พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ราหุลสูตรที่ ๑๑ ว่าด้วยไม่ดูหมิ่นบัณฑิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 พ.ย. 2564
หมายเลข  40188
อ่าน  538

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 294

สุตตนิบาต

จูฬวรรคที่ ๒

ราหุลสูตรที่ ๑๑

ว่าด้วยไม่ดูหมิ่นบัณฑิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 294

ราหุลสูตรที่ ๑๑

ว่าด้วยไม่ดูหมิ่นบัณฑิต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

[๓๒๘] เธอทั้งหลายย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แล หรือ การทรงคบเพลิง เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย เธอนอบน้อมแล้วแลหรือ.

พระราหุลกราบทูลว่า

ข้าพระองค์ย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ การทรงคบเพลิงเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นอบน้อมแล้วเป็นนิตย์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

เธอละกามคุณห้ามีรูปเป็นที่รัก เป็นที่รื่นรมย์ใจ ออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว จงกระทำที่สุดทุกข์เถิด.

เธอจงคบกัลยาณมิตร จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียงกึกก้อง จงรู้จักประมาณในโภชนะ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 295

เธออย่าได้กระทำความอยากในวัตถุ เป็นที่เกิดตัณหาเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕ จงมีสติไปแล้วในกาย จงเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย.

จงเว้นสุภนิมิต อันก่อให้เกิดความกำหนัด จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นดีแล้วในอสุภภาวนา จงอบรมวิปัสสนา จงละมานานุสัย แต่นั้นเธอจักเป็นผู้สงบ เพราะการละมานะเที่ยวไป.

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านพระราหุล ด้วยพระคาถาเหล่านี้เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้.

จบราหุลสูตรที่ ๑๑

อรรถกถาราหุลสูตรที่ ๑๑

ราหุลสูตร มีคำเริ่มต้นว่า กจฺจิ อภิณฺหสํวาสา ดังนี้.

ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นไร?

ตอบว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นดังต่อไปนี้ :-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 296

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เสด็จจากควงต้นโพธิ ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์โดยลำดับ ณ กรุงกบิลพัสดุ์นั้น พระราหุลได้ทูลขอความเป็นรัชทายาทว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงทรงประทาน ความเป็นรัชทายาทแก่กระหม่อมฉัน ดังนี้ จึงได้รับสั่งแก่พระสารีบุตรเถระว่า เธอจงให้ราหุลกุมารบรรพชา เรื่องทั้งปวงนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาขันธกะ (พระวินัย) ก็พระราหุลได้บรรพชาแล้วอย่างนี้ ถึงความเจริญแล้ว พระสารีบุตรนั้นแล ก็ได้ให้อุปสมบท ส่วนพระโมคคัลลานเถระเป็นกรรมวาจาจารย์ของพระราหุลนั้น.

พระราหุลเถระ ยังไม่ได้บรรลุอริยภูมิตราบใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโอวาทพระเถระนั้น ตราบนั้น ตั้งแต่กาลที่ท่านยังเป็นหนุ่ม ด้วยทรงพระดำริว่า กุมารนี้ สมบูรณ์ด้วยชาติเป็นต้น กุมารนั้นอย่าได้ทำการถือตัวหรือการหยิ่งเพราะอาศัย ชาติ โคตร ตระกูล และผิวพรรณเป็นต้น ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระสูตรนี้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็คำว่า ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนท่านพระราหุลเถระ ด้วยพระคาถาเหล่านี้เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้ ดังนี้ นี้ พระอานนทเถระกล่าวไว้แล้ว ในที่สุดแห่งพระสูตร.

ความย่อในคาถาที่ ๑ ในราหุลสูตรนั้น มีดังต่อไปนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนราหุล เธอไม่ได้ดูหมิ่นบัณฑิต ด้วยเรื่องมีชาติเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่อยู่ร่วมกันเป็นนิจแลหรือ ชื่อว่าการทรงไว้ซึ่งคบเพลิง เพราะการทรงไว้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 297

ซึ่งประทีปคือญาณ และประทีปคือธรรมเทศนา อันเธอนอบน้อมต่อมนุษย์ ทั้งหลายหรือ คือว่าอันเธอบูชาแล้วเป็นนิจแลหรือ ดังนี้.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระราหุล เมื่อจะแสดงว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์หาได้กระทำการถือตัวหรือการเย่อหยิ่ง เพราะเหตุที่อยู่ร่วมกัน เหมือนกับคนต่ำต้อยดูถูกท่านผู้ฉลาดไม่ จึงได้กราบทูลคาถาตอบนี้ว่า นาหํ อภิณฺหสํวาสา ดังนี้. คาถาตอบนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงโอวาทพระราหุลเถระนั้น ให้ยิ่งขึ้น จึงได้ตรัสพระคาถาที่เหลือทั้งหลายว่า ปญฺจ กามคุเณ ดังนี้เป็นต้น

ในพระคาถาที่เหลือนั้น บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

เพราะเหตุที่กามคุณทั้ง ๕ มีรูปเป็นที่รัก มีชาติเป็นที่รัก สำหรับสัตว์ทั้งหลาย อันสัตว์ทั้งหลายปรารถนาต้องการยิ่งนัก และใจของสัตว์เหล่านั้นก็ยินดี ก็ท่านพระราหุลละกามคุณเหล่านั้นแล้ว ออกจากพระราชวังด้วยศรัทธา หาใช่พระราชาทรงนำออกไม่ หาใช่โจรนำออกไปไม่ ไม่ใช่ผู้ที่เป็นหนี้ ไม่ใช่ผู้ที่กลัวภัย ไม่ใช่ผู้ที่บวชเพื่อเลี้ยงชีวิต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยังพระราหุลนั้น ให้ทรงกล้าหาญด้วยพระดำรัสที่ว่า เธอออกจากพระราชวังด้วยศรัทธาดังนี้ ก็เพราะท่านละกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นปิยรูป และเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจได้แล้ว เมื่อจะทรงชักชวนในการปฏิบัติที่สมควรแก่เนกขัมมะนี้ จึงตรัสว่า เธอจงเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด ดังนี้.

ในคำว่า พระราหุลออกบวชด้วยศรัทธา ดังนี้นั้น หากจะพึงมีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็ท่านผู้มีอายุ ปรารถนาอยู่ซึ่งรัชสมบัติอันพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 298

ทรงให้บรรพชาโดยพลการมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พระราหุลออกจากพระราชวังด้วยศรัทธา ดังนี้ อันข้าพเจ้าจะได้กล่าวเฉลย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ก็เพราะพระราหุลมีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ จริงอยู่ท่านผู้มีอายุนี้ มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะนานแล้ว คือเมื่อเป็นพระยานาคราช ชื่อว่า สังขะ ได้เห็นสามเณร ชื่อว่า อุปเรวัต ซึ่งเป็นโอรสของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้ถวายทานเป็นเวลา ๗ วัน ปรารถนาความเป็นอย่างนั้น (คือความเป็นสามเณร) จึงถึงพร้อมด้วยความปรารถนา และอภินิหาร จำเดิมแต่นั้นมา บำเพ็ญบารมีอยู่เป็นเวลาแสนกัป อุบัติแล้วในภพสุดท้าย พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแหละทรงทราบความที่พระผู้มีอายุนั้น มีพระทัยน้อมไปในบรรพชาอย่างนี้ ด้วยว่าญาณนี้เป็นญาณหนึ่งในตถาคตพลญาณ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ท่านออกจากพระราชวังด้วยศรัทธา.

อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า สทฺธาเยว ฆรา นิกฺขมฺม นี้ มีอธิบายว่า เธอออกจากพระราชวัง ด้วยศรัทธามาสิ้นกาลนานแล้ว บัดนี้ก็จงทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะแสดงข้อปฏิบัติ ด้วยการกระทำที่สุด ทุกข์ในวัฏฏะตั้งต้นแต่การละสมุทัย จึงตรัสพระคาถานี้ว่า มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ ดังนี้เป็นต้น.

พึงทราบอธิบายในพระคาถานี้ดังต่อไปนี้.

ชนทั้งหลายผู้ยิ่งด้วยศีลเป็นต้น ชื่อว่า กัลยาณมิตร บุคคลคบอยู่ซึ่งกัลยาณมิตรเหล่านั้น ย่อมเจริญด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ประดุจต้นสาละ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 299

ใหญ่อาศัยป่าหิมวันต์ เจริญอยู่ด้วยรากเป็นต้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาค เจ้าจึงตรัสว่า มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ ดังนี้.

สองบาทพระคาถาว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ วิวิตฺตํ อปฺปนิคฺโฆสํ ความว่า ก็ที่นอน ที่นั่งใด เป็นที่สงัด คืออยู่ไกล เงียบ ได้แก่ไม่เกลื่อนกล่น ปราศจากเสียงกึกก้อง. ความสำคัญว่า ป่า ย่อมเกิดขึ้นในเสนาสนะใด ด้วยเสียงแห่งสัตว์มีเนื้อและสุกรเป็นต้น เธอจงเสพที่นอนที่นั่งเห็นปานนั้น.

บาทพระคาถาว่า มตฺตญฺญู โหหิ โภชเน ได้แก่ จงเป็นผู้รู้ประมาณ (ในโภชนะ) อธิบายว่า เธอจงรู้จักประมาณในการรับ และประมาณในการบริโภค. ในประมาณทั้งสองอย่างนั้น ผู้รู้จักประมาณในการรับ เมื่อไทยธรรมมีน้อยทั้งเมื่อทายกต้องการจะให้น้อย ก็จงรับแต่น้อยเท่านั้น เมื่อไทยธรรมมีน้อย แต่ทายกแม้จะต้องการให้มาก ก็ควรรับแต่น้อยเหมือนกัน แต่เมื่อไทยธรรมมีมาก ทายกต้องการจะให้น้อย ก็ควรรับน้อยเหมือนกัน ก็เมื่อไทยธรรมแม้มีมาก ทั้งทายกก็ต้องการจะให้มาก ก็ควรจะรู้กำลังของตนแล้วรับ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายเฉพาะความประมาณเท่านั้น ดังนี้แล.

ภิกษุผู้รู้ประมาณในการบริโภค พิจารณาโดยแยบคายแล้ว พึงฉันโภชนะ ประดุจบุคคลบริโภคเนื้อบุตร และประดุจบุคคลใช้น้ำมันหยอดเพลา ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแนะนำด้วยการคบกัลยาณมิตร อันเป็นอุปการะแก่พรหมจรรย์และให้พระราหุลสมาทานในปาริสุทธิศีล คือการบริโภคปัจจัยโดยตรัสถึงการใช้สอยเสนาสนะเป็นประธาน ด้วยพระคาถานี้อย่างนี้แล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 300

บัดนี้ เพราะเหตุที่การเลี้ยงชีพผิดจะมีได้ ก็เพราะความอยากในจีวรเป็นต้น ฉะนั้น จึงทรงปฏิเสธมิจฉาชีพนั้น เมื่อจะให้พระราหุลเถระสมาทานอยู่ในอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า จีวเร ปิณฺฑปาเต จ ดังนี้.

ในพระคาถาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจเย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ปัจจัยเพื่อคนไข้)

บทว่า เอเตสุ ได้แก่ ในเรื่องที่ให้ภิกษุทั้งหลายเกิดความอยากในปัจจัย ๔ อย่างเหล่านี้มีจีวรเป็นต้น.

สองบทว่า ตณฺหมากาสิ ความว่า (เมื่อเห็นโทษโดยนัยว่า) ปัจจัยทั้ง ๔ อย่างเหล่านั้นเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ทุรนทุรายอยู่เป็นนิจ ก็เพื่อประโยชน์แก่การปกปิดอวัยวะที่ทำความละอายให้กำเริบเป็นต้นนั้นเอง ย่อมเป็นเครื่องค้ำจุนซึ่งร่างกายอันทุรพลยิ่งนัก ประดุจเสาเป็นเครื่องค้ำเรือนเก่าฉะนั้น ดังนี้ ก็อย่าให้ความอยากเกิดขึ้น เมื่อไม่ให้เกิดขึ้นอยู่ ได้แก่ เมื่อไม่ให้บังเกิดขึ้นอยู่ ก็จงอยู่ (ด้วยการไม่ให้ตัณหาบังเกิดขึ้นนั้น)

ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะว่าเธออย่าได้มาสู่โลกอีก.

บาทพระคาถาว่า มา โลกํ ปุนราคมิ ความว่า ก็บุคคลกระทำซึ่งความอยากในปัจจัยเหล่านี้อยู่ ถูกความอยากคร่ามาอยู่ ย่อมมาสู่โลกนี้แม้อีก เธอนั้นอย่าได้ทำความอยากในปัจจัยเหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จักไม่มาสู่โลกนี้อีก.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระราหุลทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในจีวรดังนี้ จึงได้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 301

สมาทานธุดงค์ ๒ ข้อที่เกี่ยวกับ จีวร คือ ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๑ เตจีวริกังคธุดงค์ ๑.

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในบิณฑบาต จึงได้สมาทานธุดงค์ ๕ ข้อที่เกี่ยวกับบิณฑบาตคือ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑.

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเราว่า เธออย่าได้ทำความอยากในเสนาสนะดังนี้ จึงได้สมาทานธุดงค์ ๖ ข้อ ที่เกี่ยวข้องด้วยเสนาสนะคือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ รุกขมูลิกังคธุดงค์ ๑ ยถาสันถติกังคธุดงค์ ๑ โสสานิกังคธุดงค์ ๑ เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑.

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในคิลานปัจจัย จึงเป็นผู้สันโดษแล้วด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัยทั้งปวงคือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ เป็นผู้มีปกติรับคำสอนด้วยความเคารพ เหมือนกุลบุตรที่ว่าง่าย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงให้ท่านพระราหุลสมาทานด้วยอาชีวปาริสุทธิศีลแล้ว บัดนี้ เมื่อจะให้ท่านสมาทานในศีลที่เหลือ และในสมถะและวิปัสสนาทั้งหลายจึงตรัสว่า สํวุโต ปาติโมกฺขสฺมึ ดังนี้เป็นต้น.

ในบรรดาบททั้งหลายเหล่านั้น ในบาทคาถานี้ว่า สํวุโต ปาติโมกฺขสฺมึ พึงเพิ่มบาลีที่เหลือเข้าว่า ภวสฺสุ หรือพึงทราบสัมพันธ์ด้วยบทสุดท้ายว่า ในบาทคาถาที่ ๒ ก็พึงเติมบาลีที่เหลือเข้าเช่นเดียวกัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชักชวนท่านพระราหุล ในปาติโมกขสังวรศีล และอินทริยสังวรศีล ด้วยพระดำรัส ๒ อย่างเหล่านี้ อย่างนี้. ก็ในพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 302

อินฺทฺริเยสุ จ ปณฺจสุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอินทรีย์ ๕ ประการ ด้วยสามารถแห่งเนื้อความที่ปรากฏแล้ว. แต่โดยลักษณะแล้วพึงทราบว่า แม้อินทรีย์ที่ ๖ ก็เป็นอันพระองค์ตรัสไว้แล้วเหมือนกัน. บาทพระคาถาว่า สตี กายคตา ตฺยตฺถุ ความว่า สติอันเป็นไปในกาย [กายคตาสติ] อันต่างด้วยจตุธาตุววัฏฐาน สัมปชัญญะ ๔ อานาปานสติ และอาหาเรปฏิกูลสัญญา จงมี คือว่า จงเกิดมีแก่ท่านผู้ดำรงอยู่แล้ว ในจตุปาริสุทธิศีล ๔ อย่างนี้ คือว่า จงเจริญกายคตาสตินั้น.

บาทพระคาถาว่า นิพฺพิทาพหุโล ภว ความว่า ท่านจงเป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏฏ์ คือว่า จงมีความสำคัญหมายในโลกทั้งปวงว่า ไม่น่ายินดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุปจารภูมิ อันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอด ด้วยคำแม้ประมาณเท่านี้ บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอัปปนาภูมิ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า นิมิตฺตํ ปริวชฺเชหิ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ สุภนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ. ด้วยคำว่า นิมิตฺตํ นั้นนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงทำสุภนิมิตนั้น ให้วิเศษในรูปอีก จึงตรัสว่า สุภํ ราคุปสญฺหิตํ สุภนิมิตที่ก่อให้เกิดความกำหนัด.

บทว่า ปริวชฺเชหิ ได้แก่ จงเว้นด้วยมนสิการ.

บาทพระคาถาว่า อสุภาย จิตฺตํ ภาเวหิ ความว่า จงอบรมจิตโดยประการที่อสุภภาวนาในกายที่มีวิญาณ หรือไม่มีวิญญาณสำเร็จได้.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 303

บาทพระคาถาว่า เอกคฺคํ สุสมาหิตํ ความว่า จิตเช่นนี้ของท่าน จะเป็นจิตที่มีอารมณ์เดียวได้ โดยอุปจารสมาธิ (และ) จะเป็นจิตตั้งมั่นได้ด้วยอัปปนาภูมิแห่งจิตนั้นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงวิปัสสนาจึงตรัสว่า อนมิตฺตํ เป็นต้น

บรรดาบทเหล่านี้ บาทพระคาถาว่า อนิมิตฺตญฺจ ภาเวหิ อธิบายว่า ท่านผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ อันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอดอย่างนี้ จงเจริญวิปัสสนา จริงอยู่ วิปัสสนาย่อมได้โวหาร (การเรียก) ว่า อนิมิตฺตํ เพราะไม่ถือเอาซึ่งนิมิตทั้งหลายมีราคนิมิตเป็นต้น โดยนัยว่า อนิจจานุปัสสนาญาณ ย่อมพันจากนิมิต (การกำหนดหมาย) ว่าเที่ยง จึงเป็นอนิมิตตวิโมกข์ เหมือนอย่างที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวได้ว่า ดูก่อนอาวุโส ข้าพเจ้านั้นแล เข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตอยู่ เพราะการไม่ใส่ใจซึ่งนิมิตทั้งปวง ดูก่อนอาวุโส เมื่อข้าพเจ้าอยู่ อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่นี้ อนิมิตตานุสารีวิญญาณ ย่อมมีได้ ดังนี้. (๑)

บาทพระคาถาว่า มานานุสยมุชฺชห ความว่า เธอจะละ ได้แก่จงสละ คือจงสลัดทิ้งเสีย ซึ่งมานานุสัยโดยลำดับ เป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนเมฆิยะ เมื่อบุคคลได้อนิมิตตสัญญา ด้วยการเจริญ อนิมิตตภาวนานี้ แล้วเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่เที่ยง อนัตตา ก็ย่อมดำรงมั่นได้ ผู้มีความสำคัญว่าไม่ใช่ตน ย่อมบรรลุถึงการถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ ดังนี้. (๒)

สองบาทพระคาถาว่า ตโต มานาภิสมยา อุปสนฺโต จริสฺสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระเทศนาจบลง ด้วยยอดคือพระอรหัตว่า


๑. สัง. สฬายตนะ ๑๙/ ข้อ ๕๒๓ ๒. อัง. นวก. ๒๗/ ข้อ ๒๐๗. (ตอนสุดท้าย)

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 304

ต่อแต่นั้น เพราะการบรรลุ คือเพราะความสิ้นไปเสื่อมไป ได้แก่เพราะการละคือเพราะการสละคืนซึ่งมานะ ด้วยอริยมรรคอย่างนี้ เธอจักเป็นผู้สงบคือดับสนิท ได้แก่เป็นผู้เย็น คือว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากความกระวนกระวายและความเร่าร้อนทั้งปวง จักเทียวไปคือว่าจักอยู่ ด้วยธรรมเครื่องอยู่คือผลสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาสุญญตนิมิต อนิมิตตนิมิต และอปณิหิตนิมิตตราบเท่าที่เข้าสู่นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

ต่อจากนี้ไปคำว่า อิตฺถํ สุทํ ภควา เป็นต้น เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.

บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อิตฺถํ สุทํ ได้แก่ ได้ยินมาอย่างนี้ มีคำอธิบายว่า อย่างนี้นั้นแล. คำที่เหลือในคาถานี้มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.

ก็ท่านพระราหุล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทอยู่อย่างนี้ ดำรงอยู่แล้วในพระอรหัตพร้อมกับเทวดาทั้งหลายเป็นอเนก ในที่สุดแห่งจูฬราหุโลวาทสูตร ในเมื่อธรรมทั้งหลายอันเป็นทั้งแห่งการแก่รอบเพื่อการได้วิมุตติถึงความแก่รอบแล้ว.

จบการพรรณนาราหุลสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโขติกา