระสำคัญของคันภีร์มหาอรรถกถาสำเร็จแล้ว แต่เพราะเหตุที่มโนรถความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะอธิบายนิกายทั้งหมด โดยภาณวารแห่งบาลีประมาณ ๙๔ ภาณวารบริบูรณ์แล้ว อรรถกถานั้นจึงชื่อว่า มโนรถปูรณี ต่อนั้นเพราะเหตุที่แม้คัมภีร์วิสุทธิมรรคประมาณ ๕๙ ภาณวารแห่งมโนรถปูรณีนั้น ข้าพเจ้าก็แต่งเพื่อประกาศอรรถของนิกายทั้งหลายแล้ว ฉะนั้น อรรถกถานี้กับคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น พึงทราบว่ามี ๑๕๓ ภาณวาร ตามนัยแห่งการนับคาถา. อรรถกถานี้ ประกาศลัทธิสมัยของพระเถระผู้อยู่ในมหาวิหาร โดยภาณวารนับได้ ๑๕๓ ภาณวาร ข้าพเจ้าผู้แต่งคัมภีร์มโนรถปูรณีนี้ เก็บสารสำคัญของอรรถกถาเดิม สร้างสมบุญอันใดไว้ ด้วยบุญอันนั้น ขอสัตว์โลกทั้งหมดจงมีสุขเทอญ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 595

พระเถระที่ครูทั้งหลายถวายนามว่า พุทธโฆสะ ผู้ประดับด้วยศรัทธาความเชื่อ พุทธิความรู้ วิริยะความเพียรอันหมดจดดีอย่างยิ่ง ผู้ก่อกำเนิดคุณสมุทัย คือศีลอาจาระและความซื่อตรงความอ่อนโยนและความคงที่ ผู้สามารถในอันสะสางชัฏ คือลัทธิของตนและลัทธิของผู้อื่น ผู้ประกอบด้วยความรู้และความฉลาด ผู้มีประภาพ คือญาณอันไม่ติดขัดในสัตถุศาสน์ พร้อมทั้งอรรถกถาที่ต่างโดยไตรปิฎกปริยัติ ผู้ทรงไวยากรณ์ใหญ่ ผู้ประกอบด้วยคุณ คือมีถ้อยคำอันไพเราะโอฬารถูกต้องตามฐานกรณ์ รื่นปาก รื่นหู ผู้มีวาทะถูกต้องแตกฉาน เป็นมหากวีผู้มีสำนวนอันไพเราะ เป็นอลังการของวงศ์ แห่งพระเถระผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้เป็นประทีปแห่งเถรวงศ์ ซึ่งมีความรู้อันตั้งมั่นดีแล้วในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ อันประดับด้วยคุณต่างโดยอภิญญาเป็นต้น อันเป็นบริวารแห่งปฏิสัมภิทาที่แตกฉานแล้ว ผู้มีความรู้อันไพบูลย์บริสุทธิ์ดี แต่งอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ชื่อมโนรถปูรณีคัมภีร์นี้.

ขอคัมภีร์อรรถกถานี้แสดงนัย เพื่อความหมดจดแห่งจิต ของเหล่ากุลบุตรผู้ปรารถนาจะช่วยโลก จงดำรงอยู่ในโลกตราบเท่าที่พระนามว่า พุทโธ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ผู้คงที่ ผู้ประเสริฐสุดในโลก ผู้แสวงหาพระคุณอันใหญ่ ยังคงเป็นไปอยู่ในโลกแล.

จบอรรถกถาอังคุตตรนิกาย

ชื่อมโนรถปูรณี