พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อุฏฐานสูตรที่ ๑๐ ว่าด้วยตื่นจากความหลับ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 พ.ย. 2564
หมายเลข  40187
อ่าน  439

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 285

สุตตนิบาต

จูฬวรรคที่ ๒

อุฏฐานสูตรที่ ๑๐

ว่าด้วยตื่นจากความหลับ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 285

อุฏฐานสูตรที่ ๑๐

ว่าด้วยตื่นจากความหลับ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

[๓๒๗] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ เพราะความหลับจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เร่าร้อนเพราะโรค คือ กิเลสมีประการต่างๆ ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว ย่อยยับอยู่ เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด จงหมั่นศึกษาเพื่อสันติเถิด.

มัจจุราชอย่ารู้ว่าเธอทั้งหลายประมาทแล้ว อย่ายังเธอทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจ ให้ลุ่มหลงเลย เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ ผู้มีความต้องการอาศัยรูป เป็นต้น ดำรงอยู่.

ขณะอย่าได้ล่วงเธอทั้งหลายไปเสีย เพราะว่าผู้ล่วงขณะเสียแล้ว เป็นผู้ยัดเยียดกันในนรก เศร้าโศกอยู่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 286

ความประมาทเป็นดุจธุลี ตกต้องแล้วเพราะความมัวเมาในปฐมวัยนอกนี้ ความประมาทเป็นดุจธุลี ตกต้องแล้วเพราะความมัวเมาในวัย เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงถอนลูกศร คือ กิเลสมีราคะ เป็นต้นของตนเสีย ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชา.

จบอุฏฐานสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาอุฏฐานสูตรที่ ๑๐

อุฏฐานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อุฏฺหถ ดังนี้.

ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?

ตอบว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ทรงอยู่ในมหาวิหารเชตวันในเวลากลางคืน ในเวลาเช้ามีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี แล้วเสด็จออกจากพระนคร ทางประตูด้านทิศ ตะวันออก ได้เสด็จไปยังปราสาทของมิคารมารดา (วัดบุพพาราม) เพื่อประทับในเวลากลางวัน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 287

ได้ยินว่า การประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหารในเวลากลางคืนแล้ว เสด็จเข้าไปทรงพักในเวลากลางวัน ในปราสาทของมิคารมารดา และการเสด็จประทับในปราสาทของมิคารมารดาในเวลากลางคืน แล้วเสด็จเข้าไปทรงพัก ในเวลากลางวันในพระเชตวันวิหาร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิบัติมาเป็นประจำ.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพื่อทรงอนุเคราะห์สกุลทั้งสองนั้นประการหนึ่ง เพื่อประโยชน์จะแสดงถึงคุณแห่งการบริจาคใหญ่ (ของท่านทั้งสองนั้น) อีกประการหนึ่ง.

ก็ ณ ภายใต้ปราสาทแห่งมิคารมารดา ได้มีเรือนยอดอยู่ ๕๐๐ ห้อง ซึ่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ได้อาศัยอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดานั้น เมื่อใดพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ภายใต้ปราสาท (ชั้นล่าง) ในกาลนั้นภิกษุทั้งหลาย ก็ไม่ขึ้นไปบนปราสาทชั้นบน ด้วยความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็ในวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าไปยังห้องเรือนยอดในปราสาทชั้นบน เพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป จึงเข้าไปยังห้องทั้ง ๕๐๐ ห้อง ในปราสาทชั้นล่าง ก็ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเทียว เป็นพระบวชใหม่ ได้มาสู่ธรรมวินัยนี้ยังไม่นาน มีจิตใจฟุ้งซ่านดุจไม้อ้อ มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปยังห้องเหล่านั้นแล้ว ก็นอนหลับในเวลากลางวัน ลุกขึ้นในตอนเย็น ประชุมกันที่ลานใหญ่ กล่าวสนทนากันว่า วันนี้ท่านได้อะไรในโรงภัต ท่านได้ไปที่ไหน ภิกษุเหล่านั้นพากันกล่าวอามิสกถา มีประการต่างๆ ทำเสียงดังลั่นว่า ดูก่อนอาวุโส กระผมได้ไปยังปราสาทของพระเจ้าโกศล กระผม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 288

ได้ไปยังบ้านของอนาถปิณฑิกะ ในพระราชวังของพระเจ้าโกศล และที่บ้าน ของอนาถบิณฑิกกะนั้น มีวิธีจัดโภชนะเห็นปานนี้ และเห็นปานนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ทั้งๆ ที่อยู่กับเรา ก็ยังมัวเมาประมาทอย่างนี้ น่าอนาถ ภิกษุเหล่านี้ได้กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ดังนี้แล้ว จึงทรงดำริถึงการที่จะให้พระมหาโมคคัลลานเถระมา ในขณะนั้นนั่นเอง ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้มีอายุ ทราบวาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้มาด้วยฤทธิ์ ได้ถวายบังคม ณ เบื้องพระบาทนั้นเอง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก พระมหาโมคคัลลานเถระ นั้นว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เพื่อนสพรหมจารีของเธอเหล่านี้ เป็นผู้มัวเมา ประมาท ดีละ เธอจงทำภิกษุเหล่านั้นให้สลดใจ. พระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้มีอายุนั้น รับสนองพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ได้ พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงเข้าอาโปกสิณในทันใดนั้นเอง ใช้หัวแม่เท้าทำพื้นมหาปราสาทซึ่งตั้งอยู่ในชั้นกามภูมิ ให้หวั่นไหว พร้อมกับส่วนแห่งแผ่นดิน ซึ่งปราสาทตั้งอยู่ ประดุจพายุใหญ่ ทำนาวาให้หวั่นไหวฉะนั้น.

ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นกลัวแล้ว ร้องเสียงลั่น ต่างทิ้งจีวรของตนๆ พากันออกไปจากประตูทั้งสี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระองค์ แก่ภิกษุเหล่านั้น เป็นราวกะว่าเสด็จเข้าไป สู่พระคันธกุฎีทางประตูอื่น ภิกษุเหล่านั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ได้ยืนถวายบังคม. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า พวกเธอกลัวอะไร ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปราสาทของมิคารมารดานี้ ใครทำให้หวั่นไหว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 289

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทราบไหมว่าใครทำให้หวั่นไหว ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปราสาทหลังนี้ โมคคัลลานะทำให้หวั่นไหว เพื่อจะทำบุคคลเช่นกับพวกเธอ ซึ่งมีสติหลงลืม ไร้สัมปชัญญะ อยู่ด้วยความประมาท ให้สังเวช แล้วจึงได้ตรัสพระสูตรนี้ เพื่อทรงแสดงพระธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฏฺหถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นจากอาสนะ. คือว่า จงเพียร พยายาม คือว่า อย่าเกียจคร้าน.

บทว่า นิสีทถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อตามประกอบกรรมฐาน.

บาทพระคาถาว่า โก อตฺโถ สุปิเตน โว ความว่า ท่านทั้งหลายซึ่งบวชแล้ว เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน จะได้ประโยชน์อะไรด้วยการหลับ คือว่า ไม่มีใครสามารถ จะบรรลุถึงประโยชน์ได้ด้วยการหลับ.

บาทพระคาถาว่า อาตุรานํ หิ กา นิทฺทา สลฺลวิธาน รุปฺปตํ ความว่า ก็ชื่อว่าในที่ใด ความหลับย่อมไม่มีแก่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ทุรนทุรายด้วยโรค มีโรคตาเป็นต้น ซึ่งตั้งขึ้นแล้ว ที่ส่วนแห่งร่างกายแม้เล็กน้อย ผู้ถูกลูกศรชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาลูกศรเหล็ก ลูกศรกระดูก ลูกศรงา (ฟัน) ลูกศรเขา และลูกศรไม้ ซึ่งเข้าไปสู่ร่างกาย แม้สักว่านิ้วเดียว หรือสองนิ้ว ก็ในที่นั้น ท่านทั้งหลาย ซึ่งมีจิตและร่างกายอยู่ทั้งสิ้น ผู้บริโภคแล้ว กระวนกระวายอยู่ ด้วยโรคคือกิเลสนานัปการ ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว และผู้ชื่อว่าถูกลูกศร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 290

แทงแล้ว เพราะถูกลูกศร ๕ ชนิด มีลูกศรคือ ราคะเป็นต้น เสียบแทงเข้าไปในหทัยแล้ว ย่อยยับอยู่ จะมีการหลับได้อย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสดังนี้ แล้วเพื่อจะทำภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นให้อุตสาหะ และให้สังเวชยิ่งๆ ขึ้นอีก จึงได้ตรัสว่า อุฏฺหถ ฯเปฯ วสานุเค ดังนี้.

ในพระคาถานั้น มีการพรรณนาเนื้อความพร้อมทั้งอธิบายและโยชนา ดังต่อไปนี้ :-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเธอทั้งหลายถูกลูกศรคือกิเลสเสียบแทงแล้วอย่างนี้ จะมีเวลามัวเมาประมาทอยู่เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย พระศาสดา (ทรงประกาศพรหมจรรย์) ที่ยอดเยี่ยมที่สุดนี้มาอยู่เฉพาะหน้า (ของท่านทั้งหลาย) ด้วยว่าในกาลก่อนแต่กาลนี้ เธอทั้งหลายหลับแล้ว อยู่ที่ภูเขาทั้งหลาย และแม่น้ำเป็นเวลานาน หลับแล้วที่ยอดไม้อันไม่เสมอกัน ก็เพราะเหตุที่ไม่เห็นอริยสัจทั้งหลาย เพื่อทำที่สุดแห่งความหลับนั้น เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่ง และศึกษาเพื่อสันติให้มั่นคง เนื้อความในบาทแห่งพระคาถานั้นนัย อันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.

ส่วนคำว่า สนฺติ ในบาทที่สอง หมายถึงสันติ ๓ อย่างคือ อัจจันตสันติ (สันติอย่างสูงสุด) ๑ ตทังคสันติ (สันติด้วยองค์นั้น) ๑ สมมติสันติ ๑ (สันติตามสมมติ)

คำว่า สันติ นี้เป็นชื่อแห่งพระนิพพาน วิปัสสนา และทิฏฐิคตะ แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึง อัจจันสันติ คือพระนิพพาน พระผู้มี

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 291

พระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า เพื่อประโยชน์แก่พระนิพพาน ขอท่านทั้งหลายจงหมั่นศึกษา คือว่า ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความบากบั่นไม่ท้อถอย ศึกษาเถิด.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า พระยามัจจุราช ทราบว่าท่านทั้งหลายประมาทแล้ว ก็อย่าได้ทำท่านทั้งหลาย ผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย คือว่า มารอันได้นามว่า พระยามัจจุราช ทราบอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ประมาทแล้ว ก็อย่าได้ทำ ท่านทั้งหลาย ผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย มีคำอธิบายว่า ท่านทั้งหลาย ย่อมไปสู่อำนาจของพระยามัจจุราชนั้น ได้โดยประการใด พระยามัจจุราชนั้นกระทำท่านทั้งหลาย ผู้อยู่ในอำนาจโดยประการนั้น ก็อย่าให้ท่านทั้งหลายได้ลุ่มหลงเลย.

เพราะเมื่อบุคคลไปอยู่สู่อำนาจของพระยามารนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีความต้องการ อาศัยรูปเป็นต้น ดำรงอยู่ได้ด้วยตัณหาใด ท่านทั้งหลายจงข้ามซึ่งตัณหานั้น อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ขณะอย่าได้ล่วงเธอ ทั้งหลายไปเสีย เพราะว่าผู้ล่วงขณะเสียแล้ว เป็นผู้ยัดเยียดกันในนรกย่อมเศร้าโศก คือว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีความต้องการ ได้แก่ผู้ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อาศัยคืออิงอาศัย ได้แก่เป็นผู้แอบแนบ ซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้น ย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยตัณหาใดของเธอทั้งหลายจงข้าม คือว่าจงข้ามพ้นซึ่งตัณหานั้น ได้แก่ตัณหาในภพและในโภคะ ที่ชื่อว่าซ่านไป เพราะเป็นธรรมชาติที่แผ่ซ่าน กว้างขวางลุ่มลึก และไพศาลในอารมณ์ทั้งหลาย มีประการต่างๆ ขณะอย่าได้ล่วงเลยที่ในทั้งหลายไปเสีย คือว่าขณะ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 292

แห่งการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านทั้งหลายนี้ อย่าได้ผ่านไปเสีย, เพราะว่า ขณะเห็นปานนี้นี่แหละ ของชนทั้งหลายเหล่าใดผ่านพ้นไป และชนทั้งหลายเหล่าใดผ่านพ้นขณะนี้ไปเสีย ชนทั้งหลายเหล่านั้นคือผู้ล่วงขณะไปเสียนั้นแล ยัดเยียดกันอยู่ในนรก ย่อมเศร้าโศก คือว่าดำรงอยู่ในอบายแม้ทั้ง ๔ ที่รู้กันว่านรก เพราะอรรถว่าหาความสุขใจมิได้. ย่อมเศร้าโศกโดยนัยว่า กรรมดีพวกเรามิได้ทำไว้เลย ดังนี้เป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นอุตสาหะ และสลดใจอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงติเตียนการที่ภิกษุเหล่านั้นอยู่ด้วยความประมาทนั้น แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปเทียว ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท จึงตรัส พระคาถานี้ว่า ปมาโท รโช ดังนี้เป็นต้น.

โดยสังเขป ความอยู่ปราศจากสติ ชื่อว่า ความประมาทในคาถานี้ ความประมาทนั้น ชื่อว่าเป็นธุลี เพราะอรรถว่าเป็นมลทินของจิต ธุลีนั้นติดตามซึ่งความประมาทนั้น ความผิดซึ่งติดตามความประมาท เกิดขึ้นเพราะความประมาทติดตามมาก็คือความประมาทนั้นเอง ความประมาทแม้นั้น ชื่อว่าเป็น ธุลี ด้วยว่าแต่ไหนแต่ไรมา ชื่อว่า ความประมาทที่ไม่เป็นธุลีไม่มีเลย.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอรรถอะไรไว้ ด้วยบทว่า ปมาโท นั้น.

ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอรรถไว้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถึงความวางใจว่า ขณะนี้พวกเรายังหนุ่มสาวอยู่ก่อน พวกเราจักรู้ได้ในภายหลังเพราะว่า ความประมาทแม้ในเวลาเป็นหนุ่มสาว ก็จัดว่าเป็น ธุลี ความ ประมาทในวัยกลางคนก็มี ในวัยแก่ก็มี จัดว่าเป็น ธุลีใหญ่ เพราะติดตามความประมาท จึงจัดว่าเป็นกองหยากเยื่อทีเดียว เหมือนกับธุลีที่มีอยู่วันหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 293

หรือ ๒ วันในเรือน ก็จัดว่าเป็นธุลีอยู่นั้นเอง แต่ธุลีนั้นเมื่อเพิ่มขึ้น เก็บไว้ถึง ๑ ปี ก็จัดเป็นกองหยากเยื่อทีเดียว แต่แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อภิกษุเรียนพุทธพจน์ในปฐมวัย แล้วเจริญสมณธรรมในมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัยอยู่ หรือว่า ภิกษุเรียนพุทธพจน์ในปฐมวัยแล้วสดับตรับฟัง (เพิ่มเติม) ในมัชฌิมวัย แม้กระทำสมณธรรมอยู่ในปัจฉิมวัย ก็ยังไม่จัดว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าภิกษุใดอยู่ด้วยความประมาทในวัยทั้งปวง ทั้งนอนตลอดวัน และประกอบคำ เพื่อได้อามิส เช่นอย่างท่านทั้งหลายอยู่ ความประมาทในปฐมวัยนั้นของภิกษุนั้นนั่นแล จัดว่าเป็นธุลี และความประมาทใหญ่ ซึ่งติดตามความประมาทในวัยนอกนี้ จัดว่าเป็นธุลีกองใหญ่ทีเดียว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงติเตียนการที่ภิกษุเหล่านั้น อยู่ด้วยความประมาทอย่างนี้ เมื่อจะทรงชักชวนในความไม่ประมาทจึงตรัสว่า อปฺปมาเทน วิชฺชาย อพฺพุฬฺเห สลฺลมตฺตโน ดังนี้.

เนื้อความแห่งสองบาทพระคาถามนี้ พระผู้มีพระภาคทรงยังพระเทศนาให้จบลง ด้วยอดคือพระอรหัตว่า ความประมาทแม้ในกาลทั้งปวงนี้ ชื่อว่าเป็นธุลีอย่างนี้. กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงถอนลูกศร ๕ อย่าง มีราคะเป็นต้น ที่อาศัยหทัยของตนด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือการอยู่โดยไม่ปราศจากสติ และด้วยวิชชา กล่าวคือ อาสวักยญาณ.

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ภิกษุเหล่านั้นแม้ ๕๐๐ รูป ถึงความสังเวช กระทำไว้ในใจซึ่งพระธรรมเทศนานั้นนั่นแล พิจารณาอยู่ เริ่มเจริญวิปัสสนาแล้วดำรงอยู่ในพระอรหัต ดังนี้แล.

จบการพรรณนาเนื้อความแห่งอุฏฐานสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา