พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

นาวาสูตรที่ ๘ ว่าด้วยอุปมาเหมือนเรือข้ามฝั่ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 พ.ย. 2564
หมายเลข  40185
อ่าน  850

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 260

สุตตนิบาต

จูฬวรรคที่ ๒

นาวาสูตรที่ ๘

ว่าด้วยอุปมาเหมือนเรือข้ามฝัง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 260

นาวาสูตรที่ ๘

ว่าด้วยอุปมาเหมือนเรือข้ามฝั่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

[๓๒๕] ก็บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้น เหมือนเทวดา บูชาพระอินทร์ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูต ผู้อันเตวาสิกบูชาแล้ว ย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง.

บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น กระทำธรรมนั้น ให้มีประโยชน์ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด.

อันเตวาสิก ซ่องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์ และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย.

บุคคลไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ใคร่ครวญเนื้อความในสำนักแห่งบุคคล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 261

ผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร.

เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชี่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉะนั้น.

ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็นผู้ฉลาด มีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้จำนวนมากในเรือนั้น ให้ข้ามได้ แม้ฉันใด

ผู้ใดไปด้วยมรรคญาณทั้ง ๔ อบรมตนแล้ว เป็นพหูสูต ไม่มีความหวั่นไหว เป็นธรรมดา ผู้นั้นแลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัย ให้เพ่งพินิจได้ ฉันนั้น.

เพราะเหตุนั้นแล บุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต บุคคลผู้คบบุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความแล้ว ปฏิบัติอยู่ รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข.

จบนาวาสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 262

อรรถกถาธรรมสูตร (๑) ที่ ๘

ธรรมสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺมา หิ ธมฺมํ ดังนี้.

พระสูตรนี้ท่านเรียกว่า นาถสูตร ก็มี.

ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?

ตอบว่า ก็พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสปรารภพระสารีบุตรผู้มีอายุ นี่คือความสังเขปในพระสูตรนี้ ส่วนความพิสดารพึงทราบจำเดิมแต่กาลที่พระอัครสาวกทั้งสองอุบัติขึ้น คือ

ดังได้สดับมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น พระอัครสาวกทั้งสองบำเพ็ญบารมีอยู่ ๑ อสงไขยกับแสนกัป แล้วบังเกิดในเทวโลก บรรดาอัครสาวกทั้ง ๒ นั้น ท่านแรก (พระสารีบุตร) เคลื่อนจากเทวโลกแล้วก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณีชื่อว่า รูปสารี แห่งพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านซึ่งมีทรัพย์ถึง ๕๖๐ โกฏิ ในบ้านอันเป็นที่อยู่อาศัยของพวกพราหมณ์ ชื่อว่า อุปติสสคาม อันอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์. ท่านที่สอง (พระโมคคัลลานะ) ถือปฏิสนธิในท้องของนางพราหมณีชื่อว่า โมคคัลลานี แห่งท่านพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้าน ซึ่งมีทรัพย์จำนวน ๕๖๐ โกฎิ เช่นกัน ณ บ้านที่อยู่อาศัยของพวกพราหมณ์ชื่อ โกลิตคาม ในที่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์นั้น เช่นกัน (โดยถือปฏิสนธิ) ในวันนั้นนั่นเอง.


๑. บาลีว่า นาวาสูตร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 263

การถือปฏิสนธิและการออกจากครรภ์แห่งท่านทั้งสองนั้น ได้มีแล้วในวันเดียวกันเช่นกัน ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้เด็กคนหนึ่งในบรรดาเด็กสองคนนั้นว่า อุปติสสะ เพราะเกิดในอุปติสสคาม และตั้งชื่อเด็กอีกคนหนึ่งว่า โกลิตะ เพราะเกิดในโกลิตคาม ก็ในวันเดียวกันเหมือนกัน เด็กทั้งสองนั้นเป็นสหายวิ่งเล่นมาด้วยกัน ถึงความเจริญโดยลำดับ สหายคนหนึ่งๆ มีมาณพเป็นบริวารคนละ ๕๐๐ สหายทั้งสองนั้น เมื่อจะไปสู่อุทยานก็ตาม สู่ท่าน้ำก็ตาม ย่อมไปพร้อมกับบริวารนั่นเอง สหายคนหนึ่ง (อุปติสสะ) ไปด้วยวอทอง ๕๐๐ หลัง สหายคนที่สอง (โกลิตะ) ไปด้วยรถเทียมม้าอาชาไนย ๕๐๐ คัน.

ก็ ณ กาลครั้งนั้น ในเมืองราชคฤห์ได้มีมหรสพบนยอดเขาในกาลตามลำดับกาล (ตามเทศกาล) ในเวลาเย็น พวกชาวแคว้นอังคะและแคว้นมคธะทั้งสิ้น ซึ่งเป็นคนฉลาด มีขัตติยราชกุมารเป็นต้น ได้ประชุมกัน ณ สถานที่นั้น ในท่ามกลางพระนคร ก็นั่งชมมหรสพชนิดต่างๆ อยู่บนสถานที่ทั้งหลายที่ปูลาดไว้เป็นอย่างดี มีเตียงและตั่งเป็นต้น. ครั้งนั้น สหายทั้งสองเหล่านั้น พร้อมกับบริวาร ก็ไปในที่นั้น แล้วนั่งบนอาสนะทั้งหลายที่ปูลาดไว้ มีเตียง และตั่งเป็นต้น ชมมหรสพอยู่ได้มีความคิดว่า ยังไม่ถึงร้อยปีในระหว่างนี้ก็จักตายดังนี้. ความตายได้มาปรากฏแก่อุปติสสะนั้นประดุจจับอยู่ที่หน้าผาก. ความคิดเช่นเดียวกันนี้ก็ได้เกิดขึ้นแก่โกลิตมาณพเช่นกัน. เมื่อนักฟ้อนทั้งหลายมีจำนวนมิใช่น้อยฟ้อนรำอยู่ จิตใจของสหายทั้งสองนั้นมิได้น้อมไปในเหตุแม้ สักว่าจะดูโดยที่แท้ความสังเวชเท่านั้นเกิดขึ้น.

ลำดับนั้น เมื่อมหรสพเลิกแล้ว บริษัทหลีกไปแล้ว เมื่อสหายทั้งหลายเหล่านั้นพร้อมกับบริวารหลีกไปแล้ว โกลิตะจึงได้ถามอุปติสสะว่า เพื่อน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 264

เพราะเหตุไร ท่านไม่มีแม้สักว่าความบันเทิงในการชมฟ้อนรำเป็นต้น เขาได้บอกเนื้อความนั้นแก่โกลิตะนั้น แล้วได้ถามเนื้อความแม้เช่นเดียวกันนั้น แม้โกลิตะนั้นก็ได้บอกความเป็นไปของตนแก่อุปติสสะนั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า มาเถิดสหาย เราจักไปบวชแล้วแสวงหาอมตธรรมกันเถิด. อุปติสสะตอบรับว่า ดีแล้วเพื่อน ต่อจากนั้นสหายทั้งสองได้สละสมบัตินั้นแล้ว ได้เดินทางมาถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับอีก.

โดยสมัยนั้นแล ปริพาชก ชื่อว่า สัญชัย อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์. สหายทั้งสองนั้น พร้อมด้วยมาณพบริวารคนละ ๕๐๐ บวชในสำนักของสัญชัยนั้น โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็เรียนจบไตรเพท และลัทธิของปริพาชกทั้งหมด สหายทั้งสองนั้น เมื่อเข้าไปพิจารณาถึงเบื้องต้นและท่ามกลางและที่สุดของศาสตร์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่เห็นที่สุด จึงได้ถามอาจารย์ว่า เบื้องต้นและท่ามกลางแห่งศาสตร์ทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏอยู่ แต่ที่สุดไม่ปรากฏ เพราะสิ่งที่บุคคลจะพึงบรรลุให้ยิ่งขึ้นด้วยคิดว่า ตนจะพึงบรรลุสิ่งชื่อนี้ได้ด้วยศาสตร์เหล่านี้ ดังนี้ย่อมไม่มี แม้อาจารย์สัญชัยนั้นก็กล่าวว่า แม้เราเองก็ไม่เห็นที่สุดแห่งศาสตร์เหล่านี้เช่นนั้นเหมือนกัน. สหายทั้งสองนั้นจึงพูดกันว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะแสวงหาที่สุดแห่งศาสตร์เหล่านั้น อาจารย์จึงพูดกะพวกเขาว่า พวกเธอพึงแสวงหาตามสบายเถิด. สหายทั้งสองนั้นอันอาจารย์สัญชัยนั้นอนุญาตแล้วอย่างนี้ เมื่อจะแสวงหาอมตธรรม เที่ยวไปอยู่ เป็นผู้ปรากฏแล้วในชมพูทวีป ชนทั้งหลายมีกษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้น อันสหายทั้งสองเหล่านั้นถามแล้ว ก็ตอบให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อชนทั้งหลายพูดว่า อุปติสสะ โกลิตะ ชนเหล่าใดที่พูดว่า พวกเราไม่รู้จักท่านทั้งสองนั้นเลย ดังนี้ย่อมไม่มี สหายทั้งสองจึงเป็นผู้ปรากฏ (เป็นที่รู้จักกัน) อย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 265

เมื่อสหายทั้งสองเหล่านั้น เที่ยวแสวงหาอมตธรรมอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ก็ปริพาชกทั้งสองนั้น เที่ยวไปยังชมพูทวีปทั้งสิ้น การท่องเที่ยวไปขอพักไว้ก่อน เมื่อไม่ได้อมตธรรม โดยที่สุดแม้สักว่าการตอบปัญหาเกี่ยวกันที่สุด จึงได้ไปยังกรุงราชคฤห์อีก. เรื่องทั้งหมด นับตั้งแต่ข้อความที่ว่า ครั้งนั้นแล พระอัสสชิผู้มีอายุนุ่งห่มแล้วในเวลาเช้าดังนี้เป็นต้น จนถึงกาลที่สหายทั้งสองนั้นได้บรรพชา พึงทราบโดยพิสดารโดยนัยที่มาแล้วในบรรพชาขันธกะ.

เมื่อสหายทั้งสองเหล่านั้นบวชแล้วอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กระทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ โดยระยะกาลกึ่งเดือน พระสารีบุตรนั้น เมื่อใดอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระอัสสชิเถระ เมื่อนั้น ท่านไปสู่ที่อุปัฏฐากของพระผู้มี พระภาคเจ้าแล้ว ต่อจากนั้นก็ไปสู่ที่อุปัฏฐากพระเถระด้วยความเคารพว่า พระผู้มีอายุนี้เป็นบุรพาจารย์ของเราทั้งหลาย เราได้อาศัยท่านผู้มีอายุนี้ จึงได้รู้คำสอนของพระพุทธเจัา แต่ว่าเมื่อใดท่านมิได้อยู่ในวิหารเดียวกันกับพระอัสสชิเถระ เมื่อนั้นพระเถระอยู่ ณ ทิศใด ท่านก็หันหน้าไปยังทิศนั้น ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประคองอัญชลีนมัสการ ภิกษุทั้งหลายเห็นการกระทำนั้นแล้ว จึงสนทนากันว่า พระสารีบุตรเป็นถึงอัครสาวก ยังไหว้ทิศอยู่แม้ทุกวันนี้ ท่านเห็นจะยังละทิฏฐิของพวกพราหมณ์ไม่ได้.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงสนทนานั้น ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์. เมื่อทรงแสดงพระองค์ผู้นั่งอยู่ บนพุทธอาสน์อันบวรที่เขาปูลาดไว้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 266

แล้วนั้นแล ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ภิกษุทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร. ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นได้ทูลบอกความเป็นไปนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรหาได้นอบ น้อมทิศไม่ เธอได้รู้พระศาสนาเพราะอาศัยผู้ใด เธอจึงได้ไหว้นมัสการนอบน้อมผู้นั้น ซึ่งเป็นอาจารย์ของตน ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้บูชาอาจารย์ ดังนี้แล้ว เพื่อจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ประชุมกันแล้วในที่นั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.

ในบรรดาบททั้งหลายเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ยสฺมา หิ ธมฺมํ ปุริโส วิชญฺา ความว่า บุคคลฟังแล้วซึ่งปริยัติธรรม อันต่างด้วยปิฎกสาม หรือว่าฟังแล้วซึ่งปฏิเวธธรรมอันต่างโดยโลกุตรธรรมเก้า ที่บุคคลฟังปริยัติธรรมแล้วจะพึงบรรลุ จากบุคคลใด คือพึงรู้แจ้งคือว่าพึงทราบ.

พระบาลีว่า วิเทยฺย ดังนี้ก็มี เนื้อความนั้นก็เหมือนกัน.

บาทคาถาว่า อินฺทํว นํ เทวตา ปูชเยยฺย ความว่า เทวดาทั้งหลายในเทวโลกทั้งสอง ย่อมบูชาท้าวสักกะจอมเทพฉันใด บุคคลนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่แล้ว เมื่อกระทำวัตรปฏิบัติทั้งปวง มีการถอดรองเท้าเป็นต้น พึงบูชา ได้แก่ พึงสักการะ เคารพบุคคลนั้น.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า อาจารย์นั้นผู้เป็นพหูสูตอันอันเตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใส ในอันเตวาสิกนั้น ย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 267

สองบาทพระคาถาว่า โส ปูชิโต ฯเปฯ ปาตุกโรติ ธมฺมํ ความว่า อาจารย์นั้นผู้ชื่อว่าเป็นพหูสูตด้วยสามารถแห่งปริยัติและปฏิเวธ อันศิษย์บูชาแล้วอย่างนี้ มีจิตเลื่อมใส (พอใจ) ในอันเตวาสิกนั้น ย่อมกระทำให้แจ่มแจ้ง คือว่าย่อมแสดงซึ่งปริยัติธรรม ด้วยสามารถแห่งเทศนานั้นแล และซึ่งปฏิเวธธรรมที่ตนฟังการแสดงแล้ว จะพึงบรรลุได้ ตามที่อาจารย์สั่งสอนด้วยการปฏิบัติ คือว่า ย่อมกระทำให้แจ่มแจ้งซึ่งปริยัติธรรมด้วยเทศนา หรือซึ่งปฏิเวธธรรมที่ตนได้บรรลุแล้วด้วยสามารถแห่งอุปมา.

บาทพระคาถาว่า ตทฏฺิกตฺวาน นิสมฺม ธีโร ความว่า บุรุษชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ เพราะสามารถฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ได้ กระทำธรรมที่อาจารย์ ผู้เลื่อมใสแล้วอย่างนี้ ทำให้ปรากฏแล้วให้มีประโยชน์.

บาทพระคาถาว่า ธมฺมานุธมฺมํ ปฏิปชฺชมาโน ความว่า เจริญอยู่ซึ่งวิปัสสนาภาวนา อันชื่อว่าเป็นธรรมสมควร เพราะเป็นธรรมที่อนุโลมแก่โลกุตรธรรม.

บาทพระคาถาว่า วิญฺญู วิภาวี นิปุโณ จ โหติ ความว่า เป็นผู้รู้แจ้งด้วยการบรรลุ ด้วยปัญญา กล่าวคือ ความเป็นผู้รู้แจ้ง ชื่อว่าเป็นผู้แจ่มแจ้ง เพราะรู้แจ้งแล้วสามารถจะกระทำให้ปรากฏ ให้คนแม้เหล่าอื่นทราบได้ และชื่อว่าเป็นผู้ละเอียดอ่อน เพราะเป็นผู้แทงตลอดซึ่งอรรถะอันสุขุมอย่างยิ่ง.

บาทพระคาถาว่า โย ตาทิสํ ภชติ อปฺปมตฺโต ความว่า ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้มีความเลื่อมใสในอาจารย์นั้น เป็นเบื้องหน้า คบอาจารย์ ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น คือผู้มีประการอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้น.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 268

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสรรเสริญ การคบอาจารย์ที่เป็นบัณฑิตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะติเตียนการคบอาจารย์ที่โง่เขลา จึงตรัสคาถานี้ว่า ขุทฺทญฺจ พาลํ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขุทฺทํ ความว่า ซึ่งอาจารย์ผู้ประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันเล็กน้อย ชื่อว่า ผู้โง่ (พาล) เพราะไม่มีปัญญา.

บทว่า อนาคตตฺถํ ความว่า ผู้มีประโยชน์ คือปริยัติและปฏิเวธ อันตนไม่บรรลุแล้ว.

บทว่า อุสุยฺยกํ ได้แก่ ผู้ชื่อที่อดทนไม่ได้อยู่ ซึ่งความเจริญของอันเตวาสิก เพราะความเป็นผู้ริษยา. คำที่เหลือในคาถานี้ โดยบท (คือโดยพยัญชนะ) ก็ปรากฏชัดแล้วทั้งนั้น แต่โดยอธิบาย พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้นอย่างนี้ว่า อาจารย์ใดมักจะได้บริขารทั้งหลาย มีจีวรเป็นอันมากเป็นต้น ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้จีวรเป็นต้น (หรือว่าย่อมไม่ให้แม้สักว่าคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ในธรรมทานแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย อันเตวาสิกซ่องเสพอยู่ ซึ่งอาจารย์นั้น ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมมีความเป็นธรรมน้อยเป็นต้นเหล่านี้ ผู้โง่เขลา ผู้ไม่ได้บรรลุประโยชน์ ผู้ริษยา แม้ตนเองก็จะกลายเป็นคนโง่ (ไปด้วย) โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลห่อปลาเน่าด้วยหญ้าคา ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นไม่กระทำให้แจ่มแจ้ง และไม่ทราบปริยัติธรรม หรือปฏิเวธธรรมอะไรๆ แม้มีประมาณน้อยในศาสนานี้ ทั้งยังข้ามความสงสัยในธรรมทั้งหลายไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 269

บัดนี้ เมื่อจะกระทำเนื้อความแห่งพระคาถานั้นนั่นแลให้ปรากฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า ยถา นโร ดังนี้เป็นต้น.

ในคำทั้งหลายเหล่านั้น คำว่า อาปคํ ได้แก่ แม่น้ำ.

บทว่า มโหทกํ ได้แก่ น้ำมาก.

บทว่า สลิลํ ได้แก่ ไหลไปแล้วจากที่นี้และที่นี้ มีคำอธิบายว่า แผ่กว้างออกไป. พระบาลีว่า สริตํ (ไหลไป) ดังนี้ก็มี เนื้อความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

บทว่า สีฆโสตํ ได้แก่ พัดพาสิ่งที่ควรพัดพาไปได้ มีคำอธิบายว่า ไหลไปด้วยกำลังแรง. โส อักษร ในคำนี้ว่า กึ โส และด้วย โส อักษร นี้ว่า โส วุยฺหมาโน เป็นคำสักว่านิบาต เพราะเป็นคำแสดงถึงนระนั้น เป็นคำที่ท่านอธิบายว่า กสุ เหมือนประโยคว่า น ภวิสฺสามิ นาม โส วินสฺสิสฺสามิ นาม โส (ข้าพเจ้าชื่อว่าจักไม่เป็น ข้าพเจ้าแลชื่อว่าจักฉิบหายละสิ)

บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรมสองอย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั้นเอง.

บทว่า อนิสามยตฺถํ ได้แก่ ไม่ใคร่ครวญแล้วซึ่งเนื้อความ.

คำที่เหลือในพระคาถานี้ โดยบทปรากฏชัดแล้วทั้งนั้น ส่วนโดยอธิบาย ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความในพระคาถานี้ อย่างนี้ว่า นรชนคนใดคนหนึ่ง ลงสู่แม่น้ำมีประการดังกล่าวมาแล้ว อันแม่น้ำนั้นพัดไปอยู่ ไปตามกระแสน้ำ คือว่า ไปตามอยู่ซึ่งกระแสน้ำนั้นเอง จักสามารถเพื่อจะทำบุคคลอื่นที่อยู่บนฝั่ง คือว่าจักอาจเพื่อจะทำบุคคลอื่นให้ถึงฝั่งได้อย่างไร ฉันใด พระบาลีว่า สกฺกติ ดังนี้ก็มี.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 270

บุคคลไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมแม้ ๒ อย่าง ด้วยปัญญาของตนแล้ว และไม่ใคร่ครวญเนื้อความแม้สักว่า คำว่า อนิจจัง คำว่า ทุกขัง และคำว่า อนัตตา ในสำนักของบุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้อยู่เพราะความที่ตนไม่รู้ ได้ด้วยตนเอง และชื่อว่ายังข้ามความสงสัยไม่ได้ เพราะตนยังไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญ และอาจเพื่อจะทำบุคคลอื่นให้เพ่งเล็ง คือให้เพ่งพินิจได้อย่างไร ดังนี้. ในข้อนี้ผู้ศึกษาพึงระลึกถึงสุตตบท มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนจุนทะ ผู้นั้นแล ชื่อว่า บ่นเพ้ออยู่ด้วยตนเอง ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงกล่าวอุปมา เพื่อกระทำเนื้อความให้ปรากฏ เพราะบุคคลไม่สามารถจะทำผู้อื่นให้เพ่งเล็งถึงคนพาล ด้วยการคบคนพาลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงได้ตรัส ๒ พระคาถาว่า ยถาปิ นาวํ เป็นต้น เพื่อจะตรัสซึ่งอุปมา เพื่อทำเนื้อความให้ปรากฏ เพราะเป็นผู้สามารถเพื่อจะทำผู้อื่นให้เพ่งพินิจได้ถึงบัณฑิต ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ในคำนี้ว่า ผู้ใดไม่ประมาท คบคนเช่นนั้น ดังนี้เป็นต้น.

ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผิเยน ได้แก่ ไม้พาย.

บทว่า อริตฺเตน ได้แก่ ถ่อ (ท่อนไม้ไผ่)

บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในเรือนั้น.

บทว่า ตตฺรุปายญฺญู ได้แก่ เป็นผู้รู้อุบาย ด้วยการให้บรรลุถึงหนทาง เพราะรู้อุบายมีการนำเรือมาและการแล่นเรือ (ใบ) ไป เป็นต้น และชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด เพราะความเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้ว และเพราะมีความฉลาด เป็นประมาณ ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ (ปัญญา) เพราะสามารถจะกำจัดอันตรายที่บังเกิดขึ้นแล้วได้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 271

บทว่า เวทคู ได้แก่ มรรคญาณทั้งสี่ กล่าวคือการรู้.

บทว่า ภาวิตตฺโต ได้แก่ มีจิตอันมรรคภาวนานั้นนั่นแลอบรมแล้ว.

บทว่า พหุสฺสุโต ได้แก่ มีนัยอันกล่าวแล้วในกาลก่อน.

บทว่า อเวธธมฺโม ได้แก่ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง ๘ เป็นสภาพ.

คาถาว่า โสตาวธานูปนิสูปปนฺเน ได้แก่ ได้เกิดขึ้นแล้วโดยการเงี่ยโสตลงสดับ และด้วยอุปนิสัยแห่งมรรคและผลทั้งหลาย. คำที่เหลือมีเนื้อความเข้าใจง่ายทั้งนั้น แม้โยชนาในการอธิบาย ก็สามารถจะให้ทราบชัดได้โดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องอธิบายให้พิศดาร.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอุปมามีเนื้อความ คือการกระทำความเป็นผู้สามารถ เพื่อจะให้ผู้อื่นเพ่งพินิจถึงบัณฑิตให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงประกอบไว้ด้วยการคบบัณฑิตนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายนี้ว่า ตสฺมา หเว ดังนี้เป็นต้น.

เนื้อความย่อในพระคาถาสุดท้ายนั้น มีดังต่อไปนี้ :-

เพราะเหตุที่ชนทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ย่อมบรรลุคุณวิเศษได้ด้วยการคบบัณฑิต ฉะนั้นแล บุคคลพึงคบสัตบุรุษ. ถามว่า คบสัตบุรุษ เช่นไร. ตอบว่า บุคคลพึงคบสัตบุรุษผู้มีปัญญาด้วย ผู้เป็นพหูสูตด้วย คือว่า ผู้มีปัญญา ด้วยความถึงพร้อมแห่งปัญญา และผู้เป็นพหูสูตด้วยมีสุตะทั้งสองประการตามที่กล่าวแล้ว เพราะบุคคลนั้นเมื่อคบผู้มีปัญญาเช่นนั้นอยู่ รู้แล้วซึ่งธรรมที่ผู้นั้นกล่าวแล้ว และทราบแล้วซึ่งอรรถ (ผล) อย่างนี้ ปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 272

อยู่ซึ่งธรรมตามที่อาจารย์ผู้มีปัญญานั้นสอนแล้ว ชื่อว่า ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้วด้วยสามรถแห่งการแทงตลอดได้ด้วยข้อปฏิบัตินั้น พึงได้ คือพึงถึง ได้แก่ พึงบรรลุซึ่งโลกุตรสุข อันต่างด้วยมรรคผลและนิพพาน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงให้พระเทศนาจบลงด้วยยอดคือพระอรหัต ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งธรรมสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา