พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗ ว่าด้วยพราหมณธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 พ.ย. 2564
หมายเลข  40184
อ่าน  529

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 225

สุตตนิบาต

จูฬวรรคที่ ๒

พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗

ว่าด้วยพราหมณธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 225

พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗

ว่าด้วยพราหมณธรรม

[๓๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์มหาศาลชาวแคว้นโกศลเป็นอันมาก ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมปรากฏในพราหมณธรรมของพวกพราหมณ์เก่าหรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย บัดนี้ พวกพราหมณ์หาปรากฏในพราหมณ์ธรรมของพวกพราหมณ์เก่าไม่.

พ. ขอประทานพระวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดตรัสพราหมณ์ ธรรมของพวกพราหมณ์เก่า แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด ถ้าท่านพระโคดมไม่มีความหนักพระทัย.

ภ. ดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงตั้งใจ จง ใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 226

[๓๒๓] ฤาษีทั้งหลายมีในครั้งก่อน สำรวมตน มีตบะ ละเบญจกามคุณแล้ว ได้ประพฤติประโยชน์ของตนๆ

พวกพราหมณ์แต่เก่าก่อนไม่มีสัตว์เลี้ยง ไม่มีเงิน ไม่มีสิ่งของต่างๆ พราหมณ์เหล่านั้น มีทรัพย์และข้าวเปลือกอันเป็นส่วนแห่งการสาธยายมนต์ ได้รักษาขุมทรัพย์อันประเสริฐไว้

ภัตที่ประตูเรือน ทายกทั้งหลายเริ่มทำตั้งไว้แล้ว เพื่อพราหมณ์เหล่านั้น ทายกทั้งหลายได้สำคัญภัตนั้นว่า เป็นของที่ตนควรให้แก่พราหมณ์เหล่านั้น ผู้แสวงหาภัตที่เริ่มทำไว้แล้วด้วยศรัทธา

ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้น ผู้มั่งคั่ง ด้วยผ้าที่ย้อมด้วยสีต่างๆ และด้วยที่นอนและที่อยู่ ได้นอบน้อมพราหมณ์เหล่านั้น

พราหมณ์ทั้งหลายผู้อันธรรมรักษาแล้ว ใครๆ ไม่พึงฆ่า ไม่พึงชนะ ใครๆ ไม่พึงห้ามพราหมณ์เหล่านั้น ที่ประตูแห่งสกุลทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 227

พราหมณ์เหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นเด็กมาตลอดเวลา ๔๘ ปี ได้เที่ยวไปแสวงหาวิชชาและจรณะในกาลก่อน

พราหมณ์เหล่านั้นไม่ไปหาหญิงอื่น ทั้งไม่ซื้อภรรยา อยู่ร่วมกัน เพราะความรัก ความชอบใจเสมอกันเท่านั้น

พราหมณ์ผู้เป็นสามี ย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้

พราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญพรหมจรรย์ ศีล ความเป็นผู้ซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ ความสงบเสงี่ยม และความไม่เบียดเบียน และแม้ความอดทน

พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น และพราหมณ์นั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในความฝัน

พราหมณ์บางพวก ผู้มีชาติแห่งบุคคล ผู้รู้แจ้งในโลกนี้ ศึกษาตามตัววัตรของพราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่ ได้สรรเสริญพรหมจรรย์ ศีลและแม้ขันติ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 228

พราหมณ์ทั้งหลายขอข้าวสาร ที่นอนผ้า เนยใสและน้ำมัน แล้วรวบรวมไว้โดยธรรม ได้กระทำยัญ คือทาน แต่วัตถุมีข้าวสารเป็นต้นที่เขาให้แล้วนั้น

ในยัญที่ตนตั้งไว้ พราหมณ์เหล่านั้น ไม่ฆ่าแม่โคเลย มารดาบิดา พี่น้องชายหรือญาติเหล่าอื่น มิตรผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ฆ่าแม่โค ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งปัญจโครสอันเป็นยา ฉันใด

แม่โคเหล่านี้ให้ข้าว ให้กำลัง ให้วรรณะ และให้ความสุข พราหมณ์เหล่านั้น ทราบอำนาจประโยชน์นี้แล้ว จึงไม่ฆ่าแม่โคเลย ฉันนั้น

พราหมณ์ทั้งหลายผู้ละเอียดอ่อน มีร่างกายใหญ่ มีวรรณะ มียศ ขวนขวายในกิจน้อยใหญ่ โดยธรรมของตน ได้ประพฤติแล้วด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้หมู่สัตว์นี้ถึงความสุขในโลก

ความวิปลาสได้มีแก่พราหมณ์เหล่านั้น เพราะได้เห็นกามสุขอัน (ลามก) น้อยที่เกิดขึ้นจากกามคุณอันเป็นของ (ลามก) น้อย พราหมณ์ทั้งหลายได้ปรารถนาเพ่งเล็งสมบัติของพระราชา เหล่านารีที่ประดับดี

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 229

แล้ว รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ที่สร้างตกแต่งไว้เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร พื้นที่เรือน เรือนที่สร้างกั้นเป็นห้องๆ และโภคสมบัติซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ

พราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์ในที่นั้นแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชในกาลนั้น กราบทูลว่า พระองค์มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย ขอเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด พระราชทรัพย์เครื่องปลื้มใจของพระองค์มีมาก

ลำดับนั้นแล พราหมณ์ทั้งหลายยังพระราชาผู้ประเสริฐ ให้ทรงยินยอมบูชายัญ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ (สัมมาปาสะ) วาชเปยยะ นิรัคคฬะ

พระราชาทรงบูชายัญเหล่านี้แล้ว ได้พระราชาทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลาย คือ แม่โค ที่นอน ผ้า เหล่านารีที่ประดับดีแล้ว รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ที่สร้างตกแต่งไว้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 230

เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร รับสั่งให้เอาธัญชาติต่างๆ บรรจุเรือนที่น่ารื่นรมย์ อันกั้นไว้เป็นห้องๆ จนเต็มทุกห้อง แล้วได้พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลาย

ก็พราหมณ์เหล่านั้นได้ทรัพย์ในที่นั้น ชอบใจการสั่งสมเสมอ ตัณหาย่อมเจริญยิ่งแก่พราหมณ์เหล่านั้น ผู้มีความปรารถนาอันหยั่งลงแล้ว พราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์ในที่นั้นแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชอีก

กราบทูลว่า แม่โคทั้งหลายเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สำหรับรับใช้ในสรรพกิจของมนุษย์เหมือนน้ำ แผ่นดิน เงิน ทรัพย์ และข้าวเหนียวฉะนั้น เพราะว่าน้ำเป็นต้นนั้นเป็นเครื่องใช้ของสัตว์ทั้งหลาย ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด ราชสมบัติของพระองค์มีมาก ขอเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด พระราชทรัพย์ของพระองค์มีมาก

ลำดับนั้นแล พราหมณ์ทั้งหลายยังพระราชาผู้ประเสริฐให้ทรงยินยอมบูชายัญแล้ว ในการบูชายัญ พระราชาทรงมีรับสั่งให้ฆ่าแม่โคหลายแสนตัว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 231

แม่โคทั้งหลายเสมอด้วยแพะ สงบเสงี่ยม ถูกเขารีดนมด้วยหม้อ ย่อมไม่เบียดเบียนด้วยเท้า ด้วยเขา ด้วยอวัยวะอะไรๆ โดยแท้ พระราชารับสั่งให้จับแม่โคเหล่านั้นที่เขา แล้วให้ฆ่าด้วยศัสตรา

ลำดับนั้น เทวดา พระอินทร์ พระพรหม อสูรและผีเสื้อน้ำ ต่างเปล่งวาจาว่า มนุษย์ไม่มีธรรม แล่นไปเพราะศัสตราตกลงที่แม่โค

โรค ๓ ชนิด คือ ความปรารถนา ๑ ความอดอยาก ๑ ความชรา ๑ เพราะปรารภสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ได้มีในกาลก่อน ได้แพร่โรคออกเป็น ๙๘ ชนิด

บรรดาอาชญาทั้งหลาย อธรรมนี้เป็นของเก่า เป็นไปแล้ว แม่โคทั้งหลายผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมถูกฆ่า คนผู้บูชายัญทั้งหลายย่อมเสื่อมจากธรรม ธรรมอันเลวทรามนี้เป็นของเก่า วิญญูชนติเตียนแล้วอย่างนี้

วิญญูชนเห็นธรรมอันเลวทรามเช่นนี้ในที่ใด ย่อมติเตียนคนผู้บูชายัญในที่นั้น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 232

เมื่อธรรมของพราหมณ์เก่าฉิบหายแล้วอย่างนี้ ศูทรและแพศย์แตกกันแล้ว กษัตริย์เป็นอันมากแตกกันแล้ว ภรรยาดูหมิ่นสามี กษัตริย์พราหมณ์ผู้เป็นผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม แพศย์และศูทรเหล่าอื่น ผู้อันโคตรรักษาแล้ว ไม่คำนึงถึงเรื่องชาติ ได้ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลาย.

[๓๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น พวกข้าพระองค์ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบพราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 233

อรรถกถาพราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗

พราหมณธัมมิกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.

ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?

ตอบว่า การเกิดขึ้นของพระสูตรนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วโดยนัย เป็นต้นว่า อถ โข สมฺพหุลา ในนิทานแห่งสูตรนั้น.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สมฺพหุลา ได้แก่ มากคือมิใช่น้อย.

บทว่า โกสลกา ได้แก่ ชาวเมืองโกศล.

บทว่า พฺราหฺมณมหาสาลา ความว่า พวกพราหมณ์โดยชาติ ชื่อว่า มหาศาล เพราะเป็นผู้มีสาระมาก.

ได้ยินว่า พราหมณ์เหล่าใด มีทรัพย์เฉพาะที่ฝังไว้ได้ ๘๐ โกฏิ พราหมณ์เหล่านั้นท่านเรียกว่าพราหมณ์มหาศาล และพราหมณ์เหล่านี้ก็เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พราหมณ์มหาศาล.

บทว่า ชิณฺณา ได้แก่เป็นผู้มีความชรา คือถูกความชราให้ถึงภาวะ มีฟันหักเป็นต้น.

บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่ ถึงเขตแดน (ของข่าย) แห่งความเจริญ แห่งอวัยวะน้อยใหญ่.

บทว่า มหลฺลกา ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีชาติเป็นคนแก่ มีคำอธิบายว่า เกิดมาแล้วนาน.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 234

บทว่า อทฺธคตา ได้แก่ ไปสู่ทางไกล (กาลไกล) อธิบายว่าล่วงไปได้สอง สามรัชกาล.

สองบทว่า วโย อนุปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงปัจฉิมวัย.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ชิณฺณา ได้แก่ เก่า มีคำอธิบายว่า ล่วงสกุลที่เป็นไปตลอดกาลนาน.

บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่ ประกอบด้วยคุณวุฒิมีสีลาจาร เป็นต้น

บทว่า มหลฺลกา ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีโภคะมาก จึงชื่อว่า มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก.

บทว่า อทฺธคตา ได้แก่ เดินไปสู่มรรค คือเที่ยวไปไม่ก้าวล่วงมารยาท มีจริยาวัตรของพวกพราหมณ์เป็นต้น.

สองบทว่า วโย อนุปฺปตฺตา ได้แก่ ไม่เข้าถึงภาวะแห่งชาติวุฒิ อันเป็นวัยสุดท้าย.

พึงทราบวาจาประกอบความในพระสูตรนี้อย่างนี้ คำที่เหลือในพระสูตรนี้ปรากฏชัดแล้ว.

หลายบทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทึสุ ความว่า พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อจะถามถึงคำทั้งหลายมีคำว่า ท่านสบายดีหรือ ชื่อว่ามีความชื่นชมกันและกัน ก็พราหมณ์เหล่านั้นชื่นชม ด้วยถ้อยคำใดเป็นต้นว่า พระโคดมผู้เจริญ สบายดีหรือ พระองค์ยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พระองค์มีอาพาธน้อยหรือ มีโรคน้อยหรือ มีกำลังหรือมีความเบาใจหรือ มีการอยู่สบายหรือ ย่อมให้ระลึกถึงถ้อยคำนั้นที่ควรชื่นชม ที่ควรระลึกถึง คือให้สิ้นสุดลง ให้จบ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 235

ลงโดยอเนกปริยายอย่างนี้ว่า เพื่อให้ชื่นชมโดยให้เกิดความชื่นชม กล่าวคือ ปีติปราโมช และเพื่อให้ระลึกถึงกาลแม้นานได้ คือให้เป็นไปชั่วนิรันดร์ เพราะเป็นผู้มีอรรถะและพยัญชนะไพเราะ อันพระอรหันต์พึงชื่นชม และให้ระลึกถึง โดยความเป็นคำที่พระอรหันต์พึงระลึกถึง ถ้อยคำที่พึงชื่นชมโดยมีความสุขในขณะที่ฟังอยู่ และให้ระลึกถึง โดยมีความสุขในขณะที่ระลึกถึงอยู่ เป็นถ้อยคำที่จะพึงชื่นชม เพราะเป็นถ้อยคำที่บริสุทธิ์โดยพยัญชนะ เป็นถ้อยคำที่จะพึงระลึกถึง โดยเป็นถ้อยคำที่บริสุทธิ์โดยอรรถะเหมือนอย่างนั้น เป็นผู้ใคร่จะถามถึงประโยชน์ที่ตนมา ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.

คำนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในอรรถกถามงคลสูตร โดยนัยว่า

ไม่นั่งข้างหลัง ไม่นั่งข้างหน้า ไม่นั่งใกล้ ไม่นั่งไกล ไม่นั่งข้างๆ ไม่นั่งเหนือลม ไม่นั่งที่ต่ำ ไม่นั่งที่สูง ดังนี้เป็นต้น

พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้น ผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่งอย่างนี้แล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ถามว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้นกราบทูลว่าอย่างไร?

ตอบว่า พราหมณ์เหล่านั้นได้กราบทูลคำเป็นต้นว่า สนฺทิสฺสนฺติ นุ โข ดังนี้. คำทั้งหมดนั้นมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น. ก็ในคำว่า สนฺทิสฺสนฺติ นุ โข เป็นต้นนี้ พึงทราบเพียงอธิบาย ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นบทเหล่านี้ โดยนัยนี้.

สองบทว่า พฺราหฺมณานํ พฺราหฺมณธมฺเม ความว่า พราหมณ์ธรรมใด ละทิ้งธรรมอันเนื่องด้วยกาละและเทศะเป็นต้นเสียแล้ว, ในพราหมณ์ธรรมนั้นเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 236

สองบทว่า เตนหิ พฺราหฺมณา ความว่า เพราะท่านทั้งหลายได้ขอร้องข้าพเจ้า ฉะนั้น ดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง คือจงเงี่ยโสตลงฟัง จงตั้งใจฟังให้ดี คือเมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคายอยู่ ก็จงฟังด้วยปโยคสุทธิ จงกระทำไว้ในใจด้วยดีด้วยอาสยสุทธิ คือว่า จงพึงด้วย ความไม่ฟุ้งซ่าน จงทำไว้ในใจด้วยดีด้วยการประคอง (จิต) ไว้ ดังนี้ เป็นต้น ครั้งนั้น พราหมณ์มหาศาลทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อจะรับแม้ซึ่งคำนั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วจึงได้ตอบรับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า คือ เป็นผู้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เอวํ โภ.

อีกอย่างหนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายรับฟังแล้ว มีคำอธิบายว่ารับรู้แล้ว เพราะตนปรารถนาจะการทำตาม ซึ่งเนื้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง จงกระทำไว้ในใจให้ดี. ครั้งนั้นแล เมื่อพราหมณ์เหล่านั้น รับคำอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเนื้อความนี้.

ถามว่า พระองค์ตรัสว่าอย่างไร?

ตอบว่า พระองค์ตรัสว่า วิสโย ปุพฺพกา เป็นต้น.

ในคาถานั้น บัณฑิตพึงทราบในคาถาที่ ๑ ก่อน.

บทว่า สํยตตฺตา ความว่า ผู้มีจิตสำรวมแล้ว ด้วยการสำรวมในศีล.

บทว่า ตปสฺสิโน ความว่า ผู้ประกอบด้วยการสำรวมอินทรีย์.

บทว่า อตฺตทตฺถมจาริสุํ ได้แก่ กระทำประโยชน์แก่ตน มีการสาธยายมนต์ และการเจริญพรหมวิหาร เป็นต้น.

คำที่เหลือแจ่มแจ้งแล้วทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 237

แม้ในคาถาทั้งหลายมีคาถาที่สองเป็นต้น ก็มีการพรรณนาเนื้อความโดยย่อ ดังต่อไปนี้

บาทพระคาถาว่า น ปสู พฺราหฺมณานาสุํ ความว่า พวกพราหมณ์รุ่นเก่า (โบราณ) ไม่มีปศุสัตว์ คือพวกพราหมณ์เหล่านั้นไม่ทำการเลี้ยงปศุสัตว์.

บาทพระคาถาว่า น หิรญฺํ น ธานิยํ ความว่า ก็พวกพราหมณ์ไม่มีเงินและโดยที่สุดแม้แต่มาสกราคาต่ำที่สุด อนึ่งพราหมณ์เหล่านั้นไม่มีแม้แต่พืชพันธุ์ธัญญาหารอันต่างโดยบุพพัณชาติ และอปรัณชาติ มีข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวเหนียว และข้าวละมานเป็นต้น เพราะว่าพราหมณ์เหล่านั้นสละเงินทองเสียแล้ว เป็นผู้ไม่ทำการสั่งสม มีการสาธยายเป็นทรัพย์และข้าวเปลือก อย่างเดียว คือเป็นผู้ประกอบด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก กล่าวคือการสาธยายมนต์ ก็วิหารธรรมมีเมตตาเป็นต้นนี้ใด ท่านเรียกว่าพรหมนิธิ (การสั่งสมอย่างประเสริฐ) เพราะเป็นธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ และเพราะสามารถติดตามตนไปได้ ก็พวกพราหมณ์ทั้งหลายรักษาขุมทรัพย์อันประเสริฐนั้นไว้ โดยการประกอบการอบรมวิหารธรรมมีเมตตาเป็นต้นนั้น เนืองๆ.

บาทพระคาถาว่า ยํ เนสํ ปกตํ อาสิ ความว่า ภัตที่ประตูเรือนใด ที่เขาเริ่มทำไว้เพื่อพราหมณ์เหล่านี้ ผู้มีวิหารธรรมอยู่อย่างนี้ คือ เป็นภัตที่เขาทำอุทิศพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น.

บาทพระคาถาว่า ทฺวารภตฺตํ อุปฏฺิตํ ความว่า ภัตที่ทายกเหล่านั้นๆ เตรียมแล้ว ตั้งไว้ที่ประตูเรือนของตน ด้วยคิดว่า เราจักถวายแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 238

บทว่า สทฺธาปกตํ ได้แก่ เริ่มทำไว้ด้วยศรัทธา มีคำอธิบายว่า ที่จะพึงให้ด้วยศรัทธา.

ในคำว่า เอสานํ มีวิเคราะห์ว่า ชนเหล่าใดย่อมแสวงหา เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า เอสา ผู้แสวงหา มีคำอธิบายว่า แก่พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ผู้แสวงหา คือเสาะหา เที่ยวแสวงหา

บทว่า ทาตเว ได้แก่ พึงให้.

บทว่า ตทมญฺิสุํ ได้แก่ ไม่ดูหมิ่นภัตนั้น อธิบายว่าชนทั้งหลายผู้ให้ ได้สำคัญภัตนั้นที่ตนเตรียมตั้งไว้ที่ประตู อันตนจะพึงถวายด้วยศรัทธา คือว่า อันตนพึงให้แก่พราหมณ์เหล่านั้นผู้แสวงหาอยู่ หาได้สำคัญยิ่งไปกว่านั้นไม่ ด้วยว่าพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งไม่ต้องการได้มีแล้วโดยประการอื่น (ไม่แสวงหาภัต) พราหมณ์เหล่านั้นพอใจแล้ว เพราะเป็นผู้มีอาหารและเครื่องนุ่ง ห่มเป็นอย่างยิ่งอย่างเดียว (คือต้องการอาหารและเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น)

บทว่า นานารตฺเตหิ ได้แก่ ด้วยผ้าที่ย้อมด้วยสีต่างๆ ด้วยที่นอน ที่ปูลาด แล้วด้วยเครื่องปูนอนอันวิจิตร ด้วยปราสาทที่ประเสริฐ มีปราสาทชั้นเดียวและ ๒ ชั้นเป็นต้น.

บทว่า อาวสเถหิ ได้แก่ ด้วยอุปกรณ์ทั้งหลายเห็นปานนั้น.

ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้น คือ ชาวชนบทที่อยู่ในส่วนหนึ่งๆ ของประเทศ และชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นบางพวกๆ ย่อมนอบน้อมพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้า ประดุจบุคคลนอบน้อมเทพเจ้าทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพราหมณ์ทั้งหลาย ดังนี้. พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นอัน

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 239

บุคคลนอบน้อมอยู่อย่างนี้เป็นผู้อันชาวโลกไม่พึงฆ่า จะไม่พึงฆ่าอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ แต่ไม่พึงชนะ แม้เพื่อจะเบียดเบียน และไม่พึงชนะ เพราะพราหมณ์เหล่านั้นครอบงำไม่ได้.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะพราหมณ์เหล่านั้นอันธรรมรักษาไว้แล้ว ด้วยว่า พราหมณ์เหล่านั้นรักษาธรรมคือศีลห้าแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้อันธรรมรักษาแล้ว เพราะพระบาลีว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมดังนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้อันใครๆ ไม่พึงฆ่า และไม่พึงชนะ.

บาทพระคาถาว่า น เน โกจิ นิวาเรสิ ความว่า ใครๆ ไม่ควรห้ามพราหมณ์เหล่านั้น ที่ประตูแห่งสกุลทั้งหลาย ชื่อว่าที่ประตูแห่งสกุล ในที่ทั้งปวง คือทั้งภายนอก ทั้งภายใน แม้โดยประการทั้งปวง พึงทราบอธิบาย ในพระคาถานี้อย่างนี้ว่า เพราะมนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้มีความคุ้นเคยอย่างยิ่งในพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านไม่ควรเข้าไปยังสถานที่ชื่อนี้ดังนี้ พราหมณ์เหล่า ใดแม้จะเป็นพราหมณ์จัณฑาล พราหมณ์เหล่านั้นอันธรรมรักษาแล้วอย่างนี้ อันใครๆ ไม่ห้ามแล้ว ที่ประตูแห่งสกุลทั้งหลายเที่ยวไปอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นเด็ก โดยการประพฤติจำเดิมแต่กาลเป็นเด็กสิ้นเวลา ๔๘ ปี คือ ๘ ปีกับ ๔๐ ปี ก็จะป่วยกล่าวไปไยในพราหมณ์ทั้งหลาย มีพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมเป็นต้นเล่า.

ก็พราหมณ์เหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์อยู่อย่างนี้นั่นแล ได้เที่ยวแสวงหาวิชชาและจรณะอยู่ในกาลก่อน จะเป็นผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ก็หามิได้.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 240

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชาปริเยฏฺิ ได้แก่ การแสวงหามนต์ สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า พราหมณ์นั้นเรียนมนต์ทั้งหลายอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นเด็กตลอด ๔๘ ปี.

บทว่า จรณปริเยฏฺิ ได้แก่ การรักษาศีล พระบาลีว่า วิชฺชาจรณปริเยฏฺิ ดังนี้ก็มี ความว่า ได้เที่ยวไปเพื่อแสวงหาวิชชาและจรณะ อธิบายว่า พราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้เสมอด้วยเทวดา หรือเป็นผู้มีมารยาท ประพฤติพรหมจรรย์ตามที่กล่าวแล้ว ต่อจากประพฤติพรหมจรรย์นั้นแล้ว แม้มาครองฆราวาส ก็ไม่ถึงหญิงอื่นไม่ว่าจะเป็นหญิงกษัตริย์ หรือหญิงคนใดคนหนึ่งในบรรดาหญิงทั้งหลาย มีหญิงแพศย์ (พ่อค้า) เป็นต้น. ต่อแต่นั้น พราหมณ์เหล่านั้น หาได้ให้เงิน ๑๐๐ หรือ ๑๐๐๐ กหาปณะแล้วซื้อภรรยามาไม่ เหมือนอย่างบุคคลบางจำพวก ที่ซื้อภรรยากันในปัจจุบัน พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรม คืออย่างไร คือพราหมณ์ทั้งหลาย (เหล่าอื่น) ประพฤติพรหมจรรย์สิ้นเวลา ๔๘ ปี (สึกแล้ว) แล้วเที่ยวขอหญิงสาวในวันนั้นนั่นเอง ด้วยการกล่าวว่า ข้าพเจ้าประพฤติพรหมจรรย์มาเป็นเวลา ๔๘ ปี ถ้าหากว่า เด็กหญิงที่ถึงพร้อมด้วยวัยแล้วมีอยู่ ขอให้พวกท่านจงให้แก่ข้าพเจ้า ต่อแต่นั้น บุคคลซึ่งมีธิดาที่เจริญวัย ประดับประดาธิดานั้นแล้ว นำออกมาให้ในมือของพราหมณ์ ซึ่งยืนอยู่ที่ประตูนั้นเอง เมื่อจะหลั่งน้ำก็กล่าวว่า ข้าแต่พราหมณ์ ข้าพเจ้าให้ธิดานี้ เพื่อเป็นภรรยาของท่าน เพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงดู ดังนี้แล้วก็ให้ไป ถ้าหากว่าชนทั้งหลายถามว่า ก็เพราะเหตุไรพราหมณ์เหล่านั้นแม้เที่ยวประพฤติพรหมจรรย์นานอย่างนี้แล้ว ก็ยังแสวงหาภรรยาอยู่

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 241

ไม่ประพฤติพรหมจรรย์จนตลอดชีวิต ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นจะมีความเห็น ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่ให้บุตรเกิดขึ้น ผู้นั้นเป็นผู้กระทำการตัดสกุลวงศ์ เพราะการตัดสกุลวงศ์นั้น ย่อมหมกไหม้ในนรก.

ได้ยินว่า คน และ สัตว์ ๔ จำพวก คือ ไส้เดือน ๑ นกต้อยติวิด ๑ นางนกกระเรียน ๑ พราหมณ์ ๑ ย่อมกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว

ได้ยินว่าไส้เดือนทั้งหลายเป็นสัตว์ที่มีปกติกินดินแต่พอประมาณ เพราะกลัวแผ่นดินใหญ่หมดไป ไม่ยอมกินดินมากๆ นางนกต้อยติวิด นอนหงายบนไข่ เพราะกลัวอากาศจะตกทับ นางนกกะเรียน ไม่ยอมเหยียบแผ่นดินเต็มเท้าทั้งสอง เพราะกลัวแผ่นดินจะถล่ม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมแสวงหาภรรยา เพราะกลัวสกุลวงศ์จะขาดสูญ ท่านกล่าวไว้ในคาถานี้ว่า :-

สัตว์ที่งมงาย ๔ จำพวกเหล่านี้คือ ไส้เดือน ๑ นางนกต้อยติวิด ๑ นกกระเรียน ๑ พราหมณ์ผู้เคร่งครัดในธรรมเนียม ๑ ย่อมกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว ดังนี้.

พราหมณ์ทั้งหลายแม้แสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างนี้ อยู่ร่วมกันเพราะความรัก เสมอกันเท่านั้น และอยู่ด้วยกันด้วยกาย ด้วยความรักที่เสมอกัน คือ ด้วยความรักกันและกันเท่านั้น มีคำอธิบายว่า เป็นผู้มีจิตร่วมกัน คลึงเคล้าถูกต้องกัน พอใจการอยู่ร่วมกัน หาได้อยู่ร่วมกันโดยการไม่รัก หรือด้วยการข่มขี่กันไม่ พราหมณ์แม้ทำการอยู่ร่วมกันด้วยความรักที่เสมอกันอย่างนี้อยู่ ก็ย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 242

สองบทว่า อญฺตฺร ตมฺหา ความว่า ในสมัยที่มีระดูอันใด พราหมณ์พึงเข้าถึงนางพราหมณี ในสมัยนั้น คือ เว้นซึ่งสมัยนั้น พราหมณ์ผู้สามีก็ไม่ร่วมกับภรรยา ผู้เว้นแล้วจากระดู คือผู้เว้นจากระดู ตราบเท่าที่สมัยนั้น ยังไม่มาถึงอีก คือย่อมไม่ร่วมในระหว่างโดยแท้.

บทว่า เมถุนฺธมฺมํ ได้แก่ เพื่อธรรมของคนคู่ กล่าวกันว่า เมถุนํ ธมฺมํ นั้น เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถจตุตถีวิภัตติ.

สองบทว่า นาสฺสุ คจฺฉนฺติ ได้แก่ ย่อมไม่ถึง.

อธิบายว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้เสมอด้วยเทพและมีมรรยาท ชื่อว่า พราหมณ์ แต่โดยไม่แปลกกัน คนแม้ทุกจำพวกพึงสรรเสริญพรหมจรรย์ ฯลฯ.

เมถุนวิรัติ ชื่อว่า พรหมจรรย์ ในคาถานั้น.

สิกขาบท ๔ ที่เหลือ ชื่อว่า ศีล.

ความเป็นผู้ซื่อตรง ชื่อว่า อาชวะ โดยความก็คือ ความเป็นผู้ไม่โอ้อวด ความเป็นผู้ไม่มีมายา.

ความเป็นผู้อ่อนโยน ชื่อว่า มัททวะ โดยอรรถก็คือ ความไม่แข็งกระด้าง และความไม่ถือตัว.

การสำรวมอินทรีย์ ชื่อว่า ตปะ.

ความเป็นผู้สงบเสงี่ยม ความมีสุขโดยปกติ ความประพฤติเรียบร้อย ไม่น่ารังเกียจ ชื่อว่า โสรัจจะ.

ความเป็นผู้มีชาติแห่งผู้ไม่เบียดเบียนกันด้วยฝ่ามือเป็นต้น ความเป็นผู้มีกรุณา ชื่อว่า อวิหิงสา.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 243

ความอดทน คือความอดกลั้น (อธิวาสนขันติ) ชื่อว่า ขันติ.

พราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญคุณทั้งหลายเหล่านี้อย่างนี้ ส่วนพราหมณ์เหล่าใด ไม่อาจเพื่อยินดีในข้อปฏิบัติ โดยประการทั้งปวงได้ แม้พราหมณ์เหล่านั้น ก็มีปกติเห็นในคุณธรรมเหล่านั้นว่ามีประโยชน์ จึงสรรเสริญคือชมเชย ด้วยวาจา ก็เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นสรรเสริญอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์ใดเป็นผู้เสมอด้วยพรหม เป็นผู้มีความบากบั่นมั่นคง เป็นผู้สูงกว่าพราหมณ์เหล่านั้น และพราหมณ์นั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ความฝัน ดังนี้.

พระคาถาว่า โย จ เนสํ ฯเปฯ นาคมา ความว่า พราหมณ์ใด เป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดเสมอด้วยพระพรหม เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความบากบั่นมั่นคง เพราะประกอบด้วยความบากบั่นอันมั่นคง.

วา ศัพท์ในคำว่า ส วา ใช้ในอรรถว่า ทำให้แจ่มแจ้ง.

ด้วย วา ศัพท์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมยังพราหมณ์นั้นนั่นแล ให้แจ่มแจ้งว่า พราหมณ์คนนั้น คือ คนเห็นปานนั้น.

สองบทว่า เมถุนํ ธมฺมํ ได้แก่ การเข้าถึงเมถุน.

สองบทว่า สุปินนฺเตปิ นาคมา ได้แก่ ไม่ถึงแม้โดยความฝัน ตั้งแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสว่า พราหมณ์บางพวก ผู้มีชาติแห่งบุคคล ผู้รู้แจ้งในโลกนี้ ศึกษาตามวัตรของพราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่ สรรเสริญพรหมจรรย์ ศีล และแม้ขันติ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงด้วยสามารถแห่งที่สุดเบื้องต้น โดยนัยที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว ในคาถาที่ ๙ แห่งสูตรนี้นั้นแล จึงทรงประกาศ

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 244

พราหมณ์ทั้งหลายที่เสมอด้วยเทพ ด้วยว่าบัณฑิตทั้งหลายผู้มีชาติแห่งผู้รู้แจ้งเหล่านั้น ศึกษาวัตรของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่ ย่อมสรรเสริญวัตรของพราหมณ์ ด้วยการบรรพชาและด้วยการเจริญฌาน และพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมสรรเสริญคุณมีพรหมจรรย์เป็นต้นเหล่านี้ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านั้น พราหมณ์แม้ทุกจำพวกเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน โทณสูตร ในปัญจกนิบาตนั้นแล บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญพราหมณ์ทั้งหลายที่มีมรรยาท จึงตรัสว่า ตณฺฑุลํ สยนํ เป็นต้น.

เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้มีมารยาท แต่ถ้าหากว่าประสงค์จะกระทำยัญ ลำดับนั้นพราหมณ์ เหล่านั้นก็ขอข้าวสาร ที่นอนอันต่างด้วยเตียงและตั่งเป็นต้น ผ้าอันต่างด้วยผ้า ทำด้วยเปลือกไม้เป็นต้น และเนยใสและน้ำมันอันต่างด้วยเนยใสอันเกิดจากโค และน้ำมันงาเป็นต้น อันมีประการต่างๆ เพราะพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เว้นแล้วจากการรับของดิบและข้าวเปลือก คือว่าขอแล้วโดยธรรม ได้แก่ โดยธรรม กล่าวคือฐานะที่เจาะจง ซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมยืนเจาะจง (โดยธรรม) นี้คือการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ลำดับนั้นจึงได้ รวบรวมคือนำมารวมไว้ ซึ่งวัตถุมีข้าวสารเป็นต้นนั้น ที่ผู้ประสงค์จะให้ถวายไว้.

พระบาลีว่า สมุธาเนตฺวา ดังนี้ก็มี. เนื้อความก็อันเดียวกันนี้นั้นเอง. พึงประกอบยัญ แต่วัตถุนั้น คือว่าถือเอาจากวัตถุนั้น แล้วได้ทำทาน.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 245

ก็เมื่อกระทำ ย่อมไม่ฆ่าโคทั้งหลาย คือพราหมณ์เหล่านั้นไม่ฆ่า แม่โคทั้งหลายในเพราะยัญกล่าวคือทาน ที่ปรากฏขึ้นแล้วนี้อย่างนี้. ก็ในคำว่า คาโว นี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงสัตว์ทุกจำพวก โดยยกแม่โคขึ้นเป็นประธาน.

ถามว่า เพราะเหตุไร พราหมณ์เหล่านั้นจึงไม่ฆ่าสัตว์ทุกจำพวก.

ตอบว่า เพราะพราหมณ์เหล่านั้นประกอบด้วยคุณ มีพรหมจรรย์ เป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจะว่าโดยพิเศษ พราหมณ์เหล่านั้นไม่ฆ่าโคทั้งหลาย เหมือนกับมารดาบิดา พี่ชายน้องชาย และญาติทั้งหลายแม้เหล่าอื่น ในบรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ยาสุ ชายนฺติ โอสถา ความว่า รสแห่งโคทั้งหลาย ๕ ชนิด อันเป็นเภสัชสำหรับโรคทั้งหลาย มีโรคน้ำดีเป็นต้น ย่อมเกิดในแม่โคเหล่าใด.

ในบททั้งหลายมี อนนฺทา เป็นต้น มีอธิบายว่า เพราะเมื่อชนทั้งหลายบริโภคปัญจโครสอยู่ ความหิวก็สงบลงได้ กำลังก็เพิ่มขึ้น ผิวพรรณก็ผ่องใส สุขกายสุขใจย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้นพึงทราบว่าปัญจโครสเหล่านี้ ชื่อว่า ให้ข้าว ให้กำลัง ให้วรรณะและให้ความสุข. คำที่เหลือในคาถานี้มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.

พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อไม่ฆ่าแม่โคทั้งหลาย ในเพราะยัญทั้งหลายอย่างนี้ เป็นผู้มีร่างกายอันบ่อเกิดแห่งบุญอนุเคราะห์แล้ว จึงเป็นผู้ละเอียดอ่อน มีร่างกายใหญ่ มีวรรณะ มียศ ขวนขวายในกิจน้อยใหญ่โดยธรรมของตน ได้ประพฤติแล้วด้วยข้อปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้หมู่สัตว์ถึงความสุขในโลก.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 246

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขุมาลา ได้แก่ เป็นผู้ละเอียดอ่อน เพราะเป็นผู้มีฝ่ามือและฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม.

บทว่า มหากายา ได้แก่ (เป็นผู้มีกายใหญ่) เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกายที่สูงและใหญ่.

บทว่า วณฺณวนฺโต ได้แก่ เป็นผู้มีวรรณะ เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณเพียงดังทอง และเพราะเป็นผู้ประกอบด้วยทรวดทรงที่สมส่วน.

บทว่า ยสสฺสิโน ได้แก่ เป็นผู้มียศ เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลาภ และบริวาร (อันเกิดจากบุญ).

สองบทว่า เสหิ ธมฺเมหิ ได้แก่ ด้วยจารีตทั้งหลายที่เป็นของตน.

บาทคาถาว่า กิจฺจากิจฺเจสุ อุสฺสุกา ความว่า เป็นผู้ถึงความขวนขวายว่า ควรการทำสิ่งนี้ในกิจทั้งหลาย ไม่ควรกระทำสิ่งนี้ในสิ่งที่ไม่ควรกระทำทั้งหลาย พราหมณ์สมัยก่อนเหล่านั้นเป็นผู้เห็นปานนั้น จึงเป็นผู้น่าดู น่าเลื่อมใส ควรแก่ทักษิณาของชาวโลกอย่างยิ่ง เป็นผู้ปราศจากความเสนียดจัญไร ภัย อุปัทวะ ตราบเท่าที่ยังปฏิบัติด้วยข้อปฏิบัตินี้ในโลก ซึ่งเป็นเหตุให้หมู่สัตว์ถึงคือบรรลุถึงความสุข หรือถึงความสุขได้แก่บรรลุถึงความเจริญ.

ด้วยสองบทว่า อยํ ปชา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงซึ่งสัตว์โลก.

แต่โดยกาลล่วงไป เมื่อพวกพราหมณ์เหล่านั้นต้องการทำลายมารยาท (จารีตประเพณีของตน) เสีย ความวิปลาสก็ได้มีแก่พราหมณ์เหล่านั้น เพราะ

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 247

ได้เห็นกามสุขอัน เล็กน้อย (ลามก) ที่เกิดขึ้นจากกามคุณอันเป็นของเล็กน้อย (ลามก) พราหมณ์ทั้งหลายได้ปรารถนาเพ่งเล็ง (ต้องการ) สมบัติของพระราชา เหล่านารีที่ประดับดีแล้ว รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ที่สร้างตกแต่งไว้เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร พื้นที่เรือนทั้งหลาย เรือนทั้งหลายที่กั้นเป็นห้องๆ แยกกำหนดเป็นส่วน และโภคสมบัติอันเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ.

ในคาถานั้น ความสำคัญผิด ชื่อว่า วิปลาส.

สองบทว่า อณุโต อณุํ อธิบายว่า เพราะเห็นกามสุขอันเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว จากกามคุณอันเป็นของเล็กน้อย เพราะอรรถว่า ลามก เพราะ อรรถว่านิดหน่อย เพราะอรรถว่าไม่เจริญ (อปายฏฺเน) โดยไม่เข้าถึงซึ่งการนับ เข้าในการเปรียบเทียบกับสุขซึ่งเกิดจากฌานอัปปมัญญา และนิพพาน หรือเพราะเห็นกามสุขเล็กน้อยโดยเป็นความสุขซึ่งเกิดจากสมาบัติอันเป็น โลกิยะ อันตนได้แล้ว ซึ่งเป็นของเล็กน้อย เพราะเทียบกับโลกุตรสุข คือ เพราะเห็นกามสุขอันเล็กน้อย แม้เพราะเป็นของเล็กน้อย.

บทว่า ราชิโน วา ได้แก่ ของพระราชาเทียว.

บทว่า วิยาการํ ได้แก่ สมบัติ.

บทว่า อาชญฺสํยุตฺเต ได้แก่ เทียมด้วยม้าอาชาไนย.

บทว่า สุกเต ได้แก่ สำเร็จดีแล้วด้วยทารุกรรมและโลหกรรม.

บทว่า จิตฺตสิพฺพเน ได้แก่ มีการขลิบอันวิจิตร ด้วยสามารถแห่งเครื่องอลงกรณ์ (การประดับ) ด้วยวัตถุทั้งหลายปีหนังสีหะเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 248

บทว่า นิเวสเน ได้แก่ เครื่องเรือน.

บทว่า นิเวเส จ ได้แก่ เรือนที่เขาให้สร้างไว้ในที่นั้นๆ.

บทว่า วิภตฺเต ได้แก่ อันแบ่งไว้ด้วยสามารถแห่งส่วนยาว และส่วนกว้าง.

สองบทว่า ภาคโส มิเต ได้แก่ ที่กำหนดกระทำไว้เป็นส่วนๆ ด้วยสามารถแห่งสนาม ประตู ปราสาท และเรือนยอดเป็นต้น.

ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?

ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ความสำคัญผิดได้มีแล้วแก่พราหมณ์เหล่านั้น เพราะความเป็นไปในวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งเป็นทุกข์เท่านั้นว่าเป็นสุข เพราะตรงกันข้ามกับความสำคัญในการออกบวช อันเป็นไปแล้วในกาลก่อน เพราะได้เห็นกามสุขที่รู้กันว่าเป็นของเล็กน้อย โดยความเป็นของเล็กน้อย ๑ สมบัติของพระราชา ๑ นารีที่ประดับแล้วทั้งหลาย ๑ รถทั้งหลาย ๑ เครื่องเรือนทั้งหลาย ๑ ตัวเรือนทั้งหลาย ๑ ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว (โดยความเป็นของเล็กน้อย) พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมีความเห็นวิปริตอย่างนี้ จึงเพ่งเล็งโภคะ ซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร อันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค อันประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โคมณฺฑลปริพฺยุฬฺหํ ได้แก่ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโคทั้งหลาย.

บทว่า นารีวรคณายุตํ ได้แก่ ซึ่งประกอบด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ.

บทว่า อุฬารํ ได้แก่ ไพบูลย์.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 249

สองบทว่า มานุสํ โภคํ ได้แก่ วัตถุเครื่องใช้มีเครื่องเรือนเป็นต้น ของมนุษย์ทั้งหลาย.

บทว่า อภิชฺฌายึสุ ความว่า ยังตัณหาให้เจริญ ปรารถนาเพ่งเล็งว่า โอหนอ วัตถุนี้ พึงเป็นของเรา.

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นคิดว่า ก็มนุษย์เหล่านี้ เพ่งเล็งอยู่อย่างนี้ เป็นผู้สนานดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว ตัดผม โกนหนวดแล้วสวมเครื่องประดับคือพวงมาลัย บำเรออยู่ด้วยกามคุณทั้งห้า แต่เราทั้งหลายสิแม้อันมนุษย์เหล่านั้นนอบน้อมอยู่อย่างนี้เป็นผู้มีร่างกายเศร้าหมองด้วยคราบเหงื่อ มีเล็บและขนรักแร้งอกยาว เป็นผู้ไร้โภคะ ถึงความเป็นผู้น่าสงสารอย่างยิ่งอยู่ ก็มนุษย์เหล่านี้ เที่ยวสัญจรไปด้วยพาหนะทั้งหลาย มีการนั่งบนคอช้าง นั่งบนหลังม้า ขึ้นวอ และนั่งรถทองคำเป็นต้น (ฝ่าย) พวกเราสิต้องเดินด้วยเท้า มนุษย์เหล่านี้อยู่บนพื้นปราสาท มีปราสาท ๒ ชั้นเป็นต้น พวกเราสิอยู่ที่ในป่าและโคนต้นไม้เป็นต้น และมนุษย์เหล่านี้นอนบนที่นอนอันประเสริฐซึ่งปูลาดแล้ว ด้วยวัตถุทั้งหลายมีผ้าโกเชาว์ขนยาวเป็นต้น พวกเราสิปูลาดเสื่อลำแพนและท่อนหนังนอนบนพื้นดิน ก็มนุษย์เหล่านี้บริโภคโภชนะมีรสนานาชนิด พวกเราสิยังชีวิตให้เป็นไปด้วยการเที่ยวภิกขาจาร (อุญฺฉาจริยาย) แม้พวกเราจะพึงเป็นเช่นกับมนุษย์เหล่านี้ ได้อย่างไรหนอแล ดังนี้ และได้ตกลงใจว่า เราต้องปรารถนาทรัพย์ เราทั้งหลายผู้เว้นจากทรัพย์ไม่อาจจะได้รับสมบัตินี้ได้ ดังนี้แล้วจึงทำลายเวททั้งหลาย (ไม่เรียนพระเวท) ทำมนต์ของเก่าซึ่งประกอบด้วยธรรมให้เสื่อม (พินาศ) ไป แต่งมนต์หลอกลวงอันไม่ประกอบด้วยธรรม

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 250

ขึ้นมา (แทนที่) เป็นผู้ต้องการทรัพย์ จึงได้เข้าไปหาพระเจ้าโอกกากราช แล้วได้ประกอบกรรมทั้งหลายมีการถวายพระพรเป็นต้น แล้วกราบทูลว่า มหาบพิตร อาตมาภาพทั้งหลายมีบทมนต์เก่าแก่ ซึ่งสืบต่อกันมาตามประเพณี ในวงศ์ของพราหมณ์ พวกเราไม่ได้กล่าวมนต์นั้นแก่ใครๆ เพราะเป็นความลับของอาจารย์ มหาบพิตรเป็นผู้สมควรจะสดับมนต์นั้น ดังนี้แล้ว จึงได้พรรณนายัญวิธี มีอัสสเมธะเป็นต้น ก็ครั้นสรรเสริญแล้ว เมื่อจะให้พระราชาทรงอุตสาหะ จึงได้ทูลว่า มหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงบูชายัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์จะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก พระองค์ไม่มีความบกพร่องในสัมภาระ เครื่องบูชายัญ เพราะว่าเมื่อพระองค์ทรงบูชาอย่างนี้อยู่ วงศ์กษัตริย์ของพระองค์ชั่ว ๗ สกุล จักบังเกิดในสวรรค์ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความเป็นไปนั้นของพราหมณ์เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส ว่าพราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์ในที่นั้นแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชในกาลนั้น กราบทูลว่า พระองค์มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย ขอเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในที่นั้น มีคำอธิบายว่า พราหมณ์ทั้งหลายเพ่งเล็งโภคะใด ได้กระทำโภคะนั้นให้เป็นเหตุ (นิมิต).

คำว่า ตนฺนิมิตฺตํ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถว่าเหตุ (นิมิต).

สองบทว่า ตทุปาคมุํ ได้แก่ เข้าไปหาแล้วในกาลนั้น.

บาทคาถาว่า ปหุตธนธญฺโสิ อธิบายว่า พระองค์จะเป็นผู้มีทรัพย์ และข้าวเปลือกมากในสัมปรายภพ ด้วยว่าอาจารย์ผู้ฉลาดในศัพท์ทั้งหลาย ปรารถนากล่าวความหวัง (ของพระราชา) ในปัจจุบันให้เป็นไปแม้ในอนาคต.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 251

บทว่า ยชสฺสุ ได้แก่ จงบูชา. สองบทว่า วิตฺตํ ธนํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ที่ชื่อว่า วิตฺตํ ทรัพย์ ก็เพราะเป็นเหตุให้ปลื้มใจประดุจรัตนะมีทองเป็นต้น ที่ชื่อว่า ธนํ ทรัพย์ เพราะเป็นเหตุกระทำให้สำเร็จ.

อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า วิตฺตํ ได้แก่ อุปกรณ์มีเครื่องประดับเป็นต้น ที่เป็นเหตุให้ปลื้มใจนั้นเอง ซึ่งมาแล้วในคำทั้งหลายมีคำว่า อุปกรณ์แห่งทรัพย์ เครื่องปลื้มใจเป็นอันมาก.

วัตถุทั้งหลายมีทองและเงินเป็นต้นชื่อว่า ธนํ ทรัพย์.

ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?

ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์ทั้งหลาย แล้วได้เข้าเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชในกาลนั้น.

ถามว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้นทูลว่าอย่างไร?

ตอบว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า มหาบพิตร พระองค์มีทรัพย์ เครื่องปลื้มใจ และเงินทองอยู่มาก ขอพระองค์จงบูชายัญ พระองค์จักเป็นผู้มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก แม้ในอนาคต. ลำดับนั้นแล พระราชาผู้ประเสริฐ อันพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวเหตุอย่างนี้แล้วให้ยินยอมอยู่ จึงได้ทรงบูชายัญ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ พระราชาทรงบูชายัญเหล่านี้แล้ว ก็ได้พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สญฺตฺโต ได้แก่ ให้ทรงทราบแล้ว.

บทว่า รเถสโภ ได้แก่ ผู้เช่นกันโคอุสภะ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว ในกษัตริย์ทั้งหลายซึ่งมีรถมาก.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 252

ชนทั้งหลาย ย่อมฆ่าม้า ในยัญนี้ เพราะเหตุนั้น ยัญนี้จึงชื่อว่า อัสสเมธะ.

คำว่า อัสสเมธะ นี้เป็นชื่อของยัญซึ่งมีทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่เหลือเป็นเครื่องทักษิณามีเครื่องบูชา ๒๑ อย่าง ซึ่งบูชาด้วยยัญบริวาร ๒ ชนิด เว้นที่ดินและบุรุษ.

ชนทั้งหลาย ย่อมฆ่าบุรุษในยัญนี้ เหตุนี้ ยัญนี้จึงชื่อว่า ปุริสเมธะ. คำว่า ปุริสเมธะ นี้เป็นชื่อแห่งยัญอันมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งกล่าวแล้วในอัสสเมธะ พร้อมทั้งที่ดินเป็นเครื่องทักษิณาทาน ซึ่งจะพึงบูชาด้วยยัญบริวาร ๔ ชนิด.

ชนทั้งหลายย่อมคล้องเครื่องบูชาในยัญนี้ เหตุนี้ยัญนี้จึงชื่อว่า สัมมาปาสะ.

คำว่า สัมมาปาสะ นี้เป็นชื่อของการบูชาด้วยสาตรา ที่ผู้บูชาใส่สลัก เครื่องบูชาเข้าไปทุกๆ วัน แล้วสร้างเวที (แท่นบูชา) ในโอกาสที่สลักเครื่องบูชานั้นตกลง แล้วเดินกลับตั้งแต่ที่ๆ ตนดำลงในแม่น้ำสรัสสตี และบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลาย มีหลักสำหรับผูกสัตว์บูชายัญเป็นต้นที่จะนำไปได้.

ชนทั้งหลาย ย่อมดื่มน้ำที่ให้กำลังในยัญพิธีนี้ (น้ำศักดิ์สิทธิ์) เหตุนั้น ยัญพิธีนี้ จึงชื่อว่า วาชเปยยะ. คำว่า วาชเปยยะ นี้เป็นชื่อแห่งการบูชายัญที่มีหลักบูชายัญทำด้วยไม้มะตูม มีเครื่องบูชาอย่างละ ๑๗ ชนิด ที่จะพึงบูชาด้วยปศุสัตว์ ๑๗ ชนิด ด้วยยัญบริวารอีกอย่างหนึ่ง.

ลิ่มสลักทั้งหลายไม่มีในยัญนี้ เหตุนี้ยัญนี้ จึงชื่อว่า นิรัคคฬะ. คำว่า นิรัคคฬะนี้ เป็นชื่อแห่งการกำหนดอัสสเมธะ จึงมีชื่อโดยปริยายว่า สัพพเมธะ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 253

มีสมบัติทั้งปวงเป็นเครื่องทักษิณา ตามที่กล่าวไว้ในอัสสเมธะ พร้อมกับที่ดินกับบุรุษทั้งหลาย ที่จะพึงบูชาด้วยยัญบริวารอีก ๒ ชนิด. คำเหลือในคาถานี้ ชัดเจนแล้วทั้งนั้น.

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ว่า พฺราหฺมณานํ อทา ธนํ จึงตรัส ๒ คาถานี้ว่า คาโว สยนญฺจ ดังนี้เป็นต้น.

ด้วยว่า พระราชา (พระเจ้าโอกกากราช) พระองค์นั้น ทรงดำริว่า พราหมณ์ทั้งหลายลำบากอยู่ด้วยอาหารที่เศร้าหมองสิ้นกาลนาน จงได้บริโภค ปัญจโครสกันเถิด ดังนี้แล้ว จึงได้พระราชทานฝูงโค พร้อมทั้งโคที่ประเสริฐ (โคพันธุ์ดี) แก่พราหมณ์เหล่านั้น. อนึ่งพระองค์ทรงดำริว่า พวกพราหมณ์ลำบากอยู่ ด้วยการนอนบนดิน ด้วยการนุ่งผ้าเนื้อหยาบ ด้วยการนอนคนเดียว ด้วยการเที่ยวไปด้วยเท้า และด้วยการอยู่ในสถานที่ทั้งหลาย มีป่าและโคนต้นไม้ เป็นต้น ขอจงได้เสวยสุขในที่ทั้งหลาย มีการนอนบนเครื่องลาดอันประเสริฐ มีผ้าโกเชาว์เป็นต้น ดังนี้แล้วจึงได้พระราชทานของมีค่าทั้งหลาย และที่นอนเป็นต้นแก่พราหมณ์เหล่านั้น พระองค์ได้พระราชทานสิ่งอื่นๆ มีประการต่างๆ นี้ อย่างนี้ และทรัพย์มีเงินและทองเป็นต้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พระราชาได้พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลายคือแม่โค ที่นอน ผ้า เหล่านารีที่ประดับดีแล้ว รถเทียมม้าอาชาไนย ที่ช่างตกแต่งไว้เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร รับสั่งให้เอาธัญชาติต่างๆ บรรจุเรือนที่น่ารื่นรมย์ อันกั้นไว้เป็นห้องๆ จนเต็มทุกห้อง พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลาย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 254

ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้ทรัพย์ในที่นั้น จากสำนักของพระราชานั้น อย่างนี้แล้ว ชอบใจสั่งสมเสมอ ตัณหาย่อมเจริญยิ่งแก่พราหมณ์เหล่านั้นผู้มีความปรารถนาหยั่งลงแล้ว พราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์เหล่านั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชอีก.

ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?

ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้น ได้ทรัพย์ในการบูชาอย่างนั้นๆ จากสำนักพระราชานั้นแล้ว ก็แสวงหาอาหารและเสื้อผ้า เพียงอย่างเดียวเท่านั้นอยู่ทุกๆ วันเป็นเวลานาน จึงได้ยินดีการสั่งสมวัตถุกาม มีประการต่างๆ. ต่อจากนั้น เมื่อพราหมณ์เหล่านั้น ผู้ก้าวลงสู่ความอยาก ผู้มีจิตอันรสตัณหาหยั่งลงแล้ว ด้วยสามารถแห่งความยินดีอันเกิดจากปัญจโครส มีนมสดเป็นต้น ตัณหาก็เจริญยิ่งขึ้นเพราะอาศัยเนื้ออย่างนี้ว่า ปัญจโครสทั้งหลายแม้มีน้ำนมสดเป็นต้น ของโคทั้งหลายยังอร่อย (สาธูนิ) เพียงนี้. แล้วเนื้อของโคเหล่านั้นจักอร่อยกว่าแน่แท้ ต่อจากนั้นพวกพราหมณ์ก็คิดว่า ถ้าพวกเราจักฆ่าโคแล้วจักบริโภค ก็จะเป็นผู้ถูกติเตียนได้ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงผูกมนต์ทั้งหลายขึ้น (ดีกว่า)

ลำดับนั้น พวกพราหมณ์ก็ได้ทำลายพระเวทอีกครั้งหนึ่ง คือผูกมนต์ทั้งหลายเหล่านั้นในที่นั้น ตามสมควรแก่เรื่องนั้นๆ แล้วผูกมนต์โกงทั้งหลาย โดยยึดถือมนต์เดิมนั้นเป็นเครื่องหมาย มีความปรารถนาทรัพย์ได้เข้าไปเฝ้า พระเจ้าโอกกากราชอีก เพื่อจะทูลเนื้อความนี้จึงกราบทูลว่า

แม่โคทั้งหลายเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สำหรับใช้ในสรรพกิจของมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนน้ำ แผ่นดิน เงิน ทรัพย์ และข้าวเหนียวฉะนั้น เพราะ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 255

ว่าน้ำเป็นต้นนั้น เป็นเครื่องใช้ของมนุษย์ทั้งหลาย ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด ราชสมบัติของพระองค์มีมาก ขอเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด พระราชทรัพย์ของพระองค์ก็มีมาก.

ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?

ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร แม่โคเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การใช้ของมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับน้ำ ถึงการนำไปใช้เพื่อสัตว์ทั้งหลาย ในกิจการทั้งปวง มีล้างมือเป็นต้น ฉะนั้น บาปเพราะการฆ่าแม่โคเหล่านั้นย่อมไม่มี เพราะเหตุไร? เพราะโคนั้นเป็นเครื่องใช้ (บริกขาร) คือว่าเกิดขึ้นเพื่ออุปกรณ์ของสัตว์ทั้งหลายคือว่าโค ทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การนำไปใช้สอยในกิจการทั้งหลายของมนุษย์ ทั้งหลาย เหมือนแผ่นดินใหญ่นี้ ถึงการนำไปใช้ในกิจการทั้งปวง มีการเดิน และการยืนเป็นต้น เหมือนเงินกล่าวคือกหาปณะ ทรัพย์อันต่างด้วยทองและเงินเป็นต้น และข้าวเปลือกอันต่างข้าวเหนียวและข้าวละหานเป็นต้น ย่อม ทั้งการใช้สอยในกิจการทั้งปวง มีสัพโยหารเป็นต้น ขอพระองค์จงฆ่าโคเหล่านี้บูชายัญ มีประการต่างๆ ๆ ราชสมบัติของพระองค์มีมากเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด ราชทรัพย์ของพระองค์มีมาก ดังนี้.

โดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อนอย่างนี้นั้นแล ลำดับนั้นแล พระราชาผู้ประเสริฐอันพราหมณ์ทั้งหลายให้ยินยอมแล้ว ได้ให้ฆ่าแม่โคทั้งหลาย ๑ แสน ตัว ในยัญพิธี แม่โคทั้งหลายเหล่าใด เสมอด้วยแพะ สงบเสงี่ยม ถูกเขารีดนมลง หม้อ ย่อมไม่เบียดเบียน (ผู้อื่น) ด้วยเท้า ไม่เบียดเบียนด้วยเขา ไม่เบียดเบียน

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 256

ด้วยอวัยวะอะไรๆ เลย พระราชาผู้ไม่เคยฆ่าซึ่งสัตว์ใดๆ ในกาลก่อนแต่กาลนั้น ก็จับโคเหล่านั้นที่เขาทั้งหลายแล้วให้ฆ่าด้วยสาตรา อธิบายว่า ได้ยินว่า ในกาลนั้นพวกพราหมณ์ทั้งหลายทำหลุมยัญให้เต็มด้วยแม่โคทั้งหลาย แล้วก็ผูกโคอุสภะตัวเป็นมงคล นำไปสู่บาทมูลของพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์จงบูชายัญด้วยโค ทางแห่งพรหมโลกของพระองค์ก็จักบริสุทธิ์ พระราชาผู้ทรงกระทำกิจอันเป็นมงคลแล้ว ก็ทรงจับพระขรรค์ได้ ทรงรับสั่งให้ฆ่าแม่โคทั้งหลาย หลายแสนตัวเป็นอเนก พร้อมกับโคตัวประเสริฐ พราหมณ์ทั้งหลาย เชือดเนื้อทั้งหลายที่หลุมยัญแล้วบริโภค ในกาลนั้นพวกพราหมณ์ได้ห่มผ้ากัมพลสีเหลือง ขาวและแดง ให้ฆ่าโคทั้งหลายแล้ว ได้ยินว่าโคทั้งหลายเห็นพวกพราหมณ์ทั้งหลายห่มแล้วก็เกิดความหวาดเสียวเพราะอาศัยผ้านั้นเป็นเหตุ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า น ปาทา ฯเปฯ ฆาตยิ.

หลายบทว่า ตโต เทวา เป็นต้น ความว่าเมื่อพระราชาพระองค์ นั้นทรงเริ่มให้ประหารโคทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้น คือในระหว่างนั้นนั่นเอง เทวดาทั้งหลายชั้นจาตุมหาราชิกา พระพรหมทั้งหลาย ซึ่งได้นามในพวกพราหมณ์ทั้งหลายว่าเป็นบิดา ท้าวสักกะจอมเทพอสูรและรากษสทั้งหลาย ผู้อยู่ที่เชิงภูเขา ที่รู้กันว่าทานพยักษ์ก็เปล่งวาจาอย่างนี้ว่า อธรรม จึงได้พากันกล่าวว่า น่าติเตียน พวกมนุษย์ เป็นมนุษย์อธรรม เสียงนั้นได้ดังไปตั้งแต่พื้นดินจนถึงพรหมโลกเพียงครู่เดียวเท่านั้น โลกได้เต็มรอบด้วยอธิการอันเดียวกัน ถามว่าเพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะศัสตราตกลงบนแม่โค อธิบาย

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 257

ว่า เพราะศัสตราตกลงบนแม่โค พวกเทวดาเป็นต้นจะพากันเปล่งเสียงร้องอย่างเดียวก็หามิได้ ความพินาศแม้อย่างอื่นนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ก็โรค คือ ความอยาก ความอดอยาก ความทรุดโทรม เหล่านั้น มี ๓ ชนิด ซึ่งมีแล้วในกาลก่อน ได้แก่ตัณหา คือความปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ๑ ความหิว ๑ ความแก่หง่อม ๑ ก็โรคเหล่านั้นของพวกสัตว์ได้แพร่ออกเป็น ๙๘ ชนิด อธิบายว่าถึงแล้วซึ่งความเป็นโรค ๙๘ อย่างโดยประเภทที่โรคตาเป็นต้น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงติเตียน การปรารภปศุสัตว์ จึงตรัสว่า เอโส อธมฺโม ดังนี้เป็นต้น.

เนื้อความแห่งพระคาถาทั้งหลายเหล่านั้นว่า คำนี้กล่าวคือการปรารภปศุสัตว์เป็นทัณฑ์ (คือกรรม) อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาทัณฑ์ ๓ อย่างมีกายทัณฑ์เป็นต้น ชื่อว่า เป็นอธรรม เพราะไปปราศจากธรรม ได้เป็นธรรมที่หยั่งลงแล้ว คือได้เป็นธรรมที่เป็นไปแล้ว ก็ธรรมนั้นแล ชื่อว่าเป็นธรรมเก่า เพราะเป็นไปจำเดิมแต่กาลบัดนั้นมา แม่โคทั้งหลายชื่อว่าเป็นสัตว์ไม่ประทุษร้าย เพราะไม่เบียดเบียนด้วยอวัยวะไรๆ มีเท้าเป็นต้น จำเดิมแต่การก้าวลง ใดๆ ย่อมถูกฆ่า ชนผู้บูชายัญทั้งหลายได้แก่ชนทั้งหลายผู้บูชาซึ่งยัญ เมื่อให้ฆ่าแม่โคเหล่าใดอยู่ก็ย่อมเสื่อม คือว่า ย่อมฉิบหายจากธรรม (เพราะเหตุแห่งการฆ่าแม่โคเหล่านั้น)

บาทพระคาถาว่า เอวเมโส อณุธมฺโม ความว่า ธรรมอันเลวทราม คือ ธรรมอันต่ำ มีคำอธิบายว่า เป็นอธรรม นี้อย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 258

อีกอย่างหนึ่ง ก็เหตุที่แม้ธรรมคือการให้ (ทาน) ก็มีอยู่น้อยในธรรมนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อณุธมฺโม หมายเอาธรรม คือ ทานที่น้อยนั้น.

บทว่า ปุราโณ ได้แก่ เป็นกาลเวลาที่ช้านานเพียงนั้น.

บาทพระคาถาว่า เอวํ ธมฺเม วิยาปนฺเน ได้แก่ เมื่อพราหมณธรรม อันเป็นของเก่าฉิบหายแล้วอย่างนี้ พระบาลีว่า วิยาวตฺเต ดังนี้ก็มี อธิบายว่า ได้แก่ เป็นธรรมที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น.

บาทพระคาถาว่า วิภินฺนา สุทฺธเวสฺสิกา ความว่า พวกศูทรและแพศย์ทั้งหลายสามัคคีกันอยู่ในกาลก่อน พวกเขาแม้เหล่านั้นก็แตกกัน.

บาทพระคาถาว่า ปุถุ วิภินฺนา ขตฺติยา ความว่า แม้พวกกษัตริย์เป็นอันมาก ก็แตกกัน.

บาทพระคาถาว่า ปตึ ภริยา อวมญฺถ ความว่า และภรรยาซึ่งสามีให้ดำรงอยู่ในพลังคือความเป็นใหญ่เมื่อครองเรือน เป็นผู้เข้าถึงแล้วด้วยพลังทั้งหลาย มีพลังแห่งบุตรเป็นต้น ดูหมิ่น ได้แก่ดูแคลน คือดูถูกสามี ได้แก่ ไม่บำรุงโดยเคารพ.

พระคาถาว่า ขตฺติยา พรฺหฺมพนฺธู จ... กามานํ วสมาคมุํ ความว่า พวกกษัตริย์และพวกพราหมณ์ พวกแพศย์และศูทรอื่นใดเป็นผู้แตกกันอย่างนี้แล้ว ผู้ชื่อว่าอันโคตรรักษาแล้ว เพราะอันโคตรของตนๆ รักษาไว้ โดยประการที่จะไม่ระคนปนกัน (กับวรรณะอื่นนอกจากวรรณะของตน) พวกชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ทำวาทะว่าชาตินั้นฉิบหายแล้ว ได้แก่ทำวาทะแม้ทั้งปวงนี้ว่า เราเป็นกษัตริย์ เราเป็นพราหมณ์ เป็นต้นให้ฉิบหายแล้ว

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 259

ไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลาย กล่าวคือกามคุณ ๕ ได้แก่ถึงซึ่งความอยาก มีคำอธิบายว่า ชนเหล่านั้นไม่กระทำสิ่งไรๆ ที่ไม่ควรกระทำก็หามิได้ คือกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะกามเป็นเหตุ.

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคุณของพวกพราหมณ์โบราณ ด้วยคาถา ๙ คาถาว่า อิสโย ปุพฺพกา อย่างนี้แล้ว ได้ทรงแสดงความประพฤติที่เสมอด้วยพรหม ด้วยคาถาว่า โย เนสํ ปรโม เป็นต้น ความประพฤติที่เสมอด้วยเทพ ด้วยคาถาว่า ตสฺส วตฺตมนุสิกฺขนฺตา เป็นต้น ซึ่งความประพฤติเรียบร้อยด้วยคาถา ๔ คาถาว่า ตณฺฑุลํ สยนํ เป็นต้น ซึ่งความประพฤติที่แตกทำลายด้วยคาถา ๑๗ คาถาว่า เตสํ อาสิ วิปลฺลาโส เป็นต้น.

และเมื่อจะแสดงถึงการปฏิบัติออกนอกทางของพวกเทพเป็นต้น ด้วยการปฏิบัติผิด ด้วยการประพฤตินั้น แล้วให้เทศนาจบลง. แต่พวกพราหมณ์จัณฑาลพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้จัดไว้ในที่นี้เลย เพราะเหตุไร. เพราะไม่มี การกระทำการปฏิบัติผิดไรๆ ก็เมื่อความถึงพร้อมแห่งพราหมณธรรมมีอยู่ ธรรมของพราหมณ์ทั้งหลายก็ฉิบหายแล้ว เพราะเหตุนั้นนั่นแล โทณพราหมณ์ จึงทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็บำเพ็ญแม้พราหมณจัณฑาลให้บริบูรณ์ไม่ได้. คำที่เหลือในคาถานี้ มีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพราหมณธัมมิกสูตร

แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถโชติกา.