คำนี้เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่?

 
Nuchareeya
วันที่  12 พ.ย. 2564
หมายเลข  40166
อ่าน  883

คำถามจากคุณนิธินาถ ศิริเวช

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เลขที่ 4760

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่” เป็นคำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหรือไม่คะ? และถ้าใช่ มีความหมายว่าอย่างไรคะ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ มีคำนี้ในพระไตรปิฎก ในคำสอนของพระพุทธเจ้าครับ ดังพระสูตรนี้

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 157

๘. อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร

ว่าด้วยธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนื่องๆ ๑๐ ประการ [๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า. เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ญาณทัสสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ อุตตริมนุสสธรรม อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ . จบอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตรที่ ๘


ซึ่งพระสูตร กล่าวถึง บรรพชิต แต่แท้ที่จริง ก็คือ เตือนพุทธบริษัททั้งหมดครับ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่


วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่

จากพระธรรมบทนี้ แสดงไว้ในพระสูตร อันเป็นพระธรรมที่แสดงถึง สมมติสัจจะ ที่บัญญัติว่ามี สัตว์ บุคคล แต่ในความเป็นจริง พระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งสุดประมาณ ไม่ควรเผิน แม้คำที่กล่าวโดยนัยพระสูตรที่ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เพราะ ในความเป็นจริง ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ครับ

การที่สมมติว่าเป็นวัน เป็นคืน ที่ล่วงไป อะไรที่ล่วงไป ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่จริง นั่นคือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ขณะที่ดับไป ก็ล่วงไปหนึ่งขณะอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดดับสืบต่อกันหลายๆ ขณะ ก็เกิดเป็นหนึ่งวินาที หนึ่งนาที หนึ่งชั่วโมง หนึ่งคืน หนึ่งวัน ล่วงเลยไปในแต่ละขณะจิต

ที่สำคัญที่สุด ที่ควรพิจารณาในพระธรรมบทนี้ ในแต่ละขณะนี้ ล่วงเลยไปด้วยจิตประเภทอะไร โดยมากก็เป็นอกุศลจิต เก็บขยะในใจไว้ทุกวัน หากเป็นสิ่งที่จับต้องได้คงไม่มีที่พอเก็บ แต่ก็ยังเก็บขยะไว้ในใจทุกขณะล่วงเลยไปแต่ละขณะด้วยอกุศล

ดังนั้น โดยนัยพระสูตร กล่าวโดยสมมติว่า วันคืนล่วงไป แต่โดยสัจจะ ความจริง ก็ควรเข้าใจว่า เป็นจิตแต่ละขณะ ที่เกิดขึ้นและดับไป ล่วงเลยไป ด้วยอกุศลจิต เป็นส่วนใหญ่ของปุถุชน ครับ

คำว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่ มีใคร มีเราทำไหมครับ ไม่มีเลย มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น หากเผินในพยัญชนะ ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เมื่อได้ยินคำนี้ ก็จะเป็นผู้ที่จะพยายามที่จะทำความดี จะทำกุศล ลืมความเป็นอนัตตาแล้วในขณะนั้น จึงไม่มีใครที่จะสามารถทำตามได้ โดยปราศจากปัญญาความเข้าใจ เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำหน้าที่ปรุงแต่งเอง หากปัญญาเกิดขึ้นก็จะเกิดกุศลจิต เกิดกุศลประการต่างๆ อันอาศัยปัญญาเป็นสำคัญ

ดังนั้น บัดนี้เราทำอะไรอยู่ แสดงถึงขณะปัจจุบันของอะไร ของจิต หรือว่า ของเรา ของจิต บัดนี้ คือ ขณะที่ปัจจุบันจิตประเภทอะไรเกิด กุศลหรืออกุศลที่สำคัญที่สุด บัดนี้ เรากำลังทำอะไรอยู่ แสดงถึงว่า บัดนี้ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เป็นจิตอะไร และ มีปัญญารู้ความจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น พระธรรมบทนี้ลึกซึ้งมาก แสดงโดยนัยของสติปัฏฐาน ที่เป็นผู้มีปกติรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เป็นปัจจุบันขณะคือขณะนี้ สภาพธรรมกำลังเกิด วันคืนล่วงไป คือสภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีก บัดนี้ เราทำอะไรอยู่ คือ ควรเป็นผู้มีสติ และปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ หรือ ในบัดนี้ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น แม้เพียง พระธรรมเพียงบทสั้นๆ แต่ ผู้มีปัญญาย่อมเกิดปัญญา จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะพิจารณาที่ไม่เป็นไปเพียงขั้นเรื่องราว ซึ่งอาจพิจารณาผิดได้ว่า จะต้องมีตัวตนที่จะต้องทำกุศล เพียรทำกุศล อบรมปัญญา สำคัญว่ามีเรามากขึ้น ลืมความเป็นอนัตตา แต่ผู้มีปัญญาย่อมเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมและเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ปัญญาเกิด ก็รู้ความจริงในขณะนี้ที่กำลังมีในบัดนี้ ประจักษ์ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้น ทำด้วยปัญญา แต่เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ ไม่ใช่เรา ครับ คิดจะทำด้วยความเป็นเรา ต่างจากความเข้าใจที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เราที่จะทำ แต่อบรมเหตุคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป เพราะอย่างไรก็ดี ก็ต้องล่วงเลยเวลาไปทีละขณะ แต่ขณะที่ประเสริฐคือขณะที่เกิดปัญญาความเข้าใจพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ยาวหรือสั้น ถ้าเป็นไปกับด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แม้แต่เพียงพยัญชนะสั้นๆ ที่ว่า "วันคืน ล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่" เป็นคำเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งจะเตือนให้ไม่ลืมกิจที่ควรทำสำหรับตนเองที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ว่า อะไรคือสิ่งที่ควรทำ แม้จะมากไปด้วยกิเลส แต่ก็ไม่ทอดธุระ ในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมแล้ว กล่าวได้ว่า วันหนึ่งๆ ที่ผ่านไป ย่อมเต็มไปด้วยความติดข้องยินดีพอใจ เต็มไปด้วยความโกรธความผูกโกรธ เต็มไปด้วยอวิชชาซึ่งเป็นความหลงความไม่รู้ (รวมทั้งอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย) และไม่รู้จักหนทางที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้เบาบางจากอกุศลธรรมเหล่านั้นได้ นับวันอกุศลธรรมมีแต่จะหนาแน่นพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ อกุศลธรรมให้ผลเป็นทุกข์ นำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย ควรหรือไม่ ที่จะเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญคุณงามความดีเลย?

ดังนั้น ในแต่ละวันจึงควรที่จะเป็นโอกาสของการเจริญกุศล สะสมความดี ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจธรรม ซึ่งจะเป็นที่พึ่งในภายหน้า สำหรับตนเองอย่างแท้จริง โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะทำ เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ โดยเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้อง นั่นเอง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ