สภาพอนิจจัง

 
Nuchareeya
วันที่  9 พ.ย. 2564
หมายเลข  40044
อ่าน  789

คำถามจาก คุณณัฐวัสส์ จารุรัตนพงศ์

เคยได้ฟังบุคคลอื่นกล่าวว่า "อนาคตทำนายไม่ได้ สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน ความยุติธรรมอย่างเที่ยงแท้ไม่มีในโลก นี่คือสัจธรรมของชีวิตเรียกว่าสภาพอนิจจัง"

ผมเลยขึ้นเกิดความสงสัยสภาพธรรมของอนิจจัง

คำถาม

1. ที่ว่าอนาคตทำนายไม่ได้สามารถเทียบเคียงกับสภาพธรรมใดได้

2. ความยุติธรรมอย่างเที่ยงแท้ไม่มีในโลก คำกล่าวที่ถูกต้องไหม

3. ขอความหมายสภาพธรรมของอนิจจัง

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ที่ว่าอนาคตทำนายไม่ได้สามารถเทียบเคียงกับสภาพธรรมใดได้

อนาคต อดีต ปัจจุบัน นั่นคือ เวลา ซึ่งเวลา ทั้งหมด ไม่พ้นจากธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้นที่สมมติว่าเป็นกาลเวลา ที่เป็นวินาที เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆ ปี มีอนาคต ก็เพราะมีการเกิดดับสืบต่อกันของสภาพธรรมที่มีจริง คือ ตามที่จิตเกิดดับ ทีละขณะ สืบต่อกันไป ครับ

อนาคต จึงเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นของจิต เจตสิก ของธรรมนั่นเอง ซึ่งการเกิดขึ้นของธรรม (สังขารธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น) ต้องอาศัย ปัจจัยทำให้เกิด คือ ตัวธรรมต่างๆ นั่นแหละที่จะทำให้เกิด ซึ่ง เมื่อธรรมนั้นเป็นปัจจัย ทำให้ธรรมนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่า ไม่แน่นอน ต้องตีความให้ดี โดยไม่เอามาปนกับ คำว่า อนิจจัง (ธรรมไม่เที่ยง) ไม่แน่นอน หมายถึง การเกิดขึ้นของธรรมในอนาคตไม่แน่นอนนั้น ความหมาย คือ ตามเหตุปัจจัยของธรรมแต่ละอย่าง ถ้ายกตัวอย่าง เรื่องของกรรม กัมมปัจจัย กรรมเป็นปัจจัยให้เกิด วิบาก ผลของกรรม เป็นต้น กรรมบางอย่างให้ผลแน่นอน คือ ครุกรรม (กรรมหนัก) ยกตัวอย่างเช่น กรรมหนัก ครุกรรม มี ทำอนันตริยกรรม มีการฆ่าบิดา มารดา ทำสงฆ์ให้แตกกัน กรรมนั้น จะต้องให้ผลแน่นอนในชาติถัดไป ในการเกิดในนรก สมดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า พระเทวทัต มีอบายเป็นที่แน่นอน เพราะทำสงฆ์ให้แตกกัน นี่คือ กรรมหนัก ฝ่ายอกุศลที่ให้ผลแน่นอน แต่กรรมเบา บางอย่าง ก็ถูกตัดรอนจากกรรมปัจจุบันที่ทำ ทำให้ไม่ให้ผลแน่นอนก็มี ดังนั้นต้องศึกษาอย่างละอียดรอบคอบทั้ง 3 ปิฎก จึงจะเข้าใจ ในเรื่องของความแน่นอน ไม่แน่นอนของธรรม เพราะธรรมมีหลากหลาย ตามปัจจัย และละเอียดลึกซึ้ง คิดเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมอย่างรอบคอบ เพราะเป็นพระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

2. ความยุติธรรมอย่างเที่ยงแท้ไม่มีในโลก คำกล่าวที่ถูกต้องไหม

ยุติธรรม ความหมาย คือ ถูกต้องสมควรตามธรรม ที่มีคำของพระองค์ที่ว่า หว่านพืชเช่นไร ให้ผลเช่นนั้น ความหมายคือ ทำดี ดีนั้นเมือ่ให้ผล ย่อมให้ผลในทางที่ดี เมื่อกรรมดีให้ผล กรรมชั่ว หรือทำชั่ว ย่อมให้ผลชั่ว เมื่อกรรมชั่วให้ผล ความดี จะให้ผลชั่วไม่ได้ เพราะ กรรม ยุติธรรม คือ ถูกต้องสมควรแก่ธรรมนั้นที่จะต้องเกิด

หากแต่ว่าผู้ไม่ละเอียด ไม่รู้ความละเอียดของกรรมและผลของกรรมว่ามีระยะเวลาให้ผล จึงสำคัญผิดว่า ทำดีย่อมไม่ได้ดี และสำคัญผิดว่า ทำดี และเป็นดีในขณะนั้นเอง นั่นคือผล แท้ที่จริง พระองค์ทรงแบ่ง จิตเป็นประเภทที่เป็นเหตุ คือ ที่เป็นกุศล อกุศล และที่เป็นผล คือ วิบาก ดังนั้น กรรมดี มี กรรมชั่ว มี และผลของกรรม ที่เป็นวิบาก ก็มี จากเหตุ ดี และไม่ดี เพียงแต่ว่า เมื่อทำกรรมดีแล้วไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลทันทีเสมอไป มีระะเวลา และ เมื่อกรรมชั่วให้ผลในอดีตนานมาแล้ว หลังจากที่ทำดีในชาติปัจจุบัน คนก็เลยเข้าใจผิดว่า ทำดี ได้ผลไม่ดี เพราะ ไม่เข้าใจความละเอียดของกรรม ในเรื่องของกาลเวลาของผลของกรรม แต่จะเปลี่ยนให้ ดี ให้ผลชั่วไม่ได้ เพราะย่อมให้ผลดี สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า หว่านพืชเช่นไรให้ผลเช่นนั้นครับ

ดังนั้น กรรมยุติธรรมเสมอ เพราะกรรมละเอียดลึกซึ้งต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ครับ รวมถึงธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ก็สมควรถูกต้องแก่ธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นได้ ครับ

3. ขอความหมายสภาพธรรมของอนิจจัง

อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขารธรรมทั้งปวง จิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ) ดังนั้น อนิจจัง ไม่ใช่เป็นเรื่องราว ของตกแตกไม่เที่ยง คนเราเกิดแล้วก็คนก็ตาาย ไม่เที่ยง แต่ต้องกล่าวมุ่งหมายถึงตัวธรรมอะไรไม่เที่ยง ขณะนี้ไม่เที่ยงไหม เห็น ไม่เที่ยงไหม เกิดแล้วดับไป เสียงก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วดับไป เป็นต้น จึงต้องกลับมาที่ตัวธรรมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ยึดถือว่ามีเรา มีคน มีสิ่งต่างๆ ที่ไม่เที่ยง นั่นไม่ใช่อนิจจังในพระพุทธศาสนา ครับ

เพิ่มเติมลักษณะอื่นให้เข้าใจเพิ่มเติมครับ

ทุกขัง สภาวะ ลักษณะที่ทนได้ยาก หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือ ต้องเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นและดับไป ดังที่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า" พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า " เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า " ...

อนัตตา สภาวะ ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด คือ เป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะที่น้อมไปรู้อารมณ์ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งบังคับให้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือ สภาพที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ ใครจะบังคับให้รู้เปลี่ยนมาเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสังขารธรรมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใครจะบังคับให้สังขารธรรมเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังขารธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา และ แม้วิสังขารธรรมซึ่งหมายถึงพระนิพพาน เป็นสภาพที่เที่ยง (เพราะไม่เกิด ดับ) เป็นสุข (เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมได้) แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนิพพานให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ได้ วิสังขารธรรมที่เที่ยง เป็นสุขนั้นจึงเป็นอนัตตาด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nuchareeya
วันที่ 9 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณค่ะอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sea
วันที่ 9 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- อะไรที่จะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นไปได้ ก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย


- เวลาที่ตนเองถูกกลั่นแกล้งบ้าง ถูกเบียดเบียนจากบุคคลอื่นๆ บ้าง ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้กระทำอะไรผิดเลย ก็มักจะกล่าวว่าไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ความจริง ธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีเหตุที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วในอดีต ผลเช่นนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย จึงยุติธรรม ถูกต้อง ตรงแล้ว ที่ได้รับผลเช่นนั้น เพราะตนเองได้เคยทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ผลที่ไม่ดีจึงเกิดขึ้น เหตุย่อมสมควรแก่ผล

ขอเชิญศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้

เหตุย่อมสมควรแก่ผล [เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล]


-จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ไม่เคยปราศจากจิตเลย

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไปทั้งนั้น

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นามธรรม รูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้ จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มุ่งถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม (สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไป) เท่านั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง (เพราะเกิดดับ) เมื่อไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ (เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือเกิดแล้วก็ต้องดับไป) และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น)

สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ล้วนไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ตามข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๐๓

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขาร (สภาพที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง) แม้ทั้งปวงในภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่า มีแล้ว ไม่มี ดังนี้.

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔- หน้าที่ ๕๒๖

ขันธปัญจกะ (ขันธ์ ๕) ชื่อว่า อนิจจัง (ไม่เที่ยง) เพราะมีแล้วกลับไม่มี เพราะประกอบด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เพราะเป็นไปชั่วคราว และเพราะแย้งต่อความเที่ยง

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 13 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ