พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ทานสูตร ว่าด้วยทาน ๒ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 พ.ย. 2564
หมายเลข  40123
อ่าน  367

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 615

ติกนิบาต

วรรคที่ ๕

๙. ทานสูตร

ว่าด้วยทาน ๒ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 45]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 615

๙. ทานสูตร

ว่าด้วยทาน ๒ อย่าง

[๒๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่าย ๒ อย่าง คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การ แจกจ่ายธรรม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ การ แจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ.

พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสทานใด ว่าอย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสรรเสริญการแจกจ่ายทานใดว่า อย่างยิ่งยอดเยี่ยม วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใส ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ ผู้เป็นเขตอันเลิศ รู้ชัดอยู่ซึ่งทานและการ แจกจ่ายทานนั้นๆ ใครจะไม่พึงบูชา (ให้ทาน) ในกาลอันควรเล่า ประโยชน์ อย่างยิ่งนั้น ของผู้แสดงและผู้ฟังทั้ง ๒ ผู้ มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด ประโยชน์อย่างยิ่งนั้น ของผู้ ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนซึ่งพระสุคต ย่อมหมดจด.

จบทานสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 616

อรรถกถาทานสูตร

ในทานสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ทานํ ได้แก่ สิ่งที่พึงให้. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาพร้อมด้วยวัตถุ ชื่อว่า ทาน. บทว่า ทาน นี้ เป็นชื่อของการบริจาคสมบัติ. บทว่า อามิสทานํ ความว่า ปัจจัย ๔ ชื่อว่าอามิสทาน ด้วยสามารถแห่งความเป็นของที่จะต้องให้. อธิบายว่า ปัจจัย ๔ เหล่านั้น ท่านเรียกว่า อามิส เพราะเป็นเครื่องจับต้อง ด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาเป็นเครื่องบริจาคปัจจัย ๔ เหล่านั้น ชื่อว่า อามิสทาน.

บทว่า ธมฺมทานํ ความว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ เมื่อ (แสดง) จำแนกกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถออกไปว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้ กระทำกรรมและผล กองกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรม ให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ธรรมทาน. ส่วนบุคคลบางพวก ชี้แจงสัจจะทั้งหลายให้แจ้งชัดว่า ธรรมเหล่านี้เป็น อภิญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปริญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปหาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นภาเวตัพพธรรม ดังนี้ แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่า ธรรมทาน ขึ้นสุดยอด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 617

บทว่า เอตทคฺตํ ตัดบทเป็น เอตํ อคฺคํ แปลว่า (ธรรมทานนี้ เป็นเลิศ). บทว่า ยทิทํ ความว่า บรรดาทานสองอย่างเหล่านี้ ธรรมทาน ที่กล่าวแล้วนี้นั้น เป็นเลิศคือประเสริฐสุด ได้แก่สูงสุด. อธิบายว่า บุคคล จะหลุดพ้นจากอนัตถะทั้งปวง คือก้าวล่วงทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นได้ เพราะอาศัย ธรรมทาน อันเป็นอุบายเครื่องยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน. ก็ธรรมทานที่เป็น โลกิยะ เป็นเหตุแห่งทานทุกอย่าง คือเป็นรากเง่าของสมบัติทั้งปวง. ด้วย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

การให้ทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งพระธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดี ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะ ทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทาน นั่นเอง. การไม่บริโภคปัจจัยทั้งหลายเสียเอง แต่ปัจจัย ๔ อันตนพึงบริโภค แล้วแจกจ่ายแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์ จะเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป ชื่อว่า อามิสสํวิภาโค (แจกจ่ายอามิส). ความเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายน้อย แสดง อ้างธรรมที่ตนรู้แล้ว คือบรรลุแล้วแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์จะ เผื่อแผ่ธรรมแก่คนทั่วไป ชื่อว่า ธมฺมสํวิภาโค (แจกจ่ายธรรม). การ อนุเคราะห์ การสงเคราะห์คนเหล่าอื่น ด้วยปัจจัย ๔ และด้วยสังคหวัตถุ ๔ ชื่อว่า อามิสานุคฺคโห (อนุเคราะห์ด้วยอามิส). การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์ คนเหล่าอื่น ด้วยธรรม โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ชื่อว่า ธมฺมานุคฺคโห (อนุเคราะห์ด้วยธรรม). คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 618

พึงทราบวินิจฉัยคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ บทว่า ยมาหุ ทานํ ปรมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายตรัส ทานใดว่าเยี่ยม คือ สูงสุด โดยความที่จิต (เจตนา) เขต (ปฏิคาหก) และไทยธรรมเป็นของโอฬาร หรือโดยยังโภคสมบัติเป็นต้นให้บริบูรณ์ คือยังโภคสมบัติเป็นต้นให้เผล็ดผล อีกอย่างหนึ่ง ตรัสว่าเยี่ยม เพราะย่ำยี คือกำจัดธรรมที่เป็นปฎิปักษ์อื่นๆ มีโลภะและมัจฉริยะเสียได้. บทว่า อนุตฺตรํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งหลายตรัสทานใด ชื่อว่าเว้นจากทานอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่า และให้สำเร็จ ความยิ่งใหญ่ เพราะยังเจตนาสมบัติเป็นต้นให้เป็นไปดียิ่ง และเพราะความ เป็นทานมีผลเลิศ โดยความเป็นยอดทาน. แม้ในบทว่า ยํ สํวิภาคํ นี้ พึงนำเอาบททั้งสองว่า ปรมํ อนุตฺตรํ มาเชื่อมประกอบเข้าด้วย. บทว่า อวณฺณยิ ความว่า ประกาศแล้ว คือ สรรเสริญแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกเมื่อให้โภชนะ ชื่อว่า ย่อมให้ฐานะทั้ง ๕ แก่ ปฏิคาหกทั้งหลาย ดังนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัตว์ ทั้งหลายพึงรู้ผลของการจําแนกทานอย่างนี้ ดังนี้.

ก็เพื่อจะทรงแสดงทานและวิธีที่การจำแนกทาน ว่า (มีผล) อย่างยิ่ง คือยอดเยี่ยมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่ามีอาทิว่า อคฺคมฺหิ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคมฺหิ ความว่า ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐที่สุด คือเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เพราะ ประกอบไปด้วยคุณพิเศษมีศีล เป็นต้น. บทว่า ปสนฺนจิตฺโต ความว่า ยังจิตให้เลื่อมใส คือกำหนดด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และความ เชื่อในพระรัตนตรัย. อธิบายว่า ทานคือการให้ไทยธรรมแม้น้อย ย่อมมี อานุภาพมาก คือสว่างโชติช่วง แผ่ไพศาลไปได้มาก เพราะความถึงพร้อม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 619

ด้วยจิต (เจตนาสัมปทา) และเพราะความถึงพร้อมด้วยเขต (ปฏิคาหก) สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า

เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทาน (ที่บำเพ็ญ) ในพระตถาคตเจ้า พระสัมมา สัมพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์ ชื่อว่า มีผลน้อยย่อมไม่มี ดังนี้.

บทว่า วิญฺญู ได้แก่ ผู้มีปัญญา. บทว่า ปชานํ ความว่า รู้ชัด ซึ่งผลของทานและอานิสงส์ของทาน โดยชอบทีเดียว. บทว่า โก น ยเชถ กาเล ความว่า ใครเล่าจะไม่ให้ทานในกาลเวลาที่สมควร. อธิบายว่า ทาน ย่อมสำเร็จ (เกิดมีพร้อม) เฉพาะในเวลาที่ประจวบกับเหตุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ ศรัทธา ๑ ไทยธรรม ๑ ปฏิคาหก ๑ ไม่ใช่เกิดมีได้โดยประการอื่น. อีกอย่างหนึ่ง จะให้ (ทาน) แก่ปฏิคาหกทั้งหลายได้ ในกาลอันควร (เท่านั้น).

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการจำแนกและอนุเคราะห์ด้วย อามิสทาน ด้วยพระคาถาที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงการจำแนก และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมทาน จึงตรัสพระคาถาที่สองว่า เย เจว ภาสนฺติ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภยํ ความว่า คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ผู้แสดง (และ) ผู้ฟัง (ผู้รับ) ที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า ภาสนฺติ สุณนฺติ (ย่อม กล่าว ย่อมฟัง) ดังนี้. ก็ในบทว่า อุภยํ นั้น มีความย่อดังต่อไปนี้ คน เหล่าใด มีจิตเลื่อมใสแล้วในศาสนา คือ พระสัทธรรมของพระสุคต คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นประธาน คือ วิมุตตายตนะย่อมแสดง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 620

ด้วย ย่อมฟังด้วย ประโยชน์กล่าวคือ ธรรมทาน การแจกจ่ายธรรม และการ อนุเคราะห์ด้วยธรรมของผู้แสดงและปฏิคาหกเหล่านั้น ชื่อว่า ยอดเยี่ยม เพราะ ยังปรมัตถประโยชน์ให้สำเร็จ ชื่อว่า ย่อมบริสุทธิ์ เพราะหมดจด จากมลทิน ที่ทำความเศร้าหมอง ทุกอย่างมีความเศร้าหมองเพราะตัณหาเป็นต้น. ถามว่า ของคนเช่นไร? ตอบว่า ของคนผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระสุคต ก็คน เหล่าใดไม่ประมาท ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือในโอวาทที่ทรง พร่ำสอนที่พระองค์ทรงประกาศแล้วโดยสังเขปอย่างนี้ว่า

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การยัง กุศลให้ถึงพร้อม ๑ การยังจิตของตนให้ ผ่องแผ้ว ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย

ดังนี้ แล้วยังสิกขา ๓ มี อธิสีลสิกขาเป็นต้น ให้ถึงพร้อม โดยเคารพ ประโยชน์ย่อมบริสุทธิ์ แก่คนเหล่านั้น ย่อมยังคนเหล่านั้นให้ผ่องแผ้วเกิน เปรียบ ด้วยอรหัตตผลวิสุทธิ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาทานสูตรที่ ๙